การสัมมนาระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไทย-EU ทางระบบออนไลน์ (Webinar) หัวข้อ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism – CBAM) ของสหภาพยุโรป

การสัมมนาระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไทย-EU ทางระบบออนไลน์ (Webinar) หัวข้อ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism – CBAM) ของสหภาพยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 761 view

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 กรมยุโรป ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้จัดการสัมมนาระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไทย-EU ทางระบบออนไลน์ (Webinar) หัวข้อ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism – CBAM) ของสหภาพยุโรป โดยการสัมมนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานของสหภาพยุโรป ได้แก่ กระทรวงด้านภาษีและสหภาพศุลกากร (DG TAXUD) กระทรวงสิ่งแวดล้อม (DG CLIMA) และกระทรวงการค้า (DG TRADE) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายไทยจากทั้งภาครัฐ  และเอกชน อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย รวมกว่า 60 คน

ในการสัมมนาฯ ผู้แทนหน่วยงานทั้งฝ่ายสหภาพยุโรปและฝ่ายไทยได้แลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับความคืบหน้าของมาตรการ CBAM ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สหภาพยุโรปกำหนดใช้ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ตามแผนปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ของสหภาพยุโรป
โดยฝ่ายสหภาพยุโรปย้ำว่า มาตรการดังกล่าวจะกระทบต่ออุตสาหกรรมบางสาขาที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูงเท่านั้น และการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ CBAM จะคำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎกติกาด้านการค้าของ WTO นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำมาตรการดังกล่าว และได้ให้ข้อมูล
การดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยตามความตกลงปารีสด้วย

ฝ่ายไทยได้แสดงเจตจำนงที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับข้อริเริ่มมาตรการดังกล่าวทั้งในระดับนโยบายและในเชิงเทคนิค ตลอดจนความเป็นไปได้ในการร่วมมือเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อมของส่วนราชการและภาคเอกชนไทยต่อการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวของสหภาพยุโรปในอนาคต รวมถึงการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป โดยฝ่ายไทยได้ย้ำว่า การรับมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดคาร์บอนไม่มีประเทศใดสามารถทำได้โดยลำพัง และในการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของหุ้นส่วน รวมถึงการปรึกษาหารือกับหุ้นส่วนเพื่อกำหนดแนวทางในการสนับสนุนกันและกันด้วย โดยหวังว่า ประเทศไทยและสหภาพยุโรปจะสามารถสานต่อความร่วมมือนี้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายต่อไป

 

**************

กองสหภาพยุโรป
กรมยุโรป
พฤศจิกายน 2563

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ