ผลการสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่าง PCA ไทย-อียู

ผลการสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่าง PCA ไทย-อียู

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 มี.ค. 2566

| 877 view

ผลการสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่าง PCA ไทย-อียู
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

 

ภาพรวม

          เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ระหว่างเวลา 09.00-12.45 น. กรมยุโรปได้จัดการสัมมนากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก (PCA ไทย-อียู) ที่ รร. เดอะ สุโกศล มีผู้เข้าร่วมกว่า 120 คน จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม โดย (1) ในช่วงพิธีเปิด มีการกล่าวถึงกระบวนการจัดทำ PCA มุมมองของอียูต่อภูมิภาค และความสัมพันธ์ไทย-อียูในภาพรวม (2) ในช่วงการสัมมนาแบบเต็มคณะ ผู้ร่วมสัมมนาได้นำเสนอสรุปเนื้อหาของร่างกรอบความตกลงฯ และอธิบายถึงความสำคัญและประโยชน์ต่อไทย รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำไปปฏิบัติ และ (3) ในช่วงการสัมมนากลุ่มย่อย ได้หารือในประเด็นความร่วมมือใน 3 ด้าน ได้แก่ (ก.) นโยบายการค้าและมาตรฐาน (ข.) การเมืองและความมั่นคง และ (ค.) ความร่วมมือรายสาขาอื่น ๆ เช่น สาธารณสุข ICT เป็นต้น

          การสัมมนาฯ บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลและรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสและข้อท้าทายในความร่วมมือกับอียูภายใต้ร่าง PCA ไทย-อียู ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติตามร่างกรอบความตกลงต่อไป

 

ประเด็นสำคัญที่มีการหยิบยกในช่วงการสัมมนาแบบเต็มคณะ (Plenary Session)

  • PCA ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเป็นความตกลงที่อียูจะเสนอทำกับประเทศหุ้นส่วนสำคัญเพื่อจัดระบบความสัมพันธ์ และวางแผนงานความร่วมมือแบบกว้าง ๆ ซึ่งเมื่อไทยพิจารณาข้อเสนอนี้ของอียูก็เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อไทยด้วยเช่นกัน
  • ประโยชน์ของอียู คือ การยกระดับความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดจนมาตรฐาน
    ในด้านต่าง ๆ ของไทย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการเจรจา FTA กับอียู นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการแบ่งปันองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยด้วย เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, การท่องเที่ยว, การส่งเสริมสิทธิสตรี เป็นต้น โดยถือเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และความร่วมมือที่สมดุล
  • การจัดทำ PCA คำนึงถึงกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ตลอดจนเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ สองฝ่ายมีความเท่าเทียมในการเจรจา และเนื้อหามีความสมดุลและเอื้อประโยชน์ให้ทั้งสองฝ่าย (win-win)
  • การนำ PCA ไปปฏิบัติควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการเยียวยาผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้ ไทยเองก็สามารถมีส่วนในการกำหนดบรรทัดฐานในเรื่องต่าง ๆ ได้เช่นกัน เช่น หลักการวางคนเป็นศูนย์กลาง หลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นต้น
  • ความร่วมมือไทย-อียูภายใต้ PCA สะท้อนการยึดมั่นในค่านิยมสากลร่วมกัน โดยเฉพาะหลักการภูมิภาคนิยม และระเบียบระหว่างประเทศที่อิงกฎเกณฑ์ แสดงให้เห็นถึงความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมภายใต้บริบทที่อียูต้องการเพิ่มบทบาทในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในขณะนี้

 

ข้อเสนอแนะในการนำร่างกรอบความตกลง PCA ไปปฏิบัติ

  • กรณีประมง IUU การยอมรับมาตรฐานบางอย่างของอียู และปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตท้องถิ่น ควรมีความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกับการรักษาแหล่งรายได้ของภาคประมง รวมถึงจัดให้มีการเยียวยาผู้เสียประโยชน์อย่างเหมาะสมด้วย
  • ไทย-อียูมีความร่วมมือในหลายสาขาอยู่แล้ว การดำเนินการตาม PCA จึงควรเน้นการต่อยอดความร่วมมือดังกล่าว
  • ภาครัฐที่เป็นผู้ปฏิบัติควรคำนึงเสมอว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยภาคเอกชนได้อย่างไร และจะได้รับประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมอย่างไร
  • ข้อเสนอความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เช่น (1) ความร่วมมือกับอียูด้านเครื่องสำอางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย BCG (2) ความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมรดกทางธรรมชาติภายใต้กรอบการดำเนินงานของอนุสัญญา UNFCCC
  • ประเด็นเฉพาะด้านที่เป็นข้อห่วงกังวลของผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ อาทิ (1) ความร่วมมือด้านยารักษาโรคอาจนำมาซึ่งการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (CL) (2) ประเด็นที่จะหารือในกรอบการหารือว่าด้วยการรับกลับ และการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงรับกลับ (readmission agreement) (3) ประเด็นที่จะหารือในกรอบการหารือว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยขอให้เป็นประเด็นที่ไทยสามารถนำไปต่อยอดได้ก่อน และ (4) ขอให้คำนึงถึงมิติหญิงชายในการปฏิบัติตาม PCA และเน้นการเสริมพลังสตรี

 

กลุ่มย่อยที่ 1 นโยบายการค้าและมาตรฐาน เวลา 11.20-12.45 น. ณ ห้องกมลทิพย์ 2 และ 3

โอกาสและประโยชน์ที่ไทยได้จาก PCA

  • PCA จะส่งเสริมการหารือ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ capacity building และการให้
    ความช่วยเหลือทางวิชาการ โดยมิได้เพิ่มพันธกรณีมากขึ้นกว่าที่มีอยู่แล้ว
  • สามารถใช้ PCA ในเพิ่มพูนความร่วมมือกับอียูเพื่อการปรับตัวของไทยตามค่านิยมของอียูทั้งใน
    ด้านสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน และการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่อียูมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับไทย
  • ไทยสามารถร่วมมือกับอียูในการนำเทคโนโลยี Carbon Capture, Utilization, and Storage มาพัฒนาใช้ในไทย
  • ไทยสามารถพิจารณาใช้การจัดหมวดหมู่เศรษฐกิจสีเขียว (green taxonomy) ของอียูเพื่อสนับสนุนการลงทุนสีเขียวในไทย
  • เนื้อความใน PCA ในด้านประมงเน้นเปิดโอกาสทางการค้าสินค้าประมงและความร่วมมือด้าน
    การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ และอาจต่อยอดไปสู่การได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการเจรจา FTA โดยใช้ PCA เป็นฐาน โดยมิได้เพิ่มพันธกรณีใด
  • ความร่วมมือกับอียูที่เพิ่มขึ้นจาก PCA จะช่วยไทยในการประเมินแนวโน้มของระเบียบและมาตรฐานของอียูเพื่อให้ไทยสามารถเตรียมการล่วงหน้าได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเอกชนไทยได้
  • ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกรอบ PCA ในการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและประมงใน
    ด้านต่าง ๆ เช่น ความปลอดภัยของอาหาร เป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ด้วย

ความท้าทาย

  • อียูให้ความสำคัญกับประเด็นในบริบทแวดล้อมของการค้า อาทิ สิ่งแวดล้อม และแรงงาน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการค้าโดยตรง แต่อียูมาเกี่ยวโยงกับการค้ามากขึ้น
  • สิ่งท้าทายที่ไทยและอียูต่างเผชิญอยู่เปรียบได้ดั่งคลื่น 4 ลูก ได้แก่ สถานการณ์โควิด
    การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ


กลุ่มย่อยที่ 2 นโยบายการเมืองและความมั่นคง เวลา 11.20-12.45 น. ณ ห้องกมลทิพย์ 1

โอกาสและประโยชน์ที่ไทยได้จาก PCA

  • ใน PCA อียูได้กล่าวถึงประเด็นรากฐานของปัญหาเรื่องการอพยพ โดยอียูให้ความสำคัญต่อหลักการไม่ส่งกลับไปสู่อันตราย (non-refoulement) ซึ่งไทยเคารพและปฏิบัติตามมาโดยตลอด
  • การที่อียูกล่าวถึงหลักการดังกล่าวใน PCA เป็นประโยชน์ต่อไทยในแง่ภาพลักษณ์ เพราะจะช่วยส่งเสริมท่าทีไทยในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงภาคประชาสังคมที่ดูแลประเด็นนี้อาจจะได้รับการสนับสนุนจากอียูเพิ่มมากยิ่งขึ้น
  • ในประเด็นเรื่อง Visa Facilitation Agreement อาจช่วยส่งเสริมไทยในมิติเศรษฐกิจ โดยเป็น
    ข้อแลกเปลี่ยนที่ดีของการจัดทำ Readmission Agreement โดยความตกลงดังกล่าวจะลดเวลาในการขอรับการตรวจลงตราและลดเอกสารบางประเภท

ความท้าทาย

  • ไทยยังไม่มีการบัญญัติความหมายที่ชัดเจนของคำว่า ผู้ลี้ภัย และยังคงใช้แนวปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย/หนีภัยตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง ซึ่งต่างจากอียูที่ให้ความหมายตามอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951
  • แม้ว่าเนื้อหาของ PCA ในเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานอาจไม่ใช่ประเด็นใหม่มากนัก แต่การพูดถึงเรื่องการรับกลับ (Readmission) ผู้ลี้ภัย ยังเป็นประเด็นค่อนข้างใหม่สำหรับไทยเพราะยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โดยมีข้อสังเกตว่า EU อียูใช้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเงื่อนไขการเจรจากับไทยผ่านกรอบต่าง ๆ โดยใน PCA ปรากฏประเด็นสิทธิมนุษยชนอยู่ในหลายข้อและในหลายมิติ การทำความเข้าใจบริบทของสังคมไทยที่แตกต่างจากอียูเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

กลุ่มย่อยที่ 3 ความร่วมมือรายสาขาอื่น ๆ เวลา 11.20-12.45 น. ณ ห้องกมลฤดี

โอกาสและประโยชน์ที่ไทยได้จาก PCA

ด้านสาธารณสุข

  • PCA เปิดโอกาสให้ไทยสามารถแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติเป็นเลิศเรื่องยาการแพทย์ รวมทั้งไทยอาจจัดทำ POA หรือ Joint Action Plan หรือตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อขับเคลื่อนและแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ
  • ไทยไม่ได้เป็นเพียงฝ่ายรับจากอียู แต่มีความเด่น เป็นเลิศ และมาตรฐานด้านสาธารณสุขสูง โดยไทยและอียูสามารถแลกเปลี่ยนสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ความร่วมมือด้านการวิจัย นวัตกรรม การศึกษา

  • ไทยสามารถขยายความร่วมมือด้าน STI มากขึ้น ซึ่ง PCA จะช่วยให้เข้าถึง sharing research infrastructure ของอียูมากขึ้น โดยปัจจุบันไทยมีความร่วมมือด้านการวิจัยกับอียูหลายโครงการ เช่น
    (1) Southeast Asia-Europe Joint Funding Scheme for Research and Innovation (JFS) (2) ความร่วมมือกับ European Research Council ด้านการแลกเปลี่ยนฝึกฝนนักวิจัย และ (3) Horizon Europe ทุนวิจัยใหญ่ของยุโรป ไทยได้รับงบประมาณวิจัยกว่า 5 ล้านยูโร ที่ผ่านมาได้รับการอนุมัติโครงการมากขึ้นเรื่อย ๆ

ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี

  • PCA จะส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ digital trade ในอนาคต ไทยสามารถเรียนรู้ความก้าวหน้าของอียูด้านกฎระเบียบที่ชัดเจนและทันสมัยผ่านการดูงานเพื่อเรียนรู้ด้าน digital start-up ส่งเสริมความตระหนักรู้ในด้านดิจิทัล และการทำโครงการวิจัยร่วมกัน เป็นต้น
  • PCA เปิดโอกาสให้ไทยสามารถศึกษาโครงข่ายการขนส่งทางรางของยุโรป รวมทั้งด้าน SME การผลิตอาหารที่ยั่งยืน และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

*******

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ