มาตรการในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ของสหภาพยุโรป

มาตรการในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ของสหภาพยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,802 view

มาตรการในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ของสหภาพยุโรป

๑. มาตรการด้านสาธารณสุข 
    ความเปราะบางด้านสาธารณสุขของสหภาพยุโรป (EU) ต่อการรับมือกับวิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้ EU จำเป็นต้องปรับตัวผ่านการจัดทำแผนเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขแก่หน่วยงานกลาง เช่น องค์การด้านยาของ EU (European Medicines Agency – EMA) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่ง EU (European Centre for Disease Prevention and Control – ECDC) การจัดตั้งคลังยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ร่วม รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มอำนาจให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุขและกลไกของ EU โดยให้คณะกรรมาธิการยุโรปมีบทบาทนำในการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก เช่น การสนับสนุนงบประมาณจำนวน ๑,๐๐๐ ล้านยูโร และวัคซีนจำนวน ๑๐๐ ล้านโดสแก่โครงการ COVAX Facility ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการวิจัยและผลิตวัคซีน ตลอดจนมาตรการควบคุมการเปิด-ปิดชายแดนให้มีความสอดคล้องกันโดยมีมาตรการสำคัญ ดังนี้

    ๑.๑ ยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนของ EU (EU Vaccines Strategy)
          (๑) เมื่อวันที่ ๑๗ มิ.ย. ๒๕๖๓ คณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนของ EU เพื่อเร่งการผลิตและพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยได้กำหนดเป้าหมายช่วงเวลาประมาณ ๑๒-๑๘ เดือนในการสนับสนุนและเร่งการพัฒนาวัคซีน
          (๒) ยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดเสาหลักที่สำคัญ ๒ ประการ คือ (ก.) การผลิตวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในปริมาณที่เพียงพอสำหรับ EU โดยการจัดทำข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้า (Advance Purchase Agreement – APA) กับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายต่างๆ รวมทั้งการใช้กลไกสนับสนุนฉุกเฉินและการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม และ (ข.) การปรับกฎระเบียบของ EU ให้สอดคล้องกับความเร่งด่วน โดยเฉพาะปรับปรุงขั้นตอนการรับรองวัคซีน โดยคำนึงถึงมาตรฐานของคุณภาพวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
          (๓) นับถึงปลายเดือน พ.ค. ๒๕๖๔ EU สามารถสำรองวัคซีนไว้ได้แล้วประมาณ ๔.๔ พันล้านโดส และมีแผนจะบริจาควัคซีนให้กับโครงการ COVAX Facility จำนวน ๑๐๐ ล้านโดสภายในสิ้นปี ๒๕๖๔ โดยมีวัคซีนที่ได้รับการรับรองจาก EMA สำหรับใช้ภายใน EU/จัดสรรให้แก่ประเทศสมาชิก แล้วจำนวน ๔ ชนิด ได้แก่ BioNTech-Pfizer, Moderna, AstraZeneca และ Johnson & Johnson/Janssen Pharmaceuticals และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ Sinovac และ Sputnik

     ๑.๒ ยุทธศาสตร์การรักษาโควิด-๑๙ (EU Strategy for Therapeutics Strategy) เมื่อวันที่ ๖ พ.ค. ๒๕๖๔ คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการรักษาโควิด-๑๙ ของ EU เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและเตรียมความพร้อมในการใช้ยา รวมถึงการรักษาโควิด-๑๙ ในระยะยาว โดยยุทธศาสตร์นี้จะครอบคลุมวงจรชีวิตทั้งหมดของยาที่ใช้รักษาฯ ตั้งแต่การวิจัย การพัฒนา การผลิต การจัดหา และการปรับใช้ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปจะจัดทำเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการรักษาฯ ที่เป็นไปได้ ๑๐ รายการ นำเสนอภายในเดือน มิ.ย. ๒๕๖๔ และคาดว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวจะสามารถเริ่มใช้ได้ก่อนสิ้นปี ๒๕๖๔ นี้

     ๑.๓ การจัดหายารักษาโควิด-๑๙ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้ลงนามสั่งซื้อยาต้านไวรัส remdesivir จาก Gilead Sciences ซึ่งเป็นยาที่มีศักยภาพสูงในการรักษาโควิด-๑๙ และเป็นยาชนิดเดียวที่ EU รับรองสำหรับใช้รักษาโควิด-๑๙ จำนวน ๕ แสนคอร์ส (Treatment Courses) โดยเป็นยารักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคปอดบวมและต้องเพิ่มระดับออกซิเจนจากการที่ปอดถูกทำลาย พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณจำนวน ๗๐ ล้านยูโร สำหรับการกระจายยาต้านไวรัส remdesivir ไปยังประเทศสมาชิก

    ๑.๔ การเสริมสร้างสมรรถนะของประเทศสมาชิกผ่านโครงการ EU4Health Programme เมื่อวันที่ ๙ มี.ค. ๒๕๖๔ สภายุโรปมีมติเห็นชอบโครงการ EU4Health Programme สำหรับปี ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๗ วงเงิน ๕.๑ พันล้านยูโร เพื่อการดำเนินการด้านสาธารณสุขในระดับ EU ที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ (๑) สร้างคลังเครื่องมือการแพทย์ฉุกเฉิน (๒) จัดทำรายชื่อบุคลากรการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเรียกได้หากเกิดวิกฤต (๓) ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถส่งไปทำงานได้ทั่ว EU (๔) ปรับปรุงมาตรการเฝ้าระวังด้านสาธารณสุข และ (๕) ปรับปรุงความสามารถของระบบสาธารณสุขในการรับมือกับวิกฤต ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบสาธารณสุขและส่งเสริมนวัตกรรมในภาคสาธารณสุขซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูยุโรปภายหลังโควิด-๑๙

   ๑.๕ การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือโควิด-๑๙ สายพันธุ์ใหม่ Health Emergency Response Authority (HERA Incubator) เมื่อวันที่ ๑๗ ก.พ. ๒๕๖๔ คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอแผนเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันทางชีวภาพของยุโรปเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-๑๙ สายพันธุ์ใหม่ หรือ “HERA Incubator” ซึ่งมีหลักการที่สำคัญ ดังนี้ (๑) พัฒนาวิธีระบุและวิเคราะห์เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ใหม่ (Specialised test and genome sequencing) (๒) ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติวัคซีนให้รวดเร็วขึ้นและการพัฒนายาและวัคซีนต้านโควิด-๑๙ (๓) เพิ่มกำลังการผลิตวัคซีน และ (๔) สร้างเครือข่ายนักวิชาการ บริษัทยา เจ้าหน้าที่รัฐ European Clinical Trials Network โดย HERA Incubator จะเป็นพิมพ์เขียวของการเตรียมความพร้อมในระยะยาวของ EU เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขต่อไป

    ๑.๖ ความร่วมมือด้านสาธารณสุขของประเทศสมาชิก ศูนย์รับมือภาวะฉุกเฉิน Emergency Response Coordination Centre มีหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานขอความช่วยเหลือประเทศสมาชิกหนึ่งไปยังอีกประเทศสมาชิกหนึ่งเมื่อได้รับการร้องขอ โดยมีความร่วมมือ เช่น การส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังอีกประเทศ การแลกเปลี่ยนบุคคลากรทางการแพทย์ และการรับผู้ป่วยจากประเทศที่มีมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงมายังอีกประเทศหนึ่ง

    ๑.๗ มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ที่ผลิตในเขต EU สืบเนื่องจากตั้งแต่ช่วงปลายปี ๒๕๖๓ ที่ EU ได้รับมอบวัคซีนล่าช้าและในปริมาณต่ำกว่าที่กำหนดในสัญญาสั่งซื้อล่วงหน้า (APA) คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนฯ ที่ผลิตในเขต EU ไปยังประเทศนอกเขต EU โดยผู้ส่งออกต้องทำการขออนุญาตต่อหน่วยงานของประเทศที่ตั้งของโรงงานผลิตและคณะกรรมาธิการยุโรปจะเป็นผู้ยินยอมในลำดับสุดท้าย เพื่อคณะกรรมาธิการยุโรปจะได้สามารถควบคุมวงจรการผลิตได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ และสนับสนุนกำลังการผลิตในส่วนที่ยังมีกำลังไม่เพียงพอ ในชั้นนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๖๔ โดยยกเว้นการใช้บังคับมาตรการดังกล่าวต่อกรณีที่ส่งออกไปยังประเทศสมาชิก EFTA และกลุ่มประเทศรายได้น้อยภายใต้โครงการ COVAX Facility ของ WHO

๒. มาตรการด้านการเดินทาง
    ๒.๑ เว็บไซต์ Re-open EU บริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่ง EU (ECDC)โดยจะรายงานข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในยุโรป ดังนี้ (๑) แผนที่รายสัปดาห์ที่แสดงถึงระดับของการแพร่ระบาดฯ ในยุโรปโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนสีต่างๆ ตามระดับการแพร่ระบาดฯ ได้แก่ โซนสีแดงเข้ม แดง สีส้ม สีเขียว และสีเทา โดยโซนสีแดงเข้มเป็นโซนที่เพิ่มมาใหม่เมื่อวันที่ ๑ ก.พ. ๒๕๖๔ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดฯ ในระดับที่สูงมาก และมีการติดเชื้อโควิด-๑๙ สายพันธุ์ใหม่ และ (๒) ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ อาทิ สถานการณ์การใช้เอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-๑๙ ในรูปแบบดิจิทัล (EU Digital COVID Certificate) รวมถึงข้อกำหนดในการกักตัวและการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ สำหรับผู้เดินทางแบบรายประเทศ

    ๒.๒ EU White List คณะมนตรีแห่ง EU จะจัดทำรายชื่อประเทศที่สาม (Non-EU countries) ที่แนะนำให้ประเทศสมาชิกผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางที่ไม่จำเป็น (non-essential travel) ของผู้มีถิ่นพำนักในประเทศดังกล่าว โดยข้อมูล ณ วันที่ ๑๖ มิ.ย. ๒๕๖๔ ใน EU White List มี ๑๔ ประเทศ ได้แก่ แอลเบเนีย ออสเตรเลีย อิสราเอล ญี่ปุ่น เลบานอน นิวซีแลนด์ นอร์ทมาซิโดเนีย รวันดา เซอร์เบีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย สหรัฐอเมริกา และจีน (หากจีนยอมรับที่จะเปิดพรมแดนให้กับ EU)

    ๒.๓ EU Digital COVID Certificate เป็นเอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-๑๙ ในรูปแบบดิจิทัล ใช้สำหรับการเดินทางภายในเขต EU โดยเอกสารรับรองฯ จะครอบคลุมคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ (๑) การรับรองการฉีดวัคซีนต้านโควิด-๑๙ (๒) การรับรองผลการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ที่เป็นลบ และ (๓) การรับรองว่าเป็นบุคคลที่เคยติดเชื้อโควิด-๑๙ และได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว โดยบุคคลที่ถือเอกสารรับรองฯ ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-๑๙ ที่องค์การด้านยาของ EU รับรอง จะสามารถเดินทางข้ามพรมแดนภายในเขต EU ได้ โดยประเทศสมาชิกอาจพิจารณายกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทาง เช่น การกักตัวหรือการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ให้กับบุคคลที่ถือเอกสารรับรองฯ ด้วย เว้นแต่มาตรการดังกล่าวยังจำเป็นต่อการจัดการด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศสมาชิก ทั้งนี้ ระบบการออกเอกสารรับรองฯ จะมีผลใช้บังคับอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๓. มาตรการด้านการเงิน
    ๓.๑ โครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) เมื่อเดือน มี.ค. ๒๕๖๓ ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank – ECB) ได้จัดตั้งโครงการ PEPP โดยมีวงเงินเริ่มต้น ๗.๕ แสนล้านยูโร และได้เพิ่มเป็นวงเงินสุทธิ ๑.๘๕ ล้านล้านยูโรในปัจจุบัน (สถานะล่าสุดเดือน ธ.ค. ๒๕๖๓) โดยโครงการดังกล่าวเป็นมาตรการชั่วคราวในการซื้อหลักทรัพย์ต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน (public and private securities) เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดเงินและคงเงื่อนไขทางการเงินที่เอื้ออำนวยต่อการใช้จ่ายและการลงทุน ในการนี้ คณะมนตรีบริหาร (Governing Council) ของ ECB ได้แจ้งว่า จะยุติโครงการดังกล่าวเมื่อมีการตัดสินว่าการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่จะไม่สิ้นสุดก่อนเดือน มี.ค. ๒๕๖๕ และเงินต้นของหลักทรัพย์ที่ครบกำหนดภายใต้โครงการ PEPP จะถูกนำไปลงทุนใหม่จนถึงสิ้นปี ๒๕๖๖ เป็นอย่างน้อย       

    ๓.๒ โครงการ European Scale-up Action for Risk Capital (ESCALAR) เมื่อเดือน มี.ค. ๒๕๖๓ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกมาตรการดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางช่วยเหลือการลงทุนรูปแบบใหม่ภายใต้ European Investment Fund (EIF) โดยจะใช้งบประมาณ ๓๐๐ ล้านยูโร จัดตั้งกองทุนปล่อยกู้สำหรับใช้เป็นทุนประเดิมของบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ (venture capital) รวมทั้งลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายให้ตลาดหลักทรัพย์ (private equity) ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง ๑,๒๐๐ ล้านยูโร หรือ ๔ เท่าของเงินลงทุนตั้งต้น ล่าสุด วันที่ ๗ ม.ค. ๒๕๖๔ ESCALAR ได้เปิดตัวโครงการลงทุนแรกโดย eEquity ซึ่งจะมุ่งลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตสมัยใหม่ในยุโรป

    ๓.๓ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๖ ธ.ค. ๒๕๖๓ และวันที่ ๑๗ ธ.ค. ๒๕๖๓ สภายุโรปและคณะมนตรีแห่ง EU ตามลำดับได้มีมติเห็นชอบ (๑) ร่างกรอบงบประมาณระยะยาวของ EU ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๗ (Multiannual Financial Framework – MFF) วงเงิน ๑.๐๗๔ ล้านล้านยูโร เพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและดิจิทัล และ (๒) งบประมาณกองทุนเพื่อการฟื้นฟู (Next Generation EU – NGEU) วงเงิน ๗.๕ แสนล้านยูโร ซึ่งจะเป็นการกู้เงินจากตลาดทุนร่วมกัน (Debt Union) เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการฟื้นฟูจากผลกระทบของโควิด-๑๙ ในช่วงปี ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๓ มติดังกล่าวได้ส่งผลให้ EU มีงบประมาณทันใช้ในวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๖๔ อนึ่ง งบประมาณ NGEU จะถูกจัดสรรให้แก่ประเทศสมาชิกทั้ง ๒๗ ประเทศ โดยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ แบบให้เปล่า จำนวน ๓.๙ แสนล้านยูโร และแบบปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ จำนวน ๓.๖ แสนล้านยูโร

 ๔. มาตรการด้านการคลัง
     ๔.๑ การออก Rescue Package เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ประเทศสมาชิกในการรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบด้วย ๓ มาตรการหลัก ดังนี้
          (๑) มาตรการ Safety net for Member States โดยการจัดสรรสินเชื่อวงเงิน ๒.๔ แสนล้านยูโร แก่ประเทศสมาชิกเขตยูโร (Eurozone) เพื่อใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ผ่านกลไก European Stability Mechanism (ESM) โดยแต่ละประเทศจะขอกู้เงินได้ไม่เกินร้อยละ ๒ ของ GDP
          (๒) มาตรการ Safety net for SMEs โดยเมื่อวันที่ ๒๓ เม.ย. ๒๕๖๓ ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (European Investment Bank – EIB) จัดตั้งกองทุนการค้ำประกันทั่ว EU (Pan-European Guarantee Fund) โดยอนุมัติเงินทุนจำนวน ๒.๕ หมื่นล้านยูโร เพื่อค้ำประกันการปล่อยสินเชื่อวงเงิน ๒ แสนล้านยูโรสำหรับ SMEs
          (๓) มาตรการ Safety net for workers หรือ Temporary Support to Mitigate Unemployment Risks in an Emergency (SURE) มีจุดประสงค์เพื่ออุดหนุนบริษัทเอกชนให้สามารถจ่ายเงินเดือนแก่พนักงานของตนต่อไปได้และหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างแรงงาน โดยเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถกู้ยืนเงินจากกลไล ESM ในวงเงิน ๑ แสนล้านยูโร ล่าสุดเมื่อ ๒๕ พ.ค. ๒๕๖๔ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ปล่อยกู้กว่า ๑.๔๑ แสนล้านยูโรให้กับ ๑๒ ประเทศสมาชิก รวมตั้งแต่เริ่มโครงการฯ คิดเป็นเงินกว่า ๙ แสนล้านยูโร

     ๔.๒ การออกมาตรการด้านการคลังจากงบประมาณของ EU ที่สำคัญ ได้แก่
          (๑) การจัดตั้ง Coronavirus Response Investment Initiative (CRII) และ Coronavirus Response Investment Initiative Plus (CRII+) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ประเทศสมาชิกและสนับสนุนความยืดหยุ่นในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขและโรงพยาบาล พร้อมให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ SMEs
          (๒) การเพิ่มวงเงินและขยายขอบเขตการดำเนินงานของ EU Solidarity Fund (EUSF) ให้ครอบคลุมการดำเนินการด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน
          (๓) การจัดให้มีมาตรการพักชำระหนี้ และการอนุโลมให้ประเทศสมาชิกสามารถจัดทำงบประมาณให้ขาดดุลได้มากกว่าร้อยละ ๓ ของ GDP ซึ่งเป็นการผ่อนปรนมาตรฐานการขาดดุลตามที่กำหนดใน EU Stability and Growth Pact

     ๔.๓ กองทุน European Investment Fund (EIF) คณะกรรมาธิการยุโรปได้อนุมัติการใช้งบประมาณของ EU รวม ๑ พันล้านยูโรจาก European Fund for Strategic Investments (EFSI) เข้าสมทบ European Investment Fund (EIF) ภายใต้การดูแลของ EIB โดยงบประมาณจำนวนนี้จะช่วยให้ EIF สามารถออกหลักประกันพิเศษเพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมูลค่าประมาณ ๘ พันล้านยูโรให้แก่ธุรกิจ SMEs และบริษัทขนาดกลางในยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๖๔

     ๔.๔ เครื่องมือ Emergency Support Instrument (ESI) EU ได้อนุมัติการถ่ายโอนงบประมาณคงคลังประจำปี ๒๕๖๓ ทั้งหมดของ EU วงเงิน ๓,๐๘๐ ล้านยูโร ให้อยู่ภายใต้ ESI โดยได้มอบให้ rescEU ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับการรับมือกับภัยพิบัติ จำนวน ๓๐๐ ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ร่วมกัน และในส่วนที่เหลืออีกประมาณ ๒.๗ พันล้านยูโร จะให้ความสำคัญอันดับต้นแก่การอุดหนุนแผนงานฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมไปถึงการฟื้นฟูภายหลังการแพร่ระบาด โดยให้ความสำคัญกับการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนตัว (PPE) และเครื่องช่วยหายใจ การวิจัยและผลิตวัคซีน การส่งทีมแพทย์เคลื่อนที่ให้ความช่วยเหลือผู้เปราะบางและผู้อพยพในค่ายอพยพ การสร้างโรงพยาบาลสนาม การขนย้ายผู้ป่วยข้ามพรมแดน การอพยพพลเมือง EU และการตรวจคัดกรองโรคด้วย ในการนี้ นับตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. ๒๕๖๔ เป็นต้นมา ประเทศสมาชิกสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนด้านการขนส่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนและการรักษาโรคโควิด-๑๙ ได้ด้วย โดยคาดว่าภารกิจดังกล่าวจะมีวงเงินประมาณ ๖๐ ล้านยูโร

๕. มาตรการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
    ๕.๑ การออกกฎชั่วคราวว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐ (Temporary State Aid Framework) เมื่อวันที่ ๑๙ มี.ค. ๒๕๖๓ เพื่ออนุญาตให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกสามารถอัดฉีดเงินในภาคธุรกิจเพื่อรักษาสภาพคล่องในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ได้

  ๕.๒ การปรับเปลี่ยนวิธีให้ความช่วยเหลือของกองทุน Fund for European Aid to the Most Deprived เมื่อเดือน พ.ค. ๒๕๖๓ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้เปราะบางได้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนถ่ายโอนงบประมาณระหว่างโครงการและกองทุนต่างๆ ของ EU

  ๕.๓ การออกแนวปฏิบัติว่าด้วยการคัดกรองการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) และการซื้อกิจการเพื่อเข้าควบคุมหรือสร้างอิทธิพลในสินทรัพย์และเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อ EU ในช่วงวิกฤต ซึ่งมีผลใช้บังคับเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ ๑๑ ต.ค. ๒๕๖๓ ขณะนี้ มีประเทศสมาชิกจำนวน ๑๔ ประเทศที่มีกลไกคัดกรองดังกล่าว

* * * * * * *

 

กรมยุโรป
กองสหภาพยุโรป
๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

 

(Credit รูปภาพปก: https://www.healtheuropa.eu/innovating-and-knowledge-sharing-to-tackle-covid-19-in-europe/99785/