มุมมองของสหภาพยุโรปต่อความสัมพันธ์สหภาพยุโรป-สหรัฐอเมริกา หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

มุมมองของสหภาพยุโรปต่อความสัมพันธ์สหภาพยุโรป-สหรัฐอเมริกา หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,121 view

สำนักข่าวต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป (EU) ได้นำเสนอมุมมองของสหภาพยุโรปต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกาหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประมวลประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

          1. ภาพรวม ความสัมพันธ์สหภาพยุโรป-สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Donald Trump มีความขัดแย้งในหลายเรื่อง ทั้งการค้า นโยบายต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม ดิจิทัล และเกษตรทำให้สหภาพยุโรปต้องการผลักดันนโยบาย Strategic Autonomy เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และไม่ต้องการเป็น junior partner ของสหรัฐฯ ซึ่งสหภาพยุโรปมองว่า หากประธานาธิบดี Donald Trump ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่สอง แนวนโยบายต่าง ๆ จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่อาจจะคาดการณ์ได้ยากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน หากเป็นนาย Joe Biden ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ก็น่าจะมีความหวังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่าง ๆ

          2. ด้านการค้า ความตึงเตรียดระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ จะยังคงมีต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการจัดเก็บภาษีสินค้าที่แต่ละฝ่ายอ้างว่ารัฐบาลของอีกฝ่ายให้การอุดหนุน เช่น อุตสาหกรรมอากาศยานและเหล็ก ซึ่งหลายฝ่ายหวังว่า หากนาย Joe Biden ได้รับเลือกก็น่าจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะเจรจาเพื่อหาทางออก

          3. ด้านนโยบายต่างประเทศ สหภาพยุโรปมองว่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Donald Trump ทำให้ระบบพหุภาคีถดถอยลงอันเป็นผลมาจากการที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงสำคัญต่าง ๆ อาทิ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) และ Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ระหว่างอิหร่าน กับสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเยอรมนี รวมทั้งลดการสนับสนุนองค์กร เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) ในขณะที่นาย Joe Biden จะให้ความสำคัญกับพันธมิตรและความร่วมมือในกรอบต่าง ๆ ตลอดจนจะเป็นพันธมิตรที่ดีของยุโรป

          เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ประธานาธิบดี Donald Trump ได้ถอนกำลังทหารออกจากเยอรมนี รวมทั้งมีท่าทีที่จะถอนตัวออกจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation - NATO) หากประเทศสมาชิกไม่เพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงใน NATO เป็นร้อยละ 2 ของ GDP ตามที่ NATO เสนอ (ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 10 ประเทศ จากทั้งหมด 30 ประเทศ ที่ให้การสนับสนุน) ในขณะที่นาย Joe Biden ให้ความสำคัญกับ NATO และระบุว่า หากประธานาธิบดี Donald Trump ได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย NATO อาจจะล่มสลายได้

          สำหรับมุมมองต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน/รัสเซีย สหภาพยุโรปมองว่า หากนาย Joe Biden ได้รับเลือกท่าทีของสหรัฐฯ ต่อจีนอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยจะยังมี economic decoupling[1] และการเผชิญหน้า ซึ่งนาย Joe Biden มองว่า จีนเป็นความท้าทายและมุ่งกดดันจีนในประเด็นสิทธิมนุษยชน ตลอดจนมาตรการด้านการค้าของจีน แต่แนวทางที่แสดงออกมาอาจไม่รุนแรงเท่าประธานาธิบดี Donald Trump ในขณะที่กับรัสเซียที่ประธานาธิบดี Donald Trump มีความใกล้ชิดและไม่จัดการกับรัสเซียกรณีแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 แต่นาย Joe Biden อาจเลือกที่จะเผชิญหน้ากับรัสเซียในเรื่องดังกล่าว 

          นอกจากนี้ สหภาพยุโรปมองว่า ความล้มเหลวของความตกลง (1) Intermediate-Range Nuclear Forces (INF) (2) Open Skies Treaty และ (3) Strategic Arms Reduction Treaty (START) ทำให้ยุโรปได้หารือกันเรื่องนิวเคลียร์และการปลดอาวุธอย่างจริงจัง หากประธานาธิบดี Donald Trump ได้รับเลือกอาจจะมีการถอนตัวจากความตกลงต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับนาย Joe Biden น่าจะทำตรงกันข้าม โดยการสานต่อ START และกลับเข้าสู่ JCPOA อีกครั้ง

          4. ด้านสิ่งแวดล้อมและเกษตร รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันยังคงมีท่าทีโจมตีนโยบาย European Green Deal และ Farm to Fork Strategy ของสหภาพยุโรป โดยมองว่า เป็นการกีดกันทางการค้าและไม่ส่งเสริม การแข่งขัน ซึ่งสหรัฐฯ อาจหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นสู่ WTO เพื่อพิจารณาต่อไป ดังนั้น สหภาพยุโรปจะต้องติดตามต่อไปว่า ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงท่าทีหรือไม่ อย่างไร

          5. ด้านดิจิทัล สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มีความขัดแย้งกรณีที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้พยายามใช้กฎหมาย antitrust ต่อบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลรายใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Google รวมทั้งการพิจารณาออกกฎหมาย Digital Service Act และ Digital Market Act ของสหภาพยุโรป ต่างก็เป็นที่จับตามองของสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นความพยายามในการกำหนดกฎเกณฑ์ของระบบนิเวศ (ecosystem) ด้านดิจิทัลและการสร้างสมดุลของการแข่งขัน อย่างไรก็ดี ในส่วนของสหรัฐฯ ได้พยายามสร้างพันธมิตรกับสหภาพยุโรปเพื่อกดดันบริษัทของจีน เช่น Huawei และ ZTE เรื่องระบบ 5G โดยใช้เหตุผลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งได้ผลดี ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศ อาทิ โปแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย เช็ก สโลวีเนีย และบัลแกเรีย หากนาย Joe Biden  ได้รับเลือกก็คงดำเนินนโยบายแนวเดียวกันเพื่อสกัดกั้นจีนและส่งเสริมบริษัทสหรัฐฯ ต่อไป

          นอกจากนี้ สื่อมวลชนต่าง ๆ ได้นำเสนอเกี่ยวกับมุมมองของผู้นำประเทศสมาชิกที่มีต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยพบว่า ส่วนใหญ่สนับสนุนนาย Joe Biden โดยเฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจของสหภาพยุโรป ในขณะที่ผู้นำประเทศที่สนับสนุนประธานาธิบดี Donald Trump ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบยุโรปตะวันออก เช่น ฮังการี โปแลนด์และสโลวีเนีย อย่างไรก็ตาม จากการประมวลมุมมองของผู้นำและบุคคลสำคัญในสหภาพยุโรปที่มีต่อเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป สหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญและใกล้ชิดที่สุดของสหภาพยุโรป

          อนึ่ง สหภาพยุโรปคงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับ “less American involvement in the world” และมุ่งเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งและการพึ่งพาตนเอง ทั้งในด้านความมั่นคง การส่งเสริมระบบพหุภาคี ตลอดจนประเด็นความท้าทายต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

*********

 

[1] “economic decoupling” คือ แนวคิดการแยกเศรษฐกิจหรือห่วงโซ่การผลิตออกจากประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อลดการพึ่งพาจากประเทศนั้น ๆ ในแง่การใช้เป็นฐานการผลิต รวมถึงฐานการนำเข้า เพื่อลดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบในภาวะที่ไม่มีอะไรแน่นอนจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ (https://thestandard.co/trump-says-us-has-option-of-decoupling-from-china-contradicting-his-trade-chief/) 

(Credit ภาพปก: https://www.theparliamentmagazine.eu/news/article/eu-anxiously-spectates-as-americans-head-to-the-polls-in-unprecedented-election)