วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ก.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ต.ค. 2567

| 56 view

ข้อมูลองค์การ OSCE และความร่วมมือกับไทย

1.ภูมิหลัง

1.1. องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe: OSCE) พัฒนามาจากกรอบการประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Conference on Security and Co-operation in Europe: CSCE) ก่อตั้งขึ้นในปี 2518 (ค.ศ. 1975) ในยุคสงครามเย็น และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นสิทธิเสรีภาพ ลดความตึงเครียดอันเป็นผลมาจากความแตกต่างด้านอุดมการณ์ในยุโรปบนพื้นฐานของ Helsinki Final Act และ Paris Charter

1.2. OSCE เป็นเวทีปรึกษาหารือผ่านกลไกการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) เพื่อหาข้อยุติและระงับข้อพิพาทและข้อขัดแย้งในยุโรป ส่งเสริมความมั่นคงโดยรวมของภูมิภาคเพื่อมิให้เกิดวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรง และหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทางทหารเพื่อรักษาสันติภาพในประเทศสมาชิก OSCE ทั้งนี้ OSCE ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) และสหภาพยุโรป (EU) ในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบันภารกิจของ OSCE แบ่งออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ (1) มิติการเมืองและการทหาร (2) มิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และ (3) มิติมนุษย์ ทั้งนี้ การออกแถลงการณ์และข้อตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของ OSCE ใช้หลักการฉันทามติ

1.3. OSCE มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ปัจจุบันประเทศสมาชิกยังไม่สามารถบรรลุฉันทามติในการเลือกเลขาธิการ OSCE คนใหม่ได้ (เลขาธิการคนก่อนหน้าคือ Ms. Helga Maria Schmid ชาวเยอรมัน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2563 (ค.ศ. 2020) / วาระ 3 ปี และได้รับการต่ออายุ โดยหมดวาระไปในเดือนกันยายน 2567) ประเทศที่ดำรงตำแหน่งประธาน OSCE (Chairperson-in-Office: CiO) ปีปัจจุบัน (ปี 2566/ค.ศ. 2023) คือ มอลตา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นาย Ian Borg) ทำหน้าที่เป็นประธาน นอกจากนี้ OSCE ยังใช้ระบบ Troika ซึ่งประกอบด้วยประเทศ CiO ปีปัจจุบัน ปีก่อนหน้า และปีถัดไปในการปรึกษาหารือเพื่อให้มีความต่อเนื่องทางนโยบายระหว่างวาระการเป็นประธาน โดยขณะนี้ (1) มอลตาเป็น CiO ปีปัจจุบัน (2) นอร์ทมาซิโดเนียเป็น CiO ปีก่อนหน้า (ปี 2566/ค.ศ. 2023) ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเอเชีย และ (3) ฟินแลนด์ CiO ในปีถัดไป (ปี 2568/ค.ศ. 2025) ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเมดิเตอร์เรเนียน  

1.4. มอลตา ในฐานะประธาน OSCE ปีปัจจุบัน ได้ระบุสามประเด็นหลักที่ให้ความสำคัญสูงสุด ดังนี้ (1) ให้ความสำคัญหลักต่อการก่อสงครามที่ผิดกฎหมายของรัสเซียต่อยูเครนโดยจะคำนึงถึงประเด็นนี้ในทุกมิติ การดำเนินงานของ OSCE โดยมอลตาในฐานะ CiO เรียกร้องให้ รซ. ยุติสงครามและถอนกำลังออกจากยูเครน
(2) ส่งเสริมบูรณาการในประเด็นมิติทางเพศ (Gender Mainstreaming) ผ่านการส่งเสริมวาระ Women, Peace, and Security (ซึ่งมอลตาให้ความสำคัญในฐานะสมาชิก UNSC) และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน (3) การลดความเลื่อมล้ำทางดิจิตัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการส่งเสริมด้านการศึกษาเพื่อเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงและส่งเสริมสันติภาพอย่างยั่งยืน และ (4) ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก โดยเฉพาะในบริบทของสงครามรัสเซีย - ยูเครน และการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยดึงให้บุรุษและเด็กผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมในความพยายาม

1.5 ไทยเข้าเป็นสมาชิกประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเอเชีย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 จากการผลักดันของ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ (รมว.กต. ในขณะนั้น) เนื่องจาก (1) OSCE เป็นองค์การระดับภูมิภาคที่มีบทบาทโดดเด่นในยุคหลังสงครามเย็นโดยเฉพาะในเรื่อง PD จึงเป็นองค์การที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญและความสนใจ (2) ไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชีย และประสงค์ที่จะพัฒนากลไกด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนา ASEAN Regional Forum (ARF) ให้เป็นกลไก PD และให้สามารถดำเนินการได้เหมือนกับ OSCE ในอนาคตใน 3 ด้าน ได้แก่ การป้องกันความขัดแย้ง การจัดการวิกฤต และการฟื้นฟูหลังจากเกิดความขัดแย้ง และ (3) ไทยต้องการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ กลุ่มประเทศ และองค์การต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ระหว่างกันได้ อีกทั้งไทยสามารถเป็นตัวเชื่อมระหว่าง OSCE กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของ OSCE เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศและภูมิภาคด้วย


อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา ไทยได้มีความพยายามในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง ARF กับ OSCE มาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เนื่องจากการดำเนินการในกรอบ ARF อาศัยหลักฉันทามติ เช่นเดียวกับ OSCE ตลอดจนพลวัตภายใต้ OSCE และ ARF ที่มีความเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ผ่านมา ในครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม OSCE Asian Conference ในปี 2559 และปี 2564 ไทยได้เชิญเลขาธิการอาเซียนขณะนั้นเข้าร่วมเป็นผู้บรรยาย ตลอดจนพยายามนำประเด็นวาระต่าง ๆ ของอาเซียนมาผลักดันในกรอบ OSCE อย่างต่อเนื่อง

2. ประเทศสมาชิก

2.1. OSCE เป็นองค์การระหว่างประเทศด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประเทศเข้าร่วมทั้งหมด ๕๗ ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศในเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ที่แยกตัวจากสหภาพโซเวียตทั้งหมด และมี ๓ ประเทศที่อยู่นอกยุโรป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และมองโกเลีย (เข้าร่วมปี 2555 (ค.ศ. 2012))

2.2. นอกจากนี้ OSCE มีความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคภายใต้ชื่อประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเมดิเตอร์เรเนียน 6 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย อียิปต์ อิสราเอล จอร์แดน โมร็อกโก และตูนิเซีย และหุ้นส่วนฯ ฝ่ายเอเชีย 5 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย ทั้งนี้ ประเทศหุ้นส่วนฯ ไม่สามารถร่วมเจรจาหรือรับรองร่างข้อมติและข้อตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของ OSCE ได้ แต่สามารถเลือกรับแนวปฏิบัติของ OSCE ไปพิจารณาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมบนพื้นฐานความสมัครใจ

2.3. อนึ่ง ไทยเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนฯ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2543 (ค.ศ. 2000) โดยมุ่งผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นช่องทางส่งเสริมหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นทางเลือกหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ในชั้นนี้ ไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเปลี่ยนจุดเน้นในความร่วมมือกับ OSCE โดยจะต่อยอดจากข้อริเริ่มที่ได้เสนอไว้ในการประชุม OSCE Ministerial Council ครั้งที่ 29 และการจัดการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 (ค.ศ. 2023) นี้ จะมุ่งเน้นความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในพื้นที่ขัดแย้งที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ กับความแตกต่างทางเพศสภาพ

 

3. โครงสร้าง OSCE

3.1. การประชุม OSCE Summit เป็นการประชุมระดับผู้นำ โดยประธาน OSCE พิจารณาจัดตามความจำเป็นครั้งล่าสุดคือ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 1-2 ธ.ค. 2553 (ค.ศ. 2010) ณ กรุงอัสตานา คาซัคสถาน มีการรับรองเอกสารแถลงการณ์อัสตานาเพื่อนำไปสู่ประชาคมแห่งความมั่นคง (Astana Commemorative Declaration: Towards a Security Community) ซึ่งย้ำถึงหลักการและพันธกรณีของ OSCE รวมทั้งจุดมุ่งหมายของประเทศสมาชิกที่จะสร้างความมั่นคงที่ครอบคลุมทุกมิติ เท่าเทียม และไม่แบ่งแยกใน Euro-Atlantic และ Eurasia เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมแห่งความมั่นคงอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ไม่มีการประชุมระดับผู้นำมาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากประเทศสมาชิกเห็นว่า ยังไม่มีประเด็นใดที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการตัดสินใจในระดับสูงสุด

 3.2. การประชุม OSCE Ministerial Council เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี มีกำหนดจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง (ยกเว้นในปีที่มีการจัด OSCE Summit) ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. 2566 (ค.ศ. 2023) ถึง 1 ธ.ค. 2566 (ค.ศ. 2023) ณ เมือง Skopje โดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย โดยได้แสดงทัศนะต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในโลกปัจจุบันที่กระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการฟื้นฟูหลักพหุภาคีนิยมให้กลับมาเข้มแข็ง อาทิ การปฏิรูปสหประชาชาติ การส่งเสริมกลไกการหารือที่สร้างสรรค์และครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้ง และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภูมิภาค โดยไทยพร้อมเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างอาเซียนและ OSCE เพื่อบรรลุเป้าหมายความมั่นคงองค์รวม (comprehensive security)

3.3. การประชุม OSCE Permanent Council (PC) เป็นการประชุมระดับเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิก OSCE ณ กรุงเวียนนา มีกำหนดจัดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ณ สำนักงานใหญ่ OSCE โดยที่ประชุมมีหน้าที่พิจารณาและรับรองข้อตัดสินใจต่าง ๆ ของ OSCE ภายใต้อาณัติของการประชุม PC ภายใต้การประชุม PC ประกอบด้วย 3 คณะกรรมการ ได้แก่ (1) คณะกรรมการด้านความมั่นคง (Security Committee) (2) คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม (Economic and Environmental Committee) และ (3) คณะกรรมการด้านมิติมนุษย์ (Human Dimension Committee) โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการของประธาน OSCE

3.4 การประชุม OSCE Parliamentary Assembly (OSCE PA) เป็นการประชุมระดับสมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสมาชิกรัฐสภาของประเทศสมาชิก โดยมีผู้แทนสมาชิกรัฐสภาของประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือของ OSCE เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้มีโอกาสหารือและปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้แทนฝ่ายรัฐบาลของ OSCE ในประเด็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน นโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการส่งเสริมช่องทางการทูตเพื่อป้องกันความขัดแย้ง
ในภูมิภาค โดยมีกำหนดจัดปีละ 3 ครั้ง ได้แก่ (1) การประชุมประจำปี (Annual Session) ในช่วงเดือน ก.ค. เพื่อรับรองข้อมติและมอบแนวทางนโยบายแก่ OSCE และสมาชิกรัฐสภาของประเทศสมาชิก (2) การประชุม Winter Meeting ในช่วงเดือน ก.พ. ที่กรุงเวียนนา เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ของภูมิภาคระหว่างสมาชิกรัฐสภาจากประเทศสมาชิก และ (3) การประชุม Autumn Meeting ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะจัดโดยประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง

โครงสร้างภายใน OSCE PA ประกอบไปด้วย (1) คณะกรรมาธิการสามัญ ประกอบด้วยหัวหน้าคณะผู้แทนของประเทศสมาชิก ซึ่งจะทำหน้าที่อนุมัติงบประมาณ เลือกตั้งเลขาธิการ OSCE และให้คำแนะนำในการทำงานแก่ OSCE (2) คณะกรรมาธิการทั่วไป แบ่งตามประเด็นความร่วมมือตาม Helsinki Final Act ได้แก่
(ก.) คณะกรรมาธิการด้านกิจการการเมืองและความมั่นคง (Political Affairs and Security) (ข.) คณะกรรมาธิการด้านกิจการเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Economic Affairs, Science, Technology and Environment) และ (ค.) คณะกรรมาธิการด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และประเด็นด้านมนุษยธรรม (Democracy, Human Rights and Humanitarian Questions)

4. องค์ความรู้ของ OSCE

4.1. โดยที่ OSCE เป็นองค์การระหว่างประเทศด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นเวทีปรึกษาหารือผ่านกลไกการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) เพื่อหาข้อยุติและระงับข้อพิพาทและข้อขัดแย้งในยุโรป ส่งเสริมความมั่นคงโดยรวมของภูมิภาคเพื่อมิให้เกิดวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงและหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทางทหาร OSCE จึงเป็นแหล่งองค์ความรู้ที่มีมาตรฐานสูงและเป็นมืออาชีพในเรื่องแนวปฏิบัติด้านความมั่นคงที่ครอบคลุม (comprehensive approach to security) ซึ่งรวมมิติด้านการเมืองและการทหาร ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และด้านมนุษย์ เพื่อสามารถรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่หลากหลาย

4.2. OSCE มีกำหนดจัดการประชุม การฝึกอบรม และสัมมนาตลอดปี เพื่อส่งเสริมและแบ่งปันองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของ OSCE ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การควบคุมการแพร่ขยายของอาวุธ การใช้มาตรการสร้าง
ความไว้เนื้อเชื่อใจและความมั่นคง (Confidence- and Security-Building Measures: CSBMs) การปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การเสริมสร้างและการพัฒนาสถาบันประชาธิปไตย มาตรการตำรวจ การต่อต้านการก่อการร้าย และกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

 4.3. กิจกรรมดังกล่าวจัดโดยหน่วยงานและสถาบันที่อยู่ภายใต้ OSCE ที่เกี่ยวข้องของประเด็นนั้น ๆ เช่น สำนักงานสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน สำนักงานผู้แทนพิเศษด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ เป็นต้น โดย OSCE ได้เน้นประเด็นด้านความมั่นคงที่มีความเกี่ยวโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต เช่น ความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมถึงเปิดกว้างต่อประเด็นการมีส่วนร่วมของ non-traditional actors ในกระบวนการสันติภาพ เช่น NGOs สตรี และเยาวชน จึงสามารถสร้างความสนใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ OSCE เปิดรับผู้เข้าร่วมจากทั้งประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนฯ โดยไม่แบ่งแยกระหว่างประเทศสมาชิก Euro-Atlantic และ Eurasia รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้แก้ผู้เข้าร่วมด้วย

5. เครื่องมือที่เป็นรูปธรรมของ OSCE

5.1. Parliamentary Assembly ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภา 320 คน จากรัฐสภาของประเทศสมาชิกทุกประเทศ เพื่อหารือประเด็นสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนโยบายการเมืองและการทหาร   

5.2. High Commissioner on National Minorities (HCNM) ข้าหลวงใหญ่ด้านชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ ซึ่งเป็น early warning system มีหน้าที่สำคัญในการแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านชาติพันธุ์ให้เร็วที่สุดก่อนที่จะพัฒนากลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงลดความขัดแย้งดังกล่าวที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เน้นการส่งเสริมสิทธิของชนกลุ่มน้อย อาทิ การเข้าถึงการศึกษาที่รองรับภาษาและวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย และสิทธิอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน ผ่านการส่งผู้เชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษา การพัฒนาศักยภาพ การสอนภาษา และการให้ความช่วยเหลือด้านสถานะทางกฎหมาย

5.3. Office for Democratic Institutions and Human Rights (ODIHR) สำนักงานสถาบันประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน เน้นการดำเนินการใน ๕ ประเด็น ได้แก่ การเลือกตั้ง การส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐาน การอดทนอดกลั้นและการไม่เลือกประติบัติ และประเด็นชาว Roma และ Sinti มีการจัดการประชุม Human Dimension Implementation Meeting ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรป เพื่อทบทวนการดำเนินงานตามพันธกรณีที่ประเทศสมาชิก OSCE ได้ให้คำมั่นไว้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาครัฐ และภาคประชาสังคมร่วมรายงานผลการดำเนินการและแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา

5.4. Representative on Freedom of the Media (R/OFM) เป็นการทำงานร่วมกันด้านสื่อระหว่างรัฐ (intergovernmental media watchdog) ทำหน้าที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการนำเสนอของสื่อทั้ง online และ offline เพื่อให้สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการละเมิดสื่อ

6. บทบาทของไทยในกรอบ OSCE

6.1. ไทยเป็นประเทศหุ้นส่วนฯ ที่แข็งขัน ที่ผ่านมาไทยร่วมกับ OSCE เป็นเจ้าภาพการประชุมหลายครั้ง โดยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2021 OSCE Asian Conference ในวันที่ 20-21 กันยายน 2564 ที่กรุงเทพฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในหัวข้อ “Common Responses to Emerging Challenges in Advancing Comprehensive Security” เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อการดำเนินภารกิจด้านความมั่นคงองค์รวมใน 3 มิติตามความหมายของ OSCE พร้อมนำเสนอแนวทางร่วมในการรับมือข้อท้าทายด้านความมั่นคงใหม่ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม    ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงองค์รวมในช่วงหลังการแพร่ระบาดฯ

6.2. ล่าสุด (1) ไทยได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Asian Partners for Co-operation Group (APCG) เป็นประจำทุกปี โดยล่าสุด ไทยกับนอร์ทมาซิโดเนียในฐานะประธานกลุ่มประเทศหุ้นส่วนฯ ฝ่ายเอเชีย และสำนักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ (Office of the Special Representative and Co-ordinator for Combating Trafficking in Human Beings ได้ร่วมกันจัดการประชุมในหัวข้อ Enhancing Human Security: Protecting Youth and Children from Online Exploitation and Trafficking ในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 (ค.ศ. 2024) ณ กรุงเวียนนา ในโอกาสนี้ไทยได้ส่งผู้อภิปราย คือ นายวันชัย รุจนวงศ์ (ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก) โดยแบ่งปันแนวปฏิบัติและการดำเนินงานที่ดีของไทยและอาเซียนในการต่อต้านและป้องการการค้ามนุษย์และแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กบนแพลต์ฟอร์มออนไลน์ (2) ไทยเข้าร่วมการประชุม 2023 OSCE Asian Conference ในหัวข้อ “Europe and Asia: Addressing common challenges in a changing global security environment through multilateral co-operation เมื่อวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงเวียนนา โดยไทยได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างเอเชียกับยุโรป โดยเฉพาะอาเซียนกับ OSCE ในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม ฯลฯ รวมถึงการส่งเสริมตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) ความร่วมมือทุกภาคส่วน (PPP) ในไทย และการดำเนินงานของอาเซียนในการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อจุดประสงค์ทางอาชญากรรม อีกทั้งได้เน้นย้ำถึงการที่อาเซียนและ OSCE ควรแสวงหาโอกาสในการเพิ่มปฏิสัมพันธ์และดำเนินกิจกรรมร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ ไทยได้สนับสนุนผู้อภิปราย 1 ราย คือ นายจุฑาเกียรติ มันตภาณีวัฒน์ นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) กลุ่มงานความมั่นคงระหว่างประเทศ เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านไซเบอร์ของไทย และเสนอให้ OSCE พิจารณามีความร่วมมือทางไซเบอร์ผ่านศูนย์ ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre (AJCCBC) ที่ตั้งอยู่ที่ไทย

6.3. ไทยมอบหมายผู้แทนเข้าร่วมการประชุม OSCE Ministerial Council อย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมฯ ครั้งที่ 30 (ครั้งล่าสุด) ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. 2566 (ค.ศ. 2023) ถึง 1 ธ.ค. (ค.ศ. 2023) ณ เมือง Skopje โดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย โดย ได้แสดงทัศนะต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในโลกปัจจุบันที่กระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการฟื้นฟูหลักพหุภาคีนิยมให้กลับมาเข้มแข็ง อาทิ การปฏิรูปสหประชาชาติ การส่งเสริมกลไกการหารือที่สร้างสรรค์และครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้ง และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภูมิภาค โดยไทยพร้อมเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างอาเซียนและ OSCE เพื่อบรรลุเป้าหมายความมั่นคงองค์รวม (comprehensive security)

6.4. ไทยร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Asian Partners for Co-operation Group (APCG) เป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นการประชุมระดับเอกอัครราชทูตที่จัดขึ้นเป็นประจำ 5 ครั้งต่อปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกกับประเทศหุ้นส่วนฯ OSCE ในประเด็นด้านความมั่นคงที่ทุกฝ่ายสนใจร่วมกัน โดยมีประเทศหุ้นส่วนฯ ฝ่ายเอเชียผลัดกันเป็นเจ้าภาพ โดยไทยได้เคยส่งผู้แทนเข้าร่วมในการประชุม APCG ซึ่งไทยเป็น Lead Country ดังนี้

(1) ปี 2560 (ค.ศ. 2017) ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์อาวุโส สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุม OSCE Asian Contact Group หัวข้อ “Irregular Migration and Challenges to Regional Security and Development” ณ กรุงเวียนนา

(2) ปี 2561 (ค.ศ. 2018) ดร. ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุม OSCE Asian Contact Group หัวข้อ “Financial Technology Innovations: Challenges to Cyber Security and Opportunities for Securing SDGs” ณ กรุงเวียนนา

(3) วันที่ 17 พ.ค. 2562 (ค.ศ. 2019) ดร. ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ผู้แทนไทยในสถาบันอาเซียนว่าด้วยสันติภาพและความสมานฉันท์ ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุม OSCE Asian Contact Group หัวข้อ “Advancing Partnership for Sustainable Security” ณ กรุงเวียนนา

(4) วันที่ 5 มิ.ย. 2563 (ค.ศ. 2020) พ.อ. ณัฐพล แสงจันทร์ รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ และ พ.อ. ณรงค์ฤทธิ ปานิกบุตร ผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ ๗ ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุม APCG หัวข้อ “Peacekeepers as Early Peacebuilders”

(5) วันที่ 2 ก.ค. 2564 (ค.ศ. 2021) พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ และผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (ศบค.) และ สพ.ญ. เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุม APCG (ออนไลน์) หัวข้อ “Empowering Women Leadership during Global Health Emergencies” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเน้นย้ำความสำคัญและบทบาทนำของสตรีในการรับมือกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการเสริมพลังสตรีในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงด้านสุขภาพเชิงรุก

(6) เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 (ค.ศ. 2022) นางสาวพรรณภา ณ น่าน ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุม APCG (ออนไลน์) หัวข้อ “Mainstreaming Gender Perspectives and Empowering Women in Disaster Risk Reduction and Emergency Responses” โดยได้แบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยในการประสานความร่วมมือระดับประเทศและภูมิภาค ในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในเหตุภัยพิบัติที่คำนึงถึงความต้องการพื้นฐานที่เฉพาะเจาะจงของสตรี เด็กหญิง และกลุ่มเปราะบาง

(7) เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 (ค.ศ. 2023) นพ. ฑิณกร โนรี รอง ผอ. กองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุม APCG ในหัวข้อ “Ensuring Human Security through Promoting Humanitarian Responses in Cross-border Conflicts and Emergencies” โดยได้แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีของไทยต่อแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการรับการบริการด้านสาธารณสุขเช่นเดียวกับคนไทย

(8) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 (ค.ศ. 2024) นายวันชัย รุจนวงศ์ (ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก) ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุม APCG ในหัวข้อ Enhancing Human Security: Protecting Youth and Children from Online Exploitation and Trafficking โดยได้แบ่งปันแนวปฏิบัติและการดำเนินงานที่ดีของไทยและอาเซียนในการต่อต้านและป้องการการค้ามนุษย์และแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กบนแพลต์ฟอร์มออนไลน์

6.5. นอกจากนี้ ไทยยังส่งวิทยากร/ผู้แทนเข้าร่วมการประชุมในกรอบอื่น ๆ ของ OSCE อย่างสม่ำเสมอ ได้แก่

(1) ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุม 2017 OSCE Asian Conference ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีระหว่าง OSCE กับประเทศหุ้นส่วนฯ ฝ่ายเอเชีย ภายใต้หัวข้อ “Regional Contribution to the Sustainable Development Goals – the Potential Role of the OSCE and Asian Partners” ณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อปี 2560 (ค.ศ. 2017)        
(2) นางพัชรี รักษาวงศ์ คินส์เปอร์เกอร์ ผู้ประกาศข่าว NHK News ผู้จัดรายการวิทยุ และอาจารย์พิเศษ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าร่วมการประชุม 2019 OSCE Asian Conference และกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “Risks to the safety of journalists in the digital era” ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 2-3 ก.ย. 2562 (ค.ศ. 2019)

(3) นางสาวกมณศ์นัฐณ์ ปุณณาภิรมย์ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ ส่วนต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย กองข่าวกรองทางการเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าร่วมการประชุม OSCE Security Committee และกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “The use of effective tools to disrupt the financing of terrorism” ณ กรุงเวียนนา ในวันที่ 27 ก.ย. 2562 (ค.ศ.2019)

(4) น.ส. พวงทอง ทิพรัตนอุดมสุข และนายฤทัต วรรณรัตน์ เป็นตัวแทนเยาวชนไทย เข้าร่วมการประชุม OSCE-wide Youth Forum Perspectives 2030 – Engaging Youth for a Safer Future ระหว่างวันที่ 28-29 ต.ค. 2562 (ค.ศ. 2019) ณ กรุงบราติสลาวา

(5) นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุม 2020 OSCE Asian Conference เมื่อวันที่ 12-13 ต.ค. 2563 (ค.ศ. 2020) เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของไทยในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเน้นย้ำถึงความสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านสุขภาพกับเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน

(6) ร.ต.อ.หญิง อุภิญญา บุญเรืองนาม ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุม OSCE Roundtable on Leveraging Innovation and Technology to Address 21st Century Challenges and Crises across the OSCE and Asian Partners for Co-operation และบรรยายในหัวข้อ “Strengthening and Advancing International Co-operation in Border Security and Management during Crises” เมื่อวันที่ 9-10 พ.ย. 2563 (ค.ศ. 2020) ผ่านระบบการประชุมทางไกล

(7) พันตำรวจโท พิชยศักดิ์ ชินานุรักษ์ สารวัตรฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 3 กองการต่างประเทศ เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่บริหารจัดการชายแดน ครั้งที่ 33 (33rd OSCE Border Management Staff College (BMSC) Staff Course) ณ กรุงเวียนนา ในช่วงวันที่ 14 ส.ค.-11ก.ย. 2565 (ค.ศ. 2022

(8) นางสาวมิรันตี ปุงบางกระดี่ นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เข้าร่วมโครงการ Partnership Fund Project: Study-Visit Programme for OSCE Asian and Mediterranean Partners for Cooperation ณ กรุงเวียนนา และกรุงวอร์ซอ ในช่วงวันที่ 19-30 ก.ย. 2565(ค.ศ. 2022)

(9) นางสาวณัฐวรา สนิทวงศ์ นักการทูตปฏิบัติการ (กองยุโรปตะวันตก) กระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมโครงการ Partnership Fund Project: Study-Visit Programme for OSCE Asian and Mediterranean Partners for Cooperation ณ กรุงเวียนนา และกรุงปราก ในช่วงวันที่ 10-22 ก.ย. 2566 (ค.ศ. 2023)

(10) นายพีรภาส รัตนภาสกร นักการทูตปฏิบัติการ (กองสหภาพยุโรป) กระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมโครงการ Partnership Fund Project: Study-Visit Programme for OSCE Asian and Mediterranean Partners for Cooperation ณ กรุงเวียนนา และกรุงปราก ในช่วงวันที่ 9-20 ก.ย. 2567 (ค.ศ. 2024)

6.6. นอกจากนี้ ในเดือน ม.ค. 2565 (ค.ศ. 2022) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลด้านการส่งเสริมแนวคิดการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่ครอบคลุมและคำนึงถึงมิติทางเพศของไทย ในงานวิจัยของ OSCE หัวข้อ “Gender-Sensitive and Disability-Inclusive DRR Policies and Management” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อศึกษากรอบกฎหมายและนโยบายด้าน DRR จากกรณีศึกษาระดับภูมิภาคและระดับประเทศของสมาชิกและหุ้นส่วนฯ OSCE ในการนี้ ไทยได้นำเสนอบทบาทในฐานะประธาน ASEAN Committee on Disaster Management (ACDM) และประธานร่วมของ Technical Working Group for Protection, Gender and Inclusion (TWG-PGI) ในการส่งเสริมบทบาทของสตรีในนโยบายด้าน DRR ในกรอบอาเซียน รวมถึงการดำเนินการภายในที่โดดเด่นตามกรอบการดำเนินงาน Sendai Framework เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติระดับชุมชน การมีส่วนร่วมของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.)

6.7. นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2560 (ค.ศ. 2017) สอท. ณ กรุงเวียนนา ได้แจ้งเวียนหลักสูตรฝึกอบรมภายใต้ Annual International Training Courses (AITC) ให้กับประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือของ OSCE เพื่อประโยชน์ในการยกระดับภาพลักษณ์และบทบาทของประเทศไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วนฯ ในองค์การ OSCE และเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจอันเป็นวัตถุประสงค์หลักของ OSCE ทั้งนี้ จนถึงปี 2563 (ค.ศ. 2020) ไทยได้ให้ทุนฝึกอบรมแก่ประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนฯ แล้วกว่า 180 ทุน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงโควิด 19 โครงการได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการอบรมผ่านระบบออนไลน์ และยกเลิกการให้ priority แก่ผู้สมัครทุกกลุ่มประเทศ ในขณะนี้ กระทรวงฯ จึงอยู่ระหว่างพิจารณาหลักสูตร AITC ที่เหมาะสมและเป็นจุดเน้นของไทยเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้แทนของประเทศสมาชิก OSCE พิจารณาเข้าร่วมต่อไป

********************

กรมยุโรป
กองสหภาพยุโรป
24 กันยายน 2567