ความร่วมมือระหว่างโปแลนด์กับอาเซียนในอุตสาหกรรมเกม

ความร่วมมือระหว่างโปแลนด์กับอาเซียนในอุตสาหกรรมเกม

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 1,944 view

ความร่วมมือระหว่างโปแลนด์กับอาเซียนในอุตสาหกรรมเกม

          ปัจจุบัน การเล่นเกมเป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่เป็นนิยมทั่วโลก รวมทั้งในโปแลนด์และในอาเซียน
ซึ่งทำให้โปแลนด์และอาเซียนเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเกมโลก และในขณะเดียวกันโปแลนด์และอาเซียนก็มีอุตสาหกรรมเกมที่มีจุดเด่นเฉพาะตัวเช่นกัน

          สำหรับโปแลนด์ ตลาดเกมในโปแลนด์มีมูลค่าประมาณ ๕๙๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอันดับที่ ๒๐ ของโลก        มีผู้เล่นเกมกว่า ๑๖ ล้านคนและส่วนใหญ่เป็นการเล่นเกมบนเครื่องคอมพิวเตอร์ (PC)  
ในด้านอุตสาหกรรมผลิตเกม โปแลนด์มีสตูดิโอที่พัฒนาเกมกว่า ๔๐๐ สตูดิโอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Startup
และมีการผลิตเกมต่อปีประมาณ ๔๘๐ เกม ทั้งนี้ เกมที่โปแลนด์ผลิตส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และยุโรปมากที่สุด แต่ก็มียอดการส่งออกไปตลาดเอเชียร้อยละ ๑๐ โดยตลาดที่สำคัญที่สุดในเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ 
อนึ่ง อุตสาหกรรมเกมในโปแลนด์อยู่ในสายตาของเศรษฐกิจโลกหลังจากการประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายของเกม The Witcher ที่พัฒนาโดยบริษัท CD Projekt ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็น Startup และกลายเป็นบริษัท Unicorn ของโปแลนด์

          สำหรับอาเซียน มีผู้เล่นเกมในภูมิภาครวมกว่า ๓๐๐ ล้านคน (กว่าร้อยละ ๕๐ ของประชากรอาเซียน)
และส่วนใหญ่นิยมเล่นเกมบนมือถือซึ่งต่างจากผู้เล่นในยุโรปที่มีความสนใจเกมทาง PC มากกว่า อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการผลิตเกมในอาเซียนยังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยมีประเทศที่โดดเด่น อาทิ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และไทย

          เมื่อสำรวจศักยภาพอุตสาหกรรมเกมไทยพบว่ามีมูลค่า ๒๙,๐๒๙ ล้านบาทเมื่อปี ๒๕๖๓ โดยคิดเป็นอัตราการเจริญเติบโตจากปีที่ผ่านมาร้อยละ ๑๔.๑ ปัจจุบัน ไทยมีผู้เล่นเกมกว่า ๒๘ ล้านคนโดยร้อยละ ๖๗
เป็นการเล่นเกมทางมือถือร้อยละ ๒๔ ทาง PC และร้อยละ ๙ ทาง console นอกจากนี้ ผู้เล่นเกมไทย
มีการใช้จ่ายภายในเกมมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิต ไทยมีสตูดิโอที่พัฒนาเกมประมาณ ๕๐ แห่ง ซึ่งมีการพัฒนาเกมครบทั้ง ๓ แพลตฟอร์ม โดยตัวอย่างเกมที่ได้รับความนิยม คือ Kingdoms reborn และ Fallen Knight (เป็นเกมแรกของไทยบน apple arcade)

สำนักงานส่งเสริมการลงทุนของโปแลนด์เห็นว่า โปแลนด์กับอาเซียนสามารถมีความร่วมมือ
ในอุตสาหกรรมเกมได้ในด้าน ๑) การร่วมพัฒนาและผลิต โดยเฉพาะระหว่างบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก

๒) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่อง game designing ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตเกมในอาเซียนยังขาดทักษะ
และประสบการณ์ แต่ฝ่ายโปแลนด์มีความเชี่ยวชาญ ๓) cross-promotion เพื่อส่งเสริมให้เกมของโปแลนด์และอาเซียนเป็นที่รู้จัก ๔) ความร่วมมือในเรื่องการทดลองเกม และ ๕) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่อง
การอัพเดทและพัฒนาเกมในลักษณะ LiveOps ซึ่งผู้พัฒนาเกมจากโปแลนด์สามารถเรียนรู้จากผู้พัฒนาเกม
ในอาเซียน

*****************************************

กรมยุโรป

กองยุโรปกลาง

พฤษภาคม ๒๕๖๔