มุมมองของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีต่อแนวโน้มการลงทุนในไทย

มุมมองของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีต่อแนวโน้มการลงทุนในไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,570 view
 

          ด้วยสำนักงานส่งเสริมการลงทุนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (German Trade and Invest – GTAI) ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนของนักลงทุนเยอรมันในไทย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

             1.  แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในภาพรวมจากมุมมองของ GTAI

                  เศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีการเจริญเติบโตมากขึ้น ด้วยแรงสนับสนุนจากการลงทุน
ทั้งภาครัฐและเอกชน การส่งออก และการท่องเที่ยว ส่วนปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะยังมีเสถียรภาพและ
จะเจริญเติบโตอย่างน้อยร้อยละ 4.2 โดยมีปัจจัยหนุนคือ การลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุน
ในภาคเอกชน และการส่งออก ในขณะที่การบริโภคภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจะช่วยการกระจายเม็ดเงินไปสู่พื้นที่ชนบทมากขึ้นและช่วยกระตุ้นการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัวให้เติบโตได้ดีขึ้น

             2. โอกาสของนักลงทุนเยอรมันในไทย

                 2.1 จุดแข็งและนโยบายสำคัญของไทย

                       ไทยมีจุดแข็งที่สำคัญ กล่าวคือ ๑) การมีฐานอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ๒) มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ๓) อัตราภาษีค่อนข้างต่ำ ๔) มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่น่าสนใจ และ ๕) เป็นศูนย์กลางการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเชิงบวกสนับสนุน ได้แก่ ๑) นโยบาย
ประเทศไทย 4.0 ที่สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ภาคเอกชนเยอรมันเข้ามาลงทุน ๒) การเปิดเสรีภาคบริการ
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ และ ๓) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

                 2.2 บรรยากาศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของไทยพัฒนาในทางบวก

                       1) การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) - ไทยอยู่อันดับที่ 26 ดีขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 20 อันดับ รวมถึงมาตรการคุ้มครองการลงทุนที่ดีขึ้น

                       2) การจัดอันดับดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index) - ไทยอยู่อันดับที่ 32 ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า 2 อันดับ และ

                       3) การจัดอันดับดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนระหว่างประเทศ (FDI Confidence Index) - ไทยอยู่อันดับที่ 19 ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า 2 อันดับ เป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย รองจากจีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

                 2.3 บรรยากาศด้านการเมือง - ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง แต่ไทยยังเผชิญปัญหา
ขาดแรงงานระยะยาว ทั้งที่มีคุณภาพและแรงงานพื้นฐาน และค่าเงินบาทที่แข็งกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

             3. สาขาที่นักลงทุนเยอรมันมีโอกาสในการทำธุรกิจเพิ่มเติม

                 3.1  ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การประหยัดเชื้อเพลิง โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีผู้ประกอบการเยอรมันได้เริ่มเข้ามาลงทุน
ในไทยแล้ว และไทยมีผู้จัดส่งวัตถุดิบในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ เอกชนเยอรมันยังอาจมีโอกาส
ในการร่วมพัฒนาจุดชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าด้วย

                 3.2  พลังงานทดแทน ในปี 2561 ไทยมีแผนที่จะลงทุนในด้านพลังงานทดแทนกว่า
2.5 พันล้านยูโร (ประมาณเก้าหมื่นห้าพันล้านบาท) นักลงทุนเยอรมันน่าจะมีโอกาสในการขยายการลงทุนหรือ
ขายสินค้าเทคโนโลยีพลังงานทดแทนได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เซลส์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้ผู้ประกอบการรายใหม่ในการสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เหลืออยู่ ซึ่งจะต้องเร่งให้ใช้ให้หมดภายในปี 2561

                 3.3  โครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง เอกชนเยอรมันและผู้ให้บริการด้านการก่อสร้าง ผู้ผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือก่อสร้าง น่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นเนื่องจากกิจกรรมภาคก่อสร้างของไทยจะมีมากขึ้น
ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ทั้งในส่วนการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม อาคารที่ทำงาน โรงแรม ศูนย์การค้า สำนักงาน ท่าเรือ ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพและปริมณฑล และการลงทุนภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ
ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) ซึ่งจะมีมูลค่าการลงทุนใน 103 โครงการกว่า
2.2 หมื่นล้านยูโร (ประมาณเจ็ดแสนเจ็ดหมื่นล้านบาท) ทั้งนี้ GTAI แนะนำให้นักลงทุนเยอรมันติดตามโอกาส
ในการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ภายใต้กรอบมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
(PPP Fast Track) สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน ท่าอากาศยานอู่ตะเภา การขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง
ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง การขยายโรงกลั่นปิโตรเคมีมาบตาพุด
การสร้างและขยายทางด่วนและทางหลวง

                 3.4  เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นสาขาที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย
ด้านเงินทุนและเครือข่าย และอยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศ โดยเป็นสาขาที่ได้รับการส่งเสริม
การลงทุนมากที่สุดในครึ่งแรกของปี 60 โดยเฉพาะสาขาซอฟต์แวร์ บริการ cloud ศูนย์บริหารจัดการข้อมูล software park และ tech start-ups

                 3.5  บริการด้านการวิจัยและพัฒนา GTAI มองว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในไทยเจริญเติบโตเร็วมาก จาก 8.5 หมื่นล้านบาท (ประมาณสองพันล้านยูโร) หรือร้อยละ 0.62 ของจีดีพี
ในปี 2558 เป็น 1.5 แสนล้านบาท (ประมาณ 2.5 พันล้านยูโร หรือร้อยละ 1 ของจีดีพีในปี 2561)
แต่ยังจะต้องมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอีกมาก ดังนั้น จึงเชื่อว่ารัฐบาลไทยจะยังลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนา การอุดหนุนกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนาของเอกชนอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมี ยาและเวชภัณฑ์ เกษตรและอาหาร การจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะและน้ำเสีย

                 3.6 เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม GTAI รายงานว่า ในปี 2558 ไทยมีหุ่นยนต์ 22 ตัวต่อแรงงานภาคอุตสาหกรรม 1 หมื่นคน ในขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2560 ไทยมีหุ่นยนต์ทั้งหมด 41,600 ตัว หรือ 69 ตัวต่อแรงงานภาคอุตสาหกรรม 1 หมื่นคน เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าภายในระยะเวลาเพียง 15 เดือน แสดงให้เห็นถึงความต้องการเครื่องจักรอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเห็นว่า นโยบายประเทศไทย 4.0 และภาวะการขาดแคลนแรงงานจะทำให้ไทยมีความต้องการเครื่องจักรและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะเครื่องจักรในสาขาก่อสร้าง อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องพิมพ์ เครื่องกรอง และยานยนต์ นอกจากนี้ GTAI ยังตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ประกอบการไทยมีเทคโนโลยีด้านเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่มีศักยภาพสามารถเป็นหุ้นส่วนกับฝ่ายเยอรมันได้ ได้แก่ บริษัท พัฒน์กล จำกัด และ บริษัท สยามคูโบต้า จำกัด

                 3.7  บริการสุขภาพ GTAI คาดการณ์ว่า ยอดขายในธุรกิจบริการทางการแพทย์ในปี 2561
จะสูงถึง 2.5 หมื่นล้านยูโร และมองว่าสาขาบริการสุขภาพจะขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 6 ถึง 7 และเห็นว่าเอกชนเยอรมันสามารถร่วมทุนกับเอกชนไทยในสาขาเครื่องมือการแพทย์ บริการการแพทย์ และโรงพยาบาลได้

GTAI มองว่าไทยกำลังเข้าสู่ยุคการลงทุนอย่างมียุทธศาสตร์ บนพื้นฐานของนโยบายประเทศไทย 4.0 ในทุกสาขาเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเล็งเห็นโอกาสของการทำธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และเห็นว่านักธุรกิจชาวเยอรมันน่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment – BOI) ที่เน้นการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีสูง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนในกรอบ EEC และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ GTAI ระบุให้เศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา เครื่องจักรอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ เป็นสาขาที่เป็นโอกาสของนักลงทุนเยอรมันในไทย นอกเหนือจากสาขาที่นักลงทุนเยอรมันมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ