ถาม-ตอบ เรื่องร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-EU ภายใต้ความสัมพันธ์ไทย-EU ยุคใหม่

ถาม-ตอบ เรื่องร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-EU ภายใต้ความสัมพันธ์ไทย-EU ยุคใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 มี.ค. 2566

| 2,083 view

ถาม-ตอบ เรื่องร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-EU ภายใต้ความสัมพันธ์ไทย-EU ยุคใหม่

 

  1. ยุคใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรป (European Union: EU)?

          ภายใต้บริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ EU ในฐานะคู่ค้าอันดับ ๕ รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และนักลงทุนสะสมอันดับที่ ๒ ของไทย กำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างรอบด้านเพื่อยกระดับการเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญและไว้วางใจได้ในบริบทโลก

          การเจรจาร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement) หรือที่เรียกย่อว่า PCA นี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยจะจัดระเบียบความสัมพันธ์กับ EU ให้มีแบบแผนและลงรายละเอียดในแต่ละประเด็น ให้ความร่วมมือมีกรอบทางกฎหมายรองรับ และมีทิศทางชัดเจน เพื่อมุ่งไปสู่การยกระดับเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกประเด็น ทำให้ประเทศและคนไทยได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practices) ของ EU เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของไทยของประชาคมอาเซียน พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ตลอดจนพัฒนาระบบจัดการในประเทศให้มีความทันสมัยทัดเทียมสากลต่อไป

 

  1. PCA คืออะไร?

          Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement หรือ PCA มีชื่อทางการว่า Framework Agreement on Comprehensive Partnership and Cooperation between the European Union and its Member States, of the one part, and the Kingdom of Thailand, of the other part หรือกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย

         PCA เป็นกรอบความตกลงที่ไทยจัดทำร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) และประเทศสมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานในการขยายความร่วมมือระหว่างกันในสาขาต่าง ๆ ให้มีทิศทางและแบบแผนในระยะยาว บนหลักการที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกัน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เช่น การเคารพหลักการสากลต่าง ๆ ด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน นิติรัฐและนิติธรรม เศรษฐกิจที่เปิดเสรี การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้ การที่ทั้งสองฝ่ายมีกรอบความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การดำเนินความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนใกล้ชิดระหว่างไทยกับ EU และประเทศสมาชิก เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในเวทีโลก

 

  1. PCA มีโครงสร้างอย่างไร?

         PCA ครอบคลุมสาขาความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างไทยกับ EU ได้แก่ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข ประกอบด้วย ส่วนอารัมภบท, 64 ข้อ (Article) ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 หัวข้อ (Title) ได้แก่ (1) ขอบเขตและหลักการทั่วไป (Nature and Scope) (2) ความร่วมมือระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค (Bilateral and Regional Cooperation) (3) ความร่วมมือในประเด็นการค้าและการลงทุน (Cooperation on Trade and Investment Issue) (4) ความร่วมมือด้านยุติธรรม เสรีภาพ และความมั่นคง (Cooperation in the Area of Justice, Freedom and Security) (5) ความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ (Cooperation in other Sectors) (6) เครื่องมือสำหรับความร่วมมือ (Means of Cooperation) (7) กรอบความร่วมมือเชิงสถาบัน (Institutional Framework) (8) ข้อบทสุดท้าย (Final Provisions), และแถลงการณ์ร่วม (Joint Declaration) 2 ข้อ ต่อท้ายอันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกรอบความตกลง PCA

 

  1. ทำไมไทยจึงตัดสินใจทำ PCA กับ EU และรัฐสมาชิก?

         PCA จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ EU และรัฐสมาชิกให้ก้าวไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนรอบด้านและพันธมิตรที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดย PCA เปรียบเสมือนตัวชี้วัดว่า ไทยยึดมั่นและสนับสนุนค่านิยมพื้นฐานทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นสากลของ EU รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ (key strategic partner) ในภูมิภาคนี้ได้ พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และศักดิ์ศรีของประเทศในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ PCA ยังเป็นการโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติของ EU เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านต่าง ๆ ของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

  1. PCA มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือไม่?

         PCA ถือเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยกำหนดพันธกรณีระหว่างคู่ภาคีไว้เพื่อเป็นพื้นฐานความร่วมมือระหว่างกันในลักษณะกว้าง ๆ มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติตาม และมีเนื้อหามุ่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในหลากหลายสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน จึงอยู่ในดุลพินิจของทั้งสองฝ่ายที่จะใช้กรอบความตกลง PCA เป็นเครื่องมืออย่างสร้างสรรค์ในการกระชับความร่วมมือ โดยประเด็น/สาขาความร่วมมือที่ปรากฏใน PCA ถือเป็นสาขาที่สองฝ่ายให้ความสำคัญอันดับต้น และสามารถหารือเพื่อขยายความร่วมมือไปยังสาขาอื่นได้

 

  1. การกำหนดสาขาความร่วมมือใน PCA มีที่มาอย่างไร?

         เนื้อหาของ PCA ไม่ใช่ประเด็นใหม่ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมสาขาความร่วมมือที่ไทยดำเนินการกับ EU และประเทศสมาชิกอยู่แล้ว ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาก็เป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจ หรือเป็นนโยบายใหม่หรือค่านิยมที่ EU ให้ความสำคัญ เช่น ระบบผลิตอาหารที่ยั่งยืน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การค้าดิจิทัล ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ฝ่ายไทยจะได้เรียนรู้การดำเนินการในประเด็นเหล่านี้จากฝ่าย EU ด้วย

 

  1. PCA สำคัญอย่างไรต่อการจัดทำความตกลง FTA กับ EU?

         PCA มิใช่การเจรจาเพื่อเปิดตลาดหรือเพื่อยอมรับมาตรฐานทางการค้าที่ EU กำหนดแต่ฝ่ายเดียว แต่เป็นการกำหนดแผนความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการค้าด้วย  PCA จึงเป็นเอกสารที่รับประกันว่าไทยมีค่านิยมและแนวทางการยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ สอดคล้องกับ EU และแนวทางการพัฒนาของทั้งสองฝ่ายจะเอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบและมาตรฐานที่เหมาะต่อการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนอย่างเท่าเทียมกัน (“level playing field”) ซึ่งจะเอื้อต่อการเรียกความเชื่อมั่นของฝ่าย EU ในการเจรจา FTA ของไทยต่อไปด้วย

 

  1. ประโยชน์ของ PCA ต่อภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และคนไทย?

         ความร่วมมือภายใต้ PCA ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ โดยมุ่งเน้นยกระดับการบริหารจัดการในสาขาต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพขึ้น รวมถึงการปรับกฎระเบียบของไทยให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ดังนั้น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และคนไทย จะได้รับประโยชน์ในทางอ้อมจากความร่วมมือภายใต้ PCA

 

  1. EU และรัฐสมาชิกได้ประโยชน์อะไรจากการทำ PCA กับไทย?

         PCA เป็นกรอบความตกลงที่ฝ่าย EU ผลักดันให้มีขึ้นกับทุกประเทศที่ EU ต้องการจะยกระดับความสัมพันธ์ โดยใช้เป็นพื้นฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ต่อไป ขณะเดียวกัน ก็หวังจะให้ PCA เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจว่า ประเทศคู่เจรจามีค่านิยมและอุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องกับค่านิยมพื้นฐานของตน เช่น การเชิดชูหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล ฯลฯ ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ที่ใช้การหารือด้านนโยบาย (policy dialogue) และการแบ่งปันองค์ความรู้ (knowledge sharing) ในลักษณะหุ้นส่วน

 

  1. PCA ถือเป็นนโยบายการต่างประเทศของ EU หรือไม่?

         PCA เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมของ EU (Common Foreign and Security Policy: CFSP) โดย EU มีท่าทีค่อนข้างชัดเจนในหลายประเด็นที่พยายามผลักดันในการเจรจากับ
ทุกประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการเคารพสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความร่วมมือในการต่อต้านอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง EU ต้องการการสนับสนุนจากไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง EU มีผลประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ จึงต้องการให้ไทยเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนใกล้ชิดของตนในภูมิภาคนี้

                  

  1. EU จัดทำ PCA กับประเทศอาเซียนใดแล้วบ้าง?

         ขณะนี้ EU ได้บรรลการเจรจากรอบความตกลง PCA ร่วมกับประเทศในอาเซียนแล้ว 6 ประเทศ (รวมไทย) ได้แก่ อินโดนีเซีย (ค.ศ. 2014) สิงคโปร์ (ค.ศ. 2014) เวียดนาม (ค.ศ. 2016) ฟิลิปปินส์ (ค.ศ. 2017) มาเลเซีย (ค.ศ.2022) และไทย (ค.ศ 2022) อนึ่ง ทั้งหมดเจรจาเสร็จสิ้นแล้ว แต่มีสถานะการลงนาม การรอให้สัตยาบัน และการบังคับใช้ แตกต่างกัน

 

*******

   


ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง