บทความของผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (HR/VP) เรื่อง “The events in Washington and what it means for Europe”

บทความของผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (HR/VP) เรื่อง “The events in Washington and what it means for Europe”

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 897 view

        เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2564 นาย Josep Borrell ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (HR/VP) ได้เผยแพร่บทความแสดงความเห็นต่อเหตุจลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 (ค.ศ. 2021) ซึ่งมีนัยท้าทายต่อระเบียบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและต่อยุโรป สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

        ในบริบทโลกยุคโลกาภิวัตน์ การปล่อยข้อมูลที่บิดเบือน (disinformation) ได้กลายเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อระบอบประชาธิปไตย และจากข้อสันนิษฐานที่ว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างอิสระจะนำไปสู่การสร้างประชาคมทางการเมืองที่สามารถตัดสินใจร่วมกันได้นั้น หากข้อมูลล้มเหลวประชาธิปไตยก็จะล้มเหลวตามไปด้วย อย่างไรก็ดี การปล่อยข้อมูลที่บิดเบือนบนโลกออนไลน์ แตกต่างจากการใช้โฆษณาชวนเชื่อในแบบดั้งเดิมเนื่องจากเป็นการสร้างความจริงคู่ขนานที่ถูกปลูกฝังซ้ำ ๆ และหล่อหลอมเป็นพฤติกรรมของประชาชนบนพื้นฐานข้อมูลที่บิดเบือน

        เหตุจลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ จึงถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญของการที่ผู้มีอำนาจกระทำการบั่นทอนสถาบันประชาธิปไตยโดยการปล่อยข้อมูลที่บิดเบือนและข่าวปลอม ละเมิดความเป็นอิสระของสถาบันทางการเมือง ปลุกปั่นแนวคิดประชานิยม ตลอดจนส่งเสริมวาจาที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) จนนำไปสู่ความรุนแรง ดังนั้น การต่อต้านข่าวปลอมในสื่อออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับประกันสิทธิของประชาชนในการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง จึงเป็นประเด็นที่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยทั่วโลกควรให้ความสำคัญ

        ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปจึงได้รับรอง European Democracy Action Plan เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่บั่นทอนสถาบันในระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งเร่งดำเนินการในการพัฒนาแนวทางการควบคุมเนื้อหาบนสื่อโซเชียลที่จะไม่เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้เสนอ European Digital Services Act เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 เพื่อรับมือกับข่าวปลอมในสื่อดิจิทัลควบคู่กันไปด้วย

        นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังเห็นว่า กระแสต่อต้านสถาบันประชาธิปไตยมีต้นเหตุมาจากความรู้สึกไม่ได้รับการปกป้องของกลุ่มผู้ไม่ได้รับความเท่าเทียมในสังคมและเสียประโยชน์ในเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อย จึงได้กำหนดมาตรการด้านเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว พร้อมทั้งมุ่งสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในภูมิภาคยุโรป โดยการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตการณ์ด้านโรคระบาดในปัจจุบัน ผ่านข้อริเริ่มและกรอบงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป หรือ Next Generation EU (NGEU)

        ปัจจัยที่เป็นความท้าทายต่อการคงไว้ซึ่งการเป็นสังคมเปิดและเป็นประชาธิปไตย คือ ความสำเร็จในการปรับโฉมโลกาภิวัตน์และการฟื้นฟูระบบพหุภาคีที่สามารถรับมือกับภาวะความบกพร่องต่าง ๆ ที่ได้บั่นทอนคุณค่าประชาธิปไตยในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยจะต้องยึดถือเป็นหัวใจในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งรวมไปถึงการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่ยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตยทั่วโลก ในการรักษาไว้ซึ่งศรัทธาต่อการเผชิญอุปสรรคขวากหนาม โดยไม่ยอมจำนนต่อผู้นำประชานิยม และเปลี่ยนแปลงแนวคิดร่วมเพื่อต่อต้านกระแสประชานิยมต่อไป


สืบค้นบทความฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://eeas.europa.eu/headquarters/headquarters-homepage/91278/events-washington-and-what-it-means-europe_en

************

กองสหภาพยุโรป
กรมยุโรป
มกราคม 2564