วันที่นำเข้าข้อมูล 5 พ.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
ผลการจัดการสัมมนา ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity
เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนา ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity ณ โรงแรม Pullman Bangkok King Power กรุงเทพฯ โดยมี นางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา และ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นาย Gil S. Beltran ปลัดกระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์ นาย Pirkka Tapiola เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM) องค์การระหว่างประเทศ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเยาวชน จากภูมิภาคเอเชียและยุโรปเข้าร่วมกว่า ๒๕๐ คน
ในช่วงพิธีเปิด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัลอย่างยั่งยืนร่วมกันระหว่างสองภูมิภาค ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในกรอบ ASEM โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงการจัดสัมมนานี้ ระหว่างการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ ๑๘-๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ พร้อมทั้งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของไทยในฐานะประธานอาเซียนประจำปี ๒๕๖๒ ในการเสริมสร้างความยั่งยืนและความเชื่อมโยงในทุกมิติ ตามที่ไทยได้ประกาศไว้ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ ณ กรุงเทพฯ และการประชุมผู้นำ G20 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ภาคเอกชน และสถาบันต่าง ๆ โดยคำนึงถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียและยุโรปมีความสำคัญในด้านความมั่นคง สันติภาพ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเอเชียและยุโรปที่จะได้หารือถึงแนวทางที่เอเชียและยุโรป จะมีความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ สำหรับประชาชน เพื่อรับมือกับ ความท้าทาย ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลจำเป็นที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประชาชน รวมถึงต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับประชาชนสำหรับอาชีพในอนาคต นอกจากนี้ ยังเสนอให้เอเชียและยุโรปร่วมมือกันในการส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์เพื่อเสริมสร้างความเชื่อใจกันและส่งเสริมธรรมาภิบาลทางดิจิทัลร่วมกันด้วย
นอกจากการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนระดับสูงอื่น ๆ แล้ว ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และนักวิชาการ ทั้งจากภูมิภาคเอเชียและยุโรป ได้เข้าร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในระหว่างการอภิปรายภายใต้หัวข้อหลัก ๓ หัวข้อ ได้แก่ (๑) การส่งเสริมทักษะสำหรับทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล (๒) การส่งเสริมการพัฒนาด้านการตลาดและเศรษฐกิจดิจิทัล และ (๓) ความมั่นคงด้านดิจิทัลและความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนระหว่างเอเชียและยุโรป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เน้นถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก ASEM ในการส่งเสริมศักยภาพของบุคลากร เพื่อรองรับความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลที่ยั่งยืนด้วย ซึ่งประเทศไทยจะได้นำข้อเสนอแนะและผลลัพธ์จากการประชุมรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๑๔ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ ที่กรุงมาดริดต่อไป
*************************
สามารถดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมสำหรับงานสัมมนาได้ที่: https://drive.google.com/drive/folders/1jXi9gTrdwQGrZWJA8wMWVfgzg8I2iECe
รูปภาพประกอบ
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์)