วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มิ.ย. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
พัฒนาการในอุตสาหกรรมและการประกอบการเดินเรือของนอร์เวย์
๑. ศักยภาพในอุตสาหกรรมการเดินเรือของนอร์เวย์
อุตสาหกรรมการเดินเรือของนอร์เวย์ใหญ่เป็นอันดับ ๔ ของโลก รองจากจีน ญี่ปุ่น และกรีซ โดยนอร์เวย์มุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการเดินเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ปล่อยมลพิษที่ส่งผลเสียต่อสภาพภูมิอากาศภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ รวมทั้งอุตสาหกรรมทางทะเลอื่น ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเดินเรือจะยังคงมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของนอร์เวย์ต่อไปในอนาคต
๒. สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศในเส้นทางการเดินเรือ
สำหรับกรณีเกิดเหตุการณ์เรือบรรทุกสินค้า Ever Given ของไต้หวันเกยตื้นปิดขวางเส้นทางเดินเรือ
ของคลองสุเอซตั้งแต่วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ นั้น ในส่วนของผลกระทบต่อนอร์เวย์มีรายงานว่า มีเรือสินค้า
ของนอร์เวย์จำนวนทั้งสิ้น ๑๖ ลำได้รับผลกระทบโดยตรง
๓. กลไกของนอร์เวย์ในด้านอุตสาหกรรมและการประกอบการเดินเรือ
นอร์เวย์มีการประชุมประจำปีของสมาคมผู้ประกอบการเดินเรือ ซึ่งเป็นวาระสำคัญในการประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเดินเรือของนอร์เวย์จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และประเด็นสภาพแวดล้อมในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อรองรับและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดังกล่าว
สรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้
๓.๑ รายงาน Annual Maritime Outlook and Green shipping โดยนาย Harald Solberg,
ประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้ประกอบการเดินเรือของนอร์เวย์
(๑) การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเดินเรือของนอร์เวย์ โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งเรือโดยสาร ส่งผลให้รายได้รวมของผู้ประกอบการเดินเรือ
ในนอร์เวย์ในปี ๒๕๖๓ ลดลงจากปี ๒๕๖๒ ร้อยละ ๘ และในเดือนมกราคม ๒๕๖๔ จำนวนเรือที่จอดเทียบท่าไม่ได้ใช้งานมีจำนวนมากที่สุดนับจากปี ๒๕๕๖ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเดินเรือคาดว่า ในปี ๒๕๖๔ อัตรา
การเติบโตของอุตสาหกรรมเดินเรือจะอยู่ในระดับต่ำ โดยหวังว่าธุรกิจการขนส่งเรือผู้โดยสารจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังของปี ๒๕๖๔ ส่วนธุรกิจขนส่งสินค้าคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามปกติ
(๒) ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเดินเรือของนอร์เวย์มีการจ้างงาน ๘๒,๕๐๐ คน ซึ่งร้อยละ ๙๐
ของลูกจ้างในอุตสาหกรรมนี้อาศัยอยู่นอกกรุงออสโล ตามชุมชนเล็ก ๆ บริเวณชายฝั่ง ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมเดินเรือในนอร์เวย์มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยธุรกิจที่มีศักยภาพ ได้แก่
เครื่องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง การดักและเก็บก๊าซที่เป็นมลพิษ และการขุดเจาะแร่ธาตุใต้ทะเล
(๓) สมาคมผู้ประกอบการเดินเรือนอร์เวย์ไม่ประสงค์ที่จะใช้เส้นทางเดินเรือ Artic route
เนื่องจากการเดินทางในเส้นทางดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
๓.๒ รายงาน New Green Maritime Solutions โดยนาง Ingvild Saether ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท Altera Infrastructure
บริษัท Altera Infrastructure มีพนักงาน ๒,๓๐๐ คน มีสำนักงาน ๑๒ แห่ง โดยมีเรือทั้งหมด ๕๐ ลำ
และปฏิบัติงานใน ๑๑ ประเทศทั่วโลก บริษัทฯ มีโครงการที่เป็น New Green Maritime Solutions ดังนี้
(๑) โครงการเรือลดมลพิษ (Altera E-Shuttle)
- บริษัทได้ลงทุน ๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาเรือจำนวน ๔ ลำซึ่งสามารถลดการปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่ารถยนต์เทสลาจำนวน ๖๐,๐๐๐ คัน และมีคุณสมบัติใช้ก๊าซ LNG
เป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยบริษัทได้ริเริ่มโครงการเอง ไม่ได้มีการบังคับใด ๆ จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี โครงการผลิตเรือ Altera E-Shuttle ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลนอร์เวย์
เพียง ๑๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่โครงการดังกล่าวสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ร้อยละ ๕๐ ตามเป้าหมาย ปี ค.ศ. ๒๐๕๐ ขององค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ
(๒) โครงการ Carbon Capture and Storage (CCS)
- โครงการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาโดยอุตสาหกรรมที่อยู่บนฝั่ง
ขนส่ง และนำมาจัดเก็บไว้ใต้ทะเล อย่างไรก็ดี เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินโครงการ CCS บริษัทต้องการขยายผู้ใช้บริการให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจากทั่วโลก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ และผู้กำหนดนโยบายจากรัฐบาลนอร์เวย์และในระดับนานาชาติ
********************************************
กรมยุโรป
กองยุโรปกลาง
พฤษภาคม ๒๕๖๔
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์)