เศรษฐกิจชีวภาพด้านป่าไม้ของฟินแลนด์ (Forest bioeconomy) ประสบความสำเร็จอย่างมากและกลายเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศอื่น ๆ ในเรื่องระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (sustainable growth) และการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่
1. การตัดไม้แบบคัดเลือก (selective logging) โดยเลือกตัดเฉพาะต้นไม้ที่โตเต็มที่หรือใกล้ตาย ซึ่งจะช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและการทำงานของระบบนิเวศ
2. อุตสาหกรรมการตัดไม้ของฟินแลนด์เน้นการใช้นวัตกรรมและเครื่องจักรกลเพื่อลดปริมาณการใช้แรงงานและย่นเวลาให้ได้มากที่สุด โดยการตัดไม้ในพื้นที่ใช้คนงานเพียง 2 คน ได้แก่
(1) คนตัดไม้โดยใช้ หัวตัดไม้ที่ได้ตั้งโปรแกรมการตัดแต่ละประเภทและขนาดไว้แล้ว โดยใน 1 นาที เครื่องจะสามารถตัดไม้ได้ 2 ต้น
(2) คนขนไม้ที่ทำหน้าที่ขับรถลากไม้เพื่อนำออกจากพื้นที่และคัดแยกไม้ออกเป็นกลุ่ม ๆ
3. นวัตกรรมการตัดไม้ของบริษัทเอกชนในฟินแลนด์ ผู้สั่งซื้อไม้สามารถระบุต้นไม้จากป่ากับบริษัทผู้รับตัดไม้ได้โดยตรงว่าต้องการเอาต้นใด ซึ่งบริษัทจะใช้ระบบ mapping เพื่อหาต้นไม้ตามความต้องการของลูกค้า จากนั้นจึงสั่งตัด คัดแยก และนำส่ง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ซื้อได้ไม้ได้ตรงกับความต้องการที่จะนำไปแปรรูปหรือผลิตเฟอร์นิเจอร์ได้โดยไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร
4. ป่าไม้ของฟินแลนด์ส่วนใหญ่เป็นป่าปลูกที่มีพืชตระกูลสนเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้เทคโนโลยี การตัดไม้ของฟินแลนด์เน้นการตัดไม้ที่มีลักษณะลำต้นตรง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 15 ซม. และไม่มีกิ่งก้านใหญ่มากนัก
5. ภาคเอกชนฟินแลนด์ เช่น Stora Enso, UPM และ Metsä Group เป็นผู้นำการให้บริการอุตสาหกรรมป่าไม้โดยการผลิตเครื่องจักรกลป่าไม้ การให้คำปรึกษาบริษัทป่าไม้ระหว่างประเทศ และการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปปรับใช้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการนำวัสดุชีวภาพกลับมาใช้ใหม่ จนทำให้ปัจจุบันอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับฟินแลนด์ด้วยการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ กระดาษแข็ง วัสดุบรรจุภัณฑ์ และไม้แปรรูป
6. เศษไม้และเศษเหลือจากการแปรรูปไม้ถูกนำมาใช้เพื่อผลิตไบโอดีเซลจากไม้และไบโอออยล์ และมีการคิดค้นนวัตกรรมการใช้เส้นใยไม้เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทำจากไม้ ได้แก่ ไมโครไฟบริล นาโนเซลลูโลส ไม้อัดที่ขึ้นรูปได้ กระดาษแข็งที่ขึ้นรูปด้วยความร้อน และ bio composites ที่รวมไม้และเส้นใยเข้ากับวัสดุอื่น
7. มีการนำวัสดุไม้และเส้นใยไปใช้สำหรับยา อาหารเพื่อสุขภาพ พลาสติก เครื่องสำอาง และสิ่งทอ รวมทั้ง มีการแปลงขยะชีวภาพ รวมถึงเศษไม้มาผ่านกระบวนการสลายขยะชีวภาพภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจน เพื่อนำก๊าซไปใช้เป็นพลังงานแก่รถขนส่งสาธารณะ
ข้อมูลอ้างอิงจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ