แนวทางการพัฒนานครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

แนวทางการพัฒนานครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,491 view

 

          นครแฟรงก์เฟิร์ตเป็น “มหานคร” ที่มีความเป็นสากลเทียบเท่ากับนครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา และกรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักร มีประชากรพำนักอาศัยอยู่กว่า 180 สัญชาติ โดยชาวเยอรมันใน    นครแฟรงก์เฟิร์ตเปิดรับความแตกต่างของคนเชื้อชาติต่าง ๆ ทำให้ประชากรสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

         ในช่วงปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวไปเยือนนครแฟรงก์เฟิร์ตมากขึ้นหนึ่งเท่าตัว นครแฟรงก์เฟิร์ตมีอัตราการว่างงานในระดับต่ำที่สุดในกลุ่มเมืองใหญ่ของเยอรมนี โดยประชากรร้อยละ 90 มีงานทำ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาติ อีกทั้งมีการขยายตัวด้านการก่อสร้าง และเป็นศูนย์กลางด้านการธนาคาร การเงิน และธุรกิจประกันภัย ทั้งนี้ ในปี 2560 นครแฟรงก์เฟิร์ตได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร The Economist ให้เป็นเมืองที่มีความปลอดภัยอันดับที่ 11 ของโลก และมีความมั่นคง ด้านสุขภาพอันดับที่ 3

         นาย Peter Feldmann นายกเทศมนตรีนครแฟรงก์เฟิร์ต ได้กล่าวต่อนักการเมืองท้องถิ่นและผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งจากเยอรมนีและประเทศต่าง ๆ รวมทั้งนางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ กงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ในโอกาสงานเลี้ยงฉลองปีใหม่ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ว่า ผู้บริหารนครแฟรงก์เฟิร์ตตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้นครแฟรงก์เฟิร์ตมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานในช่วงฤดูร้อน และการขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่ทำให้ที่พักราคาแพง จนทำให้ประชากรจำนวนหนึ่งต้องย้ายออกไปพักในเมืองต่าง ๆ รอบนอก และใช้เวลาเดินทางไปทำงานนาน นครแฟรงก์เฟิร์ตจึงออกนโยบาย “Frankfurt 2030” (พ.ศ. 2573) เพื่อพัฒนานครแฟรงก์เฟิร์ตตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวแฟรงก์เฟิร์ต ในระยะยาว

         นโยบาย “Frankfurt 2030” มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนสำหรับประชากรของแฟรงก์เฟิร์ตในระยะยาว (2) รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (3) รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และ (4) สร้างให้นครแฟรงก์เฟิร์ตเป็น มหานครชั้นนำของโลกที่มีเสน่ห์ และเป็นเมืองที่เหมาะสมและเป็นที่สนใจของนักลงทุนจากต่างประเทศ

         เป้าหมายการพัฒนานครแฟรงก์เฟิร์ต แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ (1) คุณภาพชีวิตที่ดี (2) อำนาจทางเศรษฐกิจ (3) เป็นแหล่งการศึกษา การวิจัย และการเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ (4) การบริหารจัดการด้านสภาพแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ และ (5) การเป็นภูมิภาคแห่งอนาคต

         ตัวอย่างของการพัฒนานครแฟรงก์เฟิร์ตตามนโยบายดังกล่าว อาทิ การนำอาคารสำนักงานที่ไม่มี     ผู้พักอาศัยมาปรับปรุงเป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง และร้านค้าสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองภายในปี 2564 การไม่สร้างอาคารในพื้นที่สีเขียว การเพิ่มจำนวนสถานศึกษาและโรงพยาบาล เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวแฟรงก์เฟิร์ต

         แผนการพัฒนาตามนโยบาย“Frankfurt 2030” แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1: ปี 2558 เป็นการประเมินศักยภาพ โอกาส และความเสี่ยงของนครแฟรงก์เฟิร์ต โดยมีการระดมสมองผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ กว่า 30 สาขาอาชีพ มาร่วมวางแผนงาน และกำหนดเป้าหมายร่วมกัน โดยเน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการต่อยอดและสนับสนุนนโยบายการพัฒนานครแฟรงก์เฟิร์ต

ช่วงที่ 2: ปี 2559 เป็นการวิเคราะห์ผลการระดมสมองเพื่อระบุจุดแข็ง จุดอ่อน และอุปสรรคของนครแฟรงก์เฟิร์ต

ช่วงที่ 3: ปี 2560 เน้นการวางแผนและกลยุทธ์สำหรับพัฒนารายพื้นที่

ช่วงที่ 4: ปี 2561 เป็นการจัดทำภาพรวมในอนาคตของนครแฟรงก์เฟิร์ต ในปี ค.ศ. 2030 เพื่อเป็นกรอบการดำเนินนโยบายทั้งในส่วนภาครัฐและการดำเนินการการเมือง โดยตั้งเป้าหมายให้นครแฟรงก์เฟิร์ตเป็น “นครที่เติบโต น่าอยู่อาศัย มีความเจริญทางเศรษฐกิจ ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เดินทางสะดวก เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค”

         นครแฟรงก์เฟิร์ตเน้นเรื่องความโปร่งใสในการวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Frankfurt 2030 โดยมีการประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับขั้นตอนการทำแผนงานโดยละเอียด รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ทางเว็บไซต์ เพื่อสร้างความรับผิดชอบในการพัฒนาร่วมกัน ทั้งนี้ เมืองใหญ่ของโลกส่วนใหญ่โดยเฉพาะในยุโรปมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายสหประชาติ โดยเฉพาะการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในระยะยาวได้

         ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่องการสร้างเมืองให้เป็นเมืองที่ครบทุกมิติ ทั้งการอยู่อาศัย การทำธุรกิจ และการท่องเที่ยว โดยผนวกมิติด้านสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรม กำลังเป็นนโยบายสำคัญของหลายประเทศ ประเทศในภูมิภาคยุโรปหลายประเทศเริ่มมีนโยบายพัฒนาเมืองใหญ่ อาทิ นครแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt 2030) กรุงเวียนนา (Smart Vienna) และกรุงปราก (ยุทธศาสตร์ Smart Prague 2014-2020)

         แนวทางการพัฒนานครแฟรงก์เฟิร์ตอาจเป็นตัวอย่างที่เป็นประโยชน์แนวทางหนึ่งต่อนโยบายเมืองใหญ่ของไทย ซึ่งมีเงื่อนไข ประเด็นท้าทาย และวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน อาทิ การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับหรับคนจนในเขตเมืองใหญ่ นโยบายการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืน การรับมือกับปัญหามลภาวะ สุขอนามัย การคมนาคม อาหาร และพื้นที่สีเขียวของเมือง รวมถึงการสร้างความเป็นเมืองที่ดึงดูดนักลงทุน