ทิศทางความสัมพันธ์การค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปในยุคประธานาธิบดีทรัมป์

ทิศทางความสัมพันธ์การค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปในยุคประธานาธิบดีทรัมป์

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,666 view

ทิศทางความสัมพันธ์การค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปในยุคประธานาธิบดีทรัมป์

              เมื่อเดือนมีนาคม 2562 Chatham House, The Royal Institute of International Affairs  ได้เผยแพร่บทความวิจัย เรื่อง “US-EU Trade Relations in the Trump Era: Which Way Forward" ทางเว็บไซต์ของสถาบัน (https://www.chathamhouse.org) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

              1. บทความวิจัยดังกล่าวแบ่งเนื้อหาเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ (1) สถานการณ์ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (2) การขับเคลื่อนนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อสหภาพยุโรป (3) ทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ และ (4) บทสรุปเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป

              2. ในประเด็นสถานการณ์ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปนั้น บทความวิจัยเห็นว่า นับตั้งแต่การเข้าดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อปี 2559 สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย ได้แก่ นโยบายการค้า 'America First'  การถอนตัวจากการเจรจาหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก (Transatlantic Trade and Investment Partnership – TTIP) และมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ การที่ทางสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมจากประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป ร้อยละ 25 และร้อยละ 10 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ได้คลี่คลายลงและมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้พบหารือกับนาย Jean Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 โดยทั้งสองฝ่ายได้แถลงข่าวร่วมกันว่า จะไม่เพิ่มมาตรการภาษีมาตอบโต้กัน และจะทำงานร่วมกัน เพื่อขยายโอกาสและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะสินค้าผลิตภัณฑ์เคมี การแพทย์ เวชภัณฑ์ และถั่วเหลือง ไปจนถึงการขยายตลาดภาคบริการ ซึ่งจะต้องจับตามองในระยะยาวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปที่แท้จริงและยั่งยืนหรือไม่ หรือเป็นเพียงการระงับความขัดแย้งชั่วคราว

              3. สำหรับประเด็นเรื่องการขับเคลื่อนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อสหภาพยุโรปนั้น บทความวิจัยวิเคราะห์ว่า สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการลดการขาดดุลทางการค้า และการจัดการกับแนวทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยการกล่าวโทษสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกาขาดดุลทางการค้าอย่างสูง โดยเฉพาะกับเยอรมนี ที่ขาดดุลสูงที่สุดถึง 64.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 และเห็นว่า โครงสร้างทางภาษีของการนำเข้ารถยนต์จากยุโรปมายังสหรัฐอมเริกานั้น ไม่เป็นธรรม จึงเสนอให้ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรปจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 20 ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการกระทบกระทั่งกันไปมาระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป แต่ก็ต้องยอมรับว่า สหภาพยุโรปเป็นทั้งคู่แข่ง คู่ค้าและพันธมิตรที่มีศักยภาพ และยังเป็นแนวร่วมในการผลักดันการปฏิรูประบบการค้าโลกของสหรัฐอเมริกา ด้วย  

              4. ในด้านทิศทางการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปนั้น  บทความวิจัยนำเสนอว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ประธานาธิบดีทรัมป์และประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เปิดประตูสำหรับการเจรจาการค้าระหว่างสองฝ่ายครั้งใหม่ แม้จะมิใช่การเปิดเจรจา TTIP อีกครั้ง แต่ก็มุ่งเน้นสาระสำคัญไปที่การจัดการกับกำแพงภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้าที่มีความสมดุลมากขึ้น  อย่างไรก็ดี การเจรจาในส่วนของฝ่ายสหภาพยุโรปก็มีข้อจำกัดเช่นกัน จากการที่แต่ละประเทศสมาชิกมีความต้องการและผลประโยชน์ที่ต่างกัน เช่น ระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศส โดยเยอรมนีเต็มใจที่จะทำข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกาเพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดที่อาจเพิ่มขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่ฝรั่งเศสเห็นว่า สหภาพยุโรปไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเข้าสู่สงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา อีกทั้งการถอนตัวของ   สหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรป อาจส่งผลให้สหภาพยุโรปสูญเสียอำนาจต่อรองกับสหรัฐอเมริกา

              5. บทความวิจัยชิ้นนี้ ยังได้นำเสนอการจำลองการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้แทนจากภาคธุรกิจ และองค์กรพัฒนาเอกชนจากทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยจำลองสถานการณ์การเจรจาใน 2 ระดับ ได้แก่ “ระดับประเทศ” และ “ระดับสากล” โดยผู้เข้าร่วมการจำลองสถานการณ์ จะได้รับคัดเลือกเพื่อรับบทบาทของตัวแทนรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ซึ่งแต่ละคน จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์และแนวทางการเจรจาสั้น ๆ ทั้งนี้ การแสดงออกระหว่างการจำลองการเจรจาของตัวแทนทั้งสองฝ่ายจะถูกนำมาวิเคราะห์ โดยเจ้าหน้าที่ของ Chatham House ผลของการจำลองสถานการณ์การเจรจาสรุปได้ว่า (1) มีการแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งบทความวิจัยเห็นว่า วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้ คือ การที่ทั้งสองประเทศจะต้องตกลงกันให้ได้ในเรื่องท่าทีเกี่ยวกับภาษีเหล็กและอลูมิเนียมก่อนที่จะมีการเจรจากับฝ่ายสหรัฐอเมริกา (2) คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายต้องรับมือกับความกังวลที่เกิดจากนโยบาย “America First” ซึ่งมีผลต่อความพยายามในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม รวมถึงยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ (3) ประเด็นเกี่ยวกับสินค้าเกษตรและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร เป็นประเด็นสำคัญที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายในการเจรจา และ (4) สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้ร่วมมือกันในการแก้ไขการค้าเพื่อถ่วงดุลการค้ากับจีน และสามารถกดดันจีนให้เปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติทางการค้าได้ เนื่องจากทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของจีน

              6. สำหรับบทสรุป บทความวิจัยเห็นว่า (1) แม้ว่าจะมีการพักรบทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2561 แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศเตือนว่า สหรัฐอเมริกาอาจจะกลับมาทบทวนการขึ้นภาษีอีกครั้ง หากการเจรจาการค้าระหว่างสองฝ่ายไม่เป็นผล (2) หากต้องการบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปจำเป็นจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งหมายถึงฝรั่งเศสและเยอรมนีต้องตกลงกันให้ลงตัวในประเด็นการขึ้นกำแพงภาษีศุลกากรทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ เยอรมนีอาจจะต้องพิจารณามาตรการแก้ไขการเกินดุลทางการค้าเชิงโครงสร้างกับสหรัฐอเมริกา และ (3) สหภาพยุโรปควรร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสหราชอาณาจักร ภายหลัง Brexit เพื่อปกป้องระบบการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าในระดับทวิภาคีเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างการค้าในระดับโลกเช่นกัน

********************************

จัดทำโดย นางสาวเพ็ญพิชชา จำปา

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

นักศึกษาฝึกงานกองสหภาพยุโรป กรมยุโรป 

17 มิถุนายน 2562