สหภาพยุโรปเผยแพร่รายงานอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน

สหภาพยุโรปเผยแพร่รายงานอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,495 view

สหภาพยุโรปเผยแพร่รายงานอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน

              เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่รายงานอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนประจำปี ๒๕๖๑ (2018 Report on Trade and Investment Barrier) โดยในรายงาน ระบุว่า จำนวนมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า     การลงทุนที่สหภาพยุโรปประสบในประเทศที่สาม ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ รวม ๔๒๕ มาตรการใน ๕๙ ประเทศ โดยในปี ๒๕๖๑ มี ๔๕ มาตรการใหม่จาก ๒๓ ประเทศ ในขณะเดียวกันสหภาพยุโรปก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ ๓๕ มาตรการจาก ๒๕ ประเทศ นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุว่า จีนเป็นประเทศที่มีมาตรการกีดกันการค้าการลงทุนมากที่สุด (๓๗ มาตรการ) ตามด้วย รัสเซีย (๓๔ มาตรการ) อินเดีย (๒๕ มาตรการ) อินโดนีเซีย (๒๕ มาตรการ) และสหรัฐอเมริกา (๒๓ มาตรการ)

              ในส่วนของไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีมาตรการกีดกันทางการค้าการลงทุน ๑๐ มาตรการขึ้นไป โดยมีรวม ๑๒ มาตรการ ทั้งนี้ รายงานยังระบุว่า ในปี ๒๕๖๑ ไทยได้ออกมาตรการใหม่ ๑ มาตรการ คือ การกำหนดให้ต้องมีเอกสารรับรองมาตรฐานสินค้าสำหรับการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในขณะเดียวกันก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ ๑ มาตรการ คือ การห้าม    นำเข้าเนื้อวัวเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อวัวบ้า ด้วยเช่นกัน

              มาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนของไทยทั้ง ๑๒ มาตรการที่สหภาพยุโรประบุไว้ในเอกสารเอกรายงาน ได้แก่ (๑) การให้สิทธิพิเศษกับผู้ประกอบการไทยในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ (๒) การขาดการบังคับใช้กฎหมายและการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (๓) การกำหนดให้มีกระบวนการรับรองคุณภาพสินค้าต่าง ๆ ที่ยุ่งยากเกินไป (๔) การกำหนดกฎเกณฑ์พิเศษทางศุลกากร (๕) การทำให้กระบวนการนำเข้าสินค้าเกษตรและประมงมีความล่าช้าและยุ่งยาก (๖) การไม่ยอมรับมาตรการอนุญาตนำเข้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ปลอดโรค (Regionalisation) ซึ่งเป็นระบบที่สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหยุดชะงักของการค้าสินค้าปศุสัตว์ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโรคไข้หวัดนก (๗) การกำหนดใบรับรองการวิเคราะห์คุณภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับการนำเข้า (๘) การตั้งอัตราภาษีสรรพสามิตที่เป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้า (๙) การใช้มาตรการที่เข้มงวดสำหรับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยต้องมีการติดฉลากและมีภาพประกอบเพื่อเตือนภัยของสุรา (๑๐) การจำกัดการมีส่วนร่วมของต่างชาติในภาคบริการ (๑๑) การออกใบอนุญาตนำเข้าสารไนโตรเซลลูโลส หินอ่อน และหินแกรนิต ที่ล่าช้าและไม่เป็นธรรม และ (๑๒) การจำกัดการมีส่วนร่วมของต่างชาติในภาคการสื่อสารโทรคมนาคม

              สามารถสืบค้นรายละเอียดรายงานอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนของสหภาพยุโรปฉบับเต็มได้จากเว็บไซต์ http://bit.ly/2Y0JJOb และฐานข้อมูลของคณะกรรมาธิการยุโรปที่เปิดให้ผู้ประกอบการแจ้งข้อร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าการลงทุนของประเทศที่สาม (Market Access Database) ได้ที่เว็บไซต์ http://bit.ly/2RpBsAX

              อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความจริงจังของสหภาพยุโรปในการสอดส่อง รวบรวม จัดเก็บ และเผยแพร่ข้อมูลการพบและการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนอย่างเป็นระบบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่สหภาพยุโรปให้กับการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยใช้อิทธิพลของตนเอง ทั้งในฐานะตลาดขนาดใหญ่ ผู้กำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ ตลอดจนเครื่องมือที่ถูกบรรจุไว้ในกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศที่สาม

              ทั้งนี้ รายงานดังกล่าว รวมทั้งรายงานการปกป้องตลาดจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม (ที่สหภาพยุโรปเผยแพร่เมื่อวันที่      28 มีนาคม 2562) และรายงานความคืบหน้าของการจัดทำความตกลงการค้าเสรีของสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่า จะมีการเผยแพร่ในช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๒ ซึ่งทั้ง ๓ รายงาน ถือเป็นรายงานที่สำคัญเกี่ยวกับการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ทางการค้า    การลงทุนของสหภาพยุโรป

*********************************