ASEM Meeting on “Sustainable Marine Environment: Marine Debris” (รวม Power Point สัมมนา)

ASEM Meeting on “Sustainable Marine Environment: Marine Debris” (รวม Power Point สัมมนา)

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 7,420 view

  


 

          กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM Meeting on Sustainable Marine Environment: Marine Debris เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ณ กรุงเทพฯ สรุปสาระสำคัญของการประชุมฯ ดังนี้

                1. การประชุมฯ เป็นการต่อยอดจากการประชุม ASEM Inter-Regional Partnership for Sustainable Development ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2560 ณ กรุงเทพฯ โดยการประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 180 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกเอเชีย-ยุโรป (ASEM) องค์การระหว่างประเทศ ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิจัย สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ท้องถิ่นและเยาวชน

                2. การประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างภูมิภาคเอเชียกับยุโรปในการจัดการกับปัญหาขยะทะเล รวมทั้งส่งเสริมหลักการสมุทราภิบาล (Ocean Governance) และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

                3. รูปแบบของการประชุมฯ ประกอบด้วย การประชุมหารือ (1) วาระที่ 1 ภายใต้หัวข้อ Global and Regional Status and Impacts of Marine Debris ซึ่งเป็นการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนระดับสูง (High-Level Session) เกี่ยวกับสถานะและผลกระทบของขยะทะเลในระดับภูมิภาคและระดับโลก (2) วาระที่ 2 ภายใต้หัวข้อ Workshop and Discussion on Marine Debris Reduction Management Plan for Asia and Europe ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะทะเลของผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะผู้แทนจากสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และ (3) วาระที่ 3 ภายใต้หัวข้อ Sustainable Marine Environment, Innovative Technologies and Solution to Prevent, Clean, and Reduce Marine Debris for Asia and Europe ซึ่งเป็นการนำเสนอนวัตกรรมและประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหาขยะทะเลของผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศในเอเชียและยุโรป

                4. ระหว่างพิธีเปิดการประชุม นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง  

การต่างประเทศได้กล่าวถึงท่าทีและบทบาทของไทยที่ให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 14 ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล   โดยที่ผ่านมา ไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายและการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยเฉพาะการรับมือกับปัญหาขยะทะเลมาอย่างต่อเนี่อง และโดยที่ปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาข้ามพรมแดน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเอเชียกับยุโรปสามารถร่วมมือกันหามาตรการระดับโลกเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืนได้  ทั้งนี้ ในฐานะที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ไทยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนและส่งเสริมการแก้ไขปัญหาขยะทะเล

                 5. ที่ประชุมได้หารือและมีความเห็นร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

                    5.1  ที่ประชุมได้รับทราบถึงผลกระทบของปัญหาขยะทะเลโดยเฉพาะขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกและสัตว์ทะเล และเห็นว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องอาศัยมาตรการร่วมกันของทุกหน่วยงานและผู้คนทั่วโลกในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต การบริโภค และการผลิต

                    5.2 ที่ประชุมเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมความตระหนักรู้ของภาคประชาชน ประชาสังคม และภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับผลกระทบของขยะทะเล รวมถึงการพัฒนาแนวทางการจัดการขยะจากบนบก การใช้วัสดุทดแทนพลาสติกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี และการจัดทำกรอบกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับการจัดการมลพิษและของเสียในพื้นที่ต่าง ๆ

                    5.3 ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนโยบายการแก้ไขปัญหาขยะทะเลร่วมกันในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก และความคิดริเริ่มในระดับบุคคล ชุมชนและอุตสาหกรรมเพื่อจัดการกับปัญหาขยะทะเลจากทั้งประเทศในเอเชียและยุโรป เช่น ระบบการจัดการขยะแบบคู่ขนาน (Dual System Germany Ltd.) ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่จะร่วมกันรีไซเคิลขยะจากบรรจุภัณฑ์ร่วมกันในเยอรมนี การวิจัยเพื่อควบคุมขยะทะเลของจีน แนวคิดเชิงนวัตกรรมสร้างสรรค์ใน  การจัดการกับปัญหาขยะทะเลของบริษัทชั้นนำของไทย เช่น บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ บริษัทพีทีที โกลบอล   เคมิคอล และบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) การจัดการกับปัญหาขยะทะเลบนเกาะพีพีของชุมชนท้องถิ่น โครงการ Fishing for Litter Initiative ขององค์กร KIMO International และการส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลของภาคประชาสังคมจากกลุ่ม Trash Hero Thailand

                    5.4 ที่ประชุมตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินการร่วมกันและประสานงานกันระหว่างประเทศสมาชิก ASEM รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของ ASEM ในการเป็นเวทีสำหรับการหารือของหุ้นส่วนต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและขยะพลาสติก

                6. ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการบริหารจัดการขยะทะเลจากประเทศสมาชิก ASEM ซึ่งข้อคิดเห็นต่าง ๆ ได้นำมาใช้ในการจัดทำ “ข้อเสนอแนะแผนดำเนินการเพื่อลดขยะทะเลในเอเชียและยุโรป” (Proposal for Management Plan for Marine Debris Reduction in Asia and Europe) ซี่งประกอบด้วย (1) แนวทางการส่งเสริมความเข้มแข็ง

ด้านนโยบายเพื่อลดปัญหาขยะทะเลจากต้นทาง อาทิ กิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ การให้สิทธิประโยชน์ การลดและเลิกการใช้พลาสติก (2) แนวทางการจัดทำมาตรการป้องกัน การลดการใช้และการจัดการขยะพลาสติก เช่น การดำเนินงานในพื้นที่นำร่องในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับภูมิภาคด้านการจัดการขยะการเร่งศึกษาวิจัยฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพและผลกระทบของมลภาวะจากขยะทะเล การกำหนดมาตรการในการกำจัดขยะทะเล การสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจแบบครบวงจร (Circular Economy) สำหรับการผลิตและจัดการพลาสติก และ (3) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน และสาธารณชนในการแก้ไขปัญหาขยะทะเล และรณรงค์สร้างจิตสำนึก การเพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล

                7. ในโอกาสเดียวกันนี้ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ UN Environment  บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท     สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัทกลุ่ม เซ็นทรัล จำกัด กลุ่มทะเลจร และ Scrap Shop จัดนิทรรศการ “#INSEA – The Day the Ocean Is Without Plastic!” ณ ชั้น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2561 เพื่อนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และความริเริ่มสร้างสรรค์สำหรับการจัดการกับปัญหาขยะทะเล เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของปัญหานี้ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจในการคิดเชิงนวัตกรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบันแก่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชน

 

************************

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

news-20180808-165735-207282.pptx
news-20180810-114031-231949.ppt
news-20180810-114034-643383.ppt
news-20180810-114036-670672.pptx
news-20180810-114045-997999.pptx
news-20180810-114047-392508.pptx
news-20180810-114048-718018.pptx
news-20180810-114119-956101.pptx
news-20180810-114123-030164.pptx