มุมมองของสหภาพยุโรป (EU) ในการดำเนินความสัมพันธ์กับอินเดีย

มุมมองของสหภาพยุโรป (EU) ในการดำเนินความสัมพันธ์กับอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,118 view

          ความร่วมมือระหว่าง EU กับอินเดียได้ทวีความสำคัญขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยภายใน EU สถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภายุโรป คณะมนตรียุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป ต่างมีความเห็นตรงกันให้เพิ่มพูนความสัมพันธ์ที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มศักยภาพกับอินเดียในฐานะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีค่านิยมร่วมและประสบความท้าทายหลายประการคล้ายคลึงกัน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากเป้าหมายด้านเศรษฐกิจแล้ว[1] EU ต้องการให้การดำเนินความร่วมมือกับอินเดียเอื้อประโยชน์ต่อการจัดการกับความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ของ EU ในภูมิภาค และตอบสนองต่อนโยบาย Strategic Autonomy ของ EU ด้วย

มุมมองที่สำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ EU-อินเดีย

          EU ให้ความสำคัญกับอินเดียในฐานะประเทศหุ้นส่วนที่มีความเห็นคล้ายกัน (like-minded) ภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของ EU โดยมุ่งกระชับความสัมพันธ์กับอินเดียให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นเพื่อคานอำนาจกับจีนในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 นาย Charles Michel ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ EU-อินเดีย ระหว่างการประชุม Raisina Dialogue 2021 ว่า ท่ามกลางสภาวะของโลกที่มีความเชื่อมโยงและการแข่งขันที่มากขึ้น อินเดียนับเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการเสริมสร้างระเบียบระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกฏกติกา โดย EU เล็งเห็นความสำคัญในการขยายการค้าและการลงทุนกับอินเดียอย่างเต็มศักยภาพ และหวังที่จะร่วมมือกับอินเดียในการรับประกันให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีความมั่นคง เสรี เปิดกว้าง และเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเห็นว่าภูมิภาคนี้เป็นจุดศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วงเชิงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก

          นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 เพียงไม่กี่วันก่อนการประชุมผู้นำ EU-อินเดีย ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 ที่เมืองปอร์โต โปรตุเกส สภายุโรปได้รับรองข้อเสนอแนะต่อ EU เกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์กับอินเดียที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของสภายุโรป (Committee on Foreign Affairs – AFET) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) EU ควรเพิ่มพูนความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมระเบียบโลกบนพื้นฐานของกฎกติกาภายใต้ระบอบพหุภาคี การเสริมสร้างความมั่นคงระหว่างประเทศ ส่งเสริมความเชื่อมโยง การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนส่งเสริมเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก (2) สนับสนุนความสัมพันธ์ทางการค้าที่เน้นการเพิ่มมูลค่า และความร่วมมือในการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) (3) เน้นย้ำความพร้อมของ EU ในการสนับสนุนการลดความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานโดยสันติวิธีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และ (4) เน้นย้ำข้อกังวลของ EU เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในอินเดีย

          ในบทความของนาย Josep Borrell ว่าด้วยความจำเป็นของ EU ในการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของตนต่ออินโด-แปซิฟิกที่เผยแพร่ทาง HR/VP blog[2] ได้กล่าวถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับอินเดียในฐานะหนึ่งในประเทศที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นของ EU เนื่องจากอินเดียเป็นผู้เล่นหลักในภูมิภาคฯ โดยขณะนี้ อินเดียเองก็มีความสนใจที่จะกระชับความสัมพันธ์กับ EU มากขึ้นเช่นกัน อันเป็นผลจากท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นของจีน และผลพวงจาก Brexit ที่ทำให้อินเดียไม่ต้องดำเนินความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปผ่านสหราชอาณาจักรอีกต่อไป

การประชุมผู้นำ EU-อินเดีย

          ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 นาย Josep Borrell ผู้แทนระดับสูงของ EU ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (HR/VP) ร่วมกับนาย Charles Michel ประธานคณะมนตรียุโรป และนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโป พร้อมกับผู้นำจากประเทศ EU 27 ประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมกับนาย Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดียในการประชุม EU-India Leaders’ Meeting ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ณ เมืองปอร์โต โปรตุเกส ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือและเห็นพ้องกันในหลายประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้

         (1) ฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) หลังจากที่การเจรจาหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นการสนับสนุนความพยายามของ EU ภายใต้แนวคิด Strategic Autonomy ในการกระจายห่วงโซ่อุปทานและลดการพึ่งพาจีน โดยทั้งสองฝ่ายย้ำเจตนารมณ์ในการบรรลุความตกลง FTA ที่มีความสมดุล ครอบคลุม และนำมาสู่ผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนมุ่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงตลาดระหว่างกัน พร้อมกันนี้ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มการหารือเกี่ยวกับข้อตกลงด้านการคุ้มครองการลงทุนและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications – GI) ด้วย

         (2) เสริมสร้างความพร้อมและความยืดหยุ่นด้านสาธารณสุขระดับโลก ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีน การวินิจฉัย และการรักษาโควิด-19 ที่เป็นสากล ปลอดภัย และเท่าเทียม ในราคาที่ยอมรับได้ ตลอดจนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความมั่นคงด้านสาธารณสุขของโลก โดยการปฏิรูปองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต

         (3) การปกป้องโลกและสนับสนุนการเติบโตสีเขียว (Green growth) เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดการกับความท้าทายต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหามลภาวะ ตลอดจนความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส 

         (4) ความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านความเชื่อมโยง (EU-India Connectivity Partnership) ซึ่งจะครอบคลุมการเชื่อมโยงด้านดิจิทัล พลังงาน คมนาคม มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศที่สามทั้งในมิติทวิภาคีและความร่วมมือที่เชื่อมโยงประเทศที่สามและภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งแอฟริกา เอเชียกลาง และอินโด-แปซิฟิก

         (5) การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายมาตรฐาน 5G ส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และมุ่งจัดตั้งหน่วยทำงานร่วมด้าน AI (Joint Task Force on Artificial Intelligence)

         (6) สิทธิมนุษยชน การเจรจาด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กรอบ EU-India Human Rights Dialogue ที่จะจัดขึ้นในปี 2565 เพื่อกระชับความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในกรอบสหประชาชาติ

         (7) การต่างประเทศและความมั่นคงระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันด้านการลดและปลดอาวุธ การต่อต้านการก่อการร้าย การสร้างพื้นที่ทางไซเบอร์ที่ปลอดภัย มุ่งเน้นความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง และครอบคลุม บนพื้นฐานของการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผ่านเวทีการประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) และความร่วมมือในกรอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

อนาคตของความร่วมมือ EU-อินเดีย

         แม้กระแสความร่วมมือ EU-อินเดียจะเป็นไปในทิศทางบวกสอดคล้องกับแนวนโยบายของอินเดียในภาพรวมที่ต้องการลดการพึ่งพิงและคานอำนาจจีนในภูมิภาคโดยหันไปหาประเทศตะวันตก รวมถึงสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี ยังคงปรากฏตัวแปรต่างๆ ที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายในอนาคตมีความไม่แน่นอนและเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในของอินเดียโดยเฉพาะวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและคาดว่าจะส่งผลระยะยาวต่อขีดความสามารถของอินเดีย ปัญหาจากระดับการพัฒนาของอินเดียและนโยบายปกป้องทางการค้าที่ก่อตัวขึ้นในช่วงการถอนตัวของอินเดียออกจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงความคิดต่อต้านจักรวรรดินิยมหรือตะวันตกที่ถูกปลูกฝังหยั่งรากลึกในสังคมอินเดียมาช้านาน โดยกลุ่มชนชั้นนำและปัญญาชนอินเดียยังคงมีความท้าทายและทำได้ไม่ง่ายนัก นอกจากนี้ ในแง่ของชุดค่านิยมร่วมกับ EU ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สื่อยุโรปหลายสำนักได้ตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในอินเดีย โดยเฉพาะการควบคุมสื่อและความรุนแรงต่อชาวมุสลิม ก็อาจเป็นความท้าทายสำคัญของ EU ในการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับอินเดียบนพื้นฐานของการมีค่านิยมร่วมกัน

* * * * * * *

 

กรมยุโรป
กองสหภาพยุโรป
พฤษภาคม 2564

 

[1] EU เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอินเดีย และอินเดียเป็นคู่ค้าอันดับ 9 ของ EU ในปี 2562 มูลค่าการค้าของอินเดียกับ EU คิดเป็นร้อยละ 11.1 มากกว่ากับสหรัฐฯ และจีนที่ร้อยละ 10.7 นอกจากนี้ ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๗๒ และการลงทุนของ EU ในอินเดียเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 18 ในช่วงเดียวกัน ส่งผลให้ EU มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในอินเดีย

[2] สืบค้นข้อมูลได้ทาง https://eeas.europa.eu/headquarters/headquarters-homepage/94898/eu-needs-strategic-approach-indo-pacific_en

 

(Credit รูปภาพปก: https://www.iddri.org/en/publications-and-events/blog-post/eu-and-india-leaders-meeting-tapping-large-potential-cooperation)