การเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกี

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,996 view

ตามที่ตุรกีจะเป็นเจ้าภาพจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันที่ 24 มิถุนายน 2561 โดยมีผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งทั้งหมด 6 ราย จนถึงขณะนี้ ได้แก่ 1) นาย Recep Tayyip Erdoǧan ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรค AKP (Justice and Development Party) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรค MHP (Nationalist Movement Party) และพรรค BBP (Grand Unity Party) หรือที่เรียกกันว่า People’s Alliance 2) นาย Muharrem Ince จากพรรค CHP (Republican People’s Party) 3) นาย Selahattin Demirtas จากพรรค HDP (Peoples’ Democratic Party) 4) นาย Dogu Perincek จากพรรค Vatan (Patriotic Party) 5) นาย Temel Karamollaoglu จาก พรรค Saadet (Felicity Party) และ 6) นาง Meral Aksener จากพรรค Iyi (Good Party) ทั้งนี้ พรรค CHP พรรค Saadet พรรค HDP และพรรค Iyi ได้ประกาศการจัดตั้งพันธมิตรภายใต้ชื่อ Nation’s Alliance

            นักวิเคราะห์ได้ประเมินท่าทีของผู้สมัครทั้ง 6 ราย ในประเด็นด้านต่างประเทศที่สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ ซีเรีย สหภาพยุโรป(EU) และเยรูซาเล็ม พบว่าผู้สมัครเกือบทุกรายมีแนวนโยบายต่างประเทศไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่ 1) ซีเรีย โดยประธานาธิบดี Erdoǧan ให้สัญญาว่าจะกวาดล้างผู้ก่อการร้ายตามบริเวณแนวพรมแดนทางใต้ของตุรกีให้หมด และคงการสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลซีเรีย รวมทั้งอาจมีปฏิบัติการทางทหารในซีเรียอีกครั้ง(หลังมีปฏิบัติการ Eupharates Shield ในปี 2559-60 และปฏิบัติการ Olive Branch ในปี 2561) นอกจากนั้น ตุรกีจะมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อให้ตุรกีกลายเป็นหนึ่งในขั้วอำนาจที่สำคัญของโลก ในขณะที่นาย Ince  กล่าวว่าจะต่อต้านขบวนการ Gülen กลุ่มก่อการร้าย PKK/ YPG และ DAESH จนถึงที่สุด และเห็นว่าตุรกีควรมีสถานเอกอัครราชทูตในซีเรีย เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้อพยพชาวซีเรียในตุรกีเกือบ 4 ล้านคน และชาวซีเรียเหล่านี้จะต้องทยอยกลับประเทศเมื่อเกิดความสงบ ส่วนนาง Aksener มองว่าการพัฒนาประเทศในภูมิภาคนี้ อาทิ อิรักและซีเรีย จะทำให้ตุรกีแข็งแกร่งไปด้วย นาย Demirtas กล่าวว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในซีเรีย โดยแนวทางตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ นาย Perinçek กลับมีนโยบายต่อซีเรียตรงข้ามกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยประกาศจะพัฒนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลซีเรียหากได้รับการเลือกตั้ง และจะเชิญประธานาธิบดี  Assad มาหารือที่กรุงอังการา เนื่องจากซีเรียเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอิหร่าน รัสเซีย และจีน

              2) สหภาพยุโรป (EU) นาย Erdoǧan กล่าวว่าตุรกีไม่เคยสิ้นหวังกับการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ถึงแม้ว่าบางประเทศสมาชิกจะไม่เห็นความตั้งใจของตุรกี ในขณะที่ นาย Ince มุ่งจะเจรจาเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปให้แล้วเสร็จ และสัญญาว่าจะปรับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ และสหภาพยุโรป ไปในทิศทางเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ สำหรับนาย Demirtas เห็นว่าควรเจรจาเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และรักษาหลักการของสหภาพยุโรป อาทิ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และนิติรัฐ  ตรงข้ามกับ นาย Perinçek ที่ไม่ประสงค์ให้ตุรกีเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เพื่อจะได้ไม่ต้องทำตามสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่เห็นว่า ตุรกียังคงสามารถมีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรปได้

             3) เยรูซาเล็ม ผู้สมัครทุกคนเห็นพ้องว่า ควรสนับสนุนฝ่ายปาเลสไตน์ และต่อต้าน การย้ายสถานเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯไปยังเยรูซาเล็ม โดยนาย Erdoǧan ต้องการให้ชาวปาเลสไตน์มีสันติภาพ และเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศหยุดการกดขี่ในปาเลสไตน์ ส่วนนาง  Aksener กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเยรูซาเล็มไม่ใช่เป็นเพียงประเด็นระดับภูมิภาค แต่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เป็นการสังหารหมู่ ซึ่งรัฐและผู้แทนของรัฐควรดำเนินการมากกว่าการออกข้อความประณาม นาย Karamollaoglu กล่าวในทางเดียวกันว่า การออกข้อความประณามไม่สามารถหยุดการสังหารหมู่ในปาเลสไตน์ และเห็นว่าควรประกาศคว่ำบาตรอิสราเอล นาย Ince กล่าวว่าสหรัฐฯ และอิสราเอลปกป้องชาวมุสลิมแค่ในปาเลสไตน์ ซึ่งตุรกียอมรับไม่ได้ และเสนอให้รัฐสภาตุรกีคว่ำบาตรอิสราเอล ส่วนนาย Perinçek กล่าวว่า เยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์ การต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราช และความมั่นคงของดินแดนของปาเลสไตน์เกี่ยวข้องกับตุรกี ขณะที่นาย Demirtas สัญญาจะสนับสนุนให้ปาเลสไตน์เป็นเอกราช

               ทั้งนี้เป็นที่สังเกตว่าผู้สมัครแทบทุกรายมีมุมมองด้านประเด็นต่างประเทศที่คล้ายคลึงกัน และทำให้พออนุมานได้ว่า รัฐบาลใหม่ของตุรกีไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดคงจะดำเดินนโยบายต่างประเทศที่ไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลชุดปัจจุบันเท่าใดนัก ดังนั้น ปัจจัยที่จะชี้ขาดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้จึงน่าจะอยู่ที่ปัจจัยการเมืองภายใน และเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกระแสความรู้สึกไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลประธานาธิบดี Erdoǧan ในประเด็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนว่าจะมีมากพอที่จะส่งผลให้ประธานาธิบดี Erdoǧan แพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้ได้หรือไม่

               จากผลการสำรวจประชามติของ SONAR พบว่าประธานาธิบดี Erdoǧan ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนร้อยละ 48 ซึ่งเมื่อรวมกับคะแนนเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วม ก็อาจทำให้สามารถชนะการเลือกตั้งในรอบแรกได้ แต่หากต้องมีการเลือกตั้งรอบ 2 ก็มีความเป็นไปได้ว่า พรรคฝ่ายค้านอาจร่วมมือกันสนับสนุนผู้สมัครเพียงรายเดียวเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน

               การเลือกตั้งประธานาธิบดี และสมาชิกรัฐสภาเดิมมีกำหนดจัดขึ้นในเดือน พ.ย. 2562 แต่ประธานาธิบดี Erdoǧan ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งให้กระชั้นชิด อาจเนื่องมาจาก 1) ไม่ต้องการให้พรรคฝ่ายค้านมีโอกาสตั้งตัว และรณรงค์หาเสียงได้ทัน/ สะดวก 2) เกรงว่าหากรอถึงปีหน้า อาจไม่สามารถคุมสมาชิกพรรคไม่ให้เปลี่ยนขั้วพรรคการเมืองได้  3) ปฏิบัติการทางทหาร Olive Branch ในซีเรียประสบความสำเร็จ และประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน จึงต้องการเกาะกระแสความนิยม ซึ่งในชั้นนี้ โอกาสที่ ประธานาธิบดี Erdoǧan จะชนะยังมีอยู่มาก หากสามารถประคับประคองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าเงินลีร่า ภาระหนี้สิน และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไว้ได้

 

***********************************************