วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ม.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565
เดือนธันวาคม 2563 นี้ นับเป็นเวลาครบรอบ 5 ปีนับตั้งแต่ที่ประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้รับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ซึ่งเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกได้ตั้งเป้าหมายขั้นพื้นฐานร่วมกันที่จะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียส โดยแต่ละประเทศสามารถนำเสนอแผนงานที่ประเทศกำหนด (Nationally determined contributions: NDCs) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการปรับเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้สูงขึ้นทุก ๆ 5 ปี เพื่อเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุด
ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 หลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นว่า ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขระดับโลกครั้งนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกทำให้สัตว์ต้องย้ายถิ่นฐานและพบเจอกับสัตว์ต่างประเภท อันเป็นการเพิ่มโอกาสที่ทำให้เกิดเชื้อโรคใหม่
สหภาพยุโรปย้ำว่า วิกฤตโควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นถึงความเร่งด่วนที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยในปีนี้ สหภาพยุโรปได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว European Green Deal พร้อมกับตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 55 ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และลดเหลือศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) นโยบายสีเขียวของสหภาพยุโรปดูจะได้รับการตอบรับดีจากประเทศยักษ์ใหญ่ฝั่งเอเชีย โดยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ตั้งเป้าเดียวกับสหภาพยุโรป คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ในขณะที่จีน (ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก) ได้ประกาศที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2603 (ค.ศ. 2060)
ข่าวดีอีกเรื่องมาจากฝั่งนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ออกมาแถลงจุดยืนที่จะพาสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงปารีสทันทีที่เข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในขณะที่สหราชอาณาจักร ซึ่งแม้ว่ากำลังจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit จะเริ่มมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2564) แต่รัฐบาลนายบอริส จอห์นสันก็ยืนยันที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปต่อไปในเรื่องการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 68% ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และลดลงเหลือศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) เช่นกัน นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรได้ประกาศว่าจะห้ามจำหน่ายรถยนต์เครื่องสันดาปภายในตั้งแต่ปี 2573 และเพิ่งประกาศว่าจะหยุดสนับสนุนโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป
ล่าสุด ในการจัดงานออนไลน์ครบรอบ 5 ปี ของความตกลงปารีส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 นาย Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้ทุกชาติทั่วโลกประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ โดยระบุว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่โลกปล่อยยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง พร้อมเร่งให้ทุกฝ่ายผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงปารีส
แม้ว่าความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนยังมีอุปสรรคอยู่มาก แต่ความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาของประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นลำดับต้น ๆ อย่างจีน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า ผู้นำโลกต่างให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและต้องการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศตนเองหลังสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเหล่านี้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ความมั่นคง การค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงน่าจะมีประเด็นภาวะโลกร้อนสอดแทรกอยู่ด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
*****************
ที่มา:
https://www.euractiv.com/section/energy-environment/opinion/time-to-step-up-5-years-on-from-paris/
https://www.politico.eu/article/un-chief-complains-that-far-from-enough-being-done-on-climate/
ขอขอบคุณทีมงาน Thaieurope.net
รูปภาพประกอบ
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์)