สหภาพยุโรปออกกฎหมายการจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว

สหภาพยุโรปออกกฎหมายการจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,829 view

สหภาพยุโรปออกกฎหมายการจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว

เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ สภายุโรปได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว “Regulation on the establishment of a framework to facilitate sustainable investment, and amending Regulation (EU) 2019/2088”  หรือ “Taxonomy Regulation” ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

Taxonomy Regulation ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมาย เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเงินอย่างยั่งยืนและแผนปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ของสหภาพยุโรป สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าธุรกิจใดเข้าข่ายเป็นธุรกิจสีเขียวซึ่งจะส่งผลให้การระดมทุนสำหรับธุรกิจดังกล่าวสามารถติดฉลากได้ว่าเป็นการลงทุนอย่างยั่งยืน เช่น การออกพันธบัตร Green Bonds เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนมาลงทุนในธุรกิจสีเขียว รวมทั้งเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการเข้าถึงกองทุนฟื้นฟูสีเขียวของคณะกรรมาธิการยุโรป ทั้งนี้ ยุโรปเป็นภูมิภาคแรกที่มีการจัดทำระบบหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว (“Green list”)

นอกจากนี้ กฎหมาย Taxonomy Regulation ได้มีการจัดตั้งกลไกคณะที่ปรึกษา เรียกว่า “Platform on Sustainable Finance” ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด ๕๗ คน โดย ๕๐ คน จะมาจากการเปิดรับสมัครทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน และอีก ๗ คน
มาจากการแต่งตั้งโดยคณะกรรมาธิการยุโรปด้าน Financial Stability, Financial Services and Capital Markets Union
(DG FISMA) ทั้งนี้ DG FISMA จะทำการคัดเลือกที่ปรึกษา ๗ คน จากหน่วยภาครัฐ เช่น European Environment Agency และ European Investment Bank

ภายหลังจากที่สภายุโรปได้ให้ความเห็นชอบกฎหมาย Taxonomy Regulation เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ และประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษาของสหภาพยุโรป (Official Journal of the European Union - OJEU) เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๓ ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓ แล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปจะมีการตรากฎหมายลำดับรอง (Delegated Acts) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เชิงเทคนิค โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้วางแผนกรอบเวลาการทำงานไว้ ดังนี้ (๑) การจัดทำหลักเกณฑ์เชิงเทคนิคสำหรับธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นการส่งเสริมการบรรเทาผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในสินปี ๒๕๖๓ และ (๒) การจัดทำหลักเกณฑ์เชิงเทคนิคสำหรับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ๔ ประการ ได้แก่ การใช้และปกป้องน้ำและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน การป้องกันและควบคุมมลพิษ และการปกป้องและฟื้นฟู
ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ

อนึ่ง สื่อท้องถิ่นได้รายงานถึงประเด็นถกเถียงหลักในช่วงของการจัดทำกฎหมาย Taxonomy Regulation คือ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซเข้าข่ายเป็นธุรกิจสีเขียวด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดี ได้มีการประนีประนอมให้โรงไฟฟ้าทั้งสองประเภทไม่จัดอยู่ในกลุ่มการลงทุน “purely green” แต่ก็จะไม่ถูกตัดออกจากหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียวโดยอัตโนมัติ

 

************************

 

 

(credit รูปภาพปก: https://www.iusinitinere.it/a-eu-taxonomy-to-foster-sustainable-finance-24889)