สหภาพยุโรปจัดทำรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจประจำฤดูใบไม้ผลิปี 2563

สหภาพยุโรปจัดทำรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจประจำฤดูใบไม้ผลิปี 2563

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 1,109 view

สหภาพยุโรปจัดทำรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจประจำฤดูใบไม้ผลิปี 2563

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 สหภาพยุโรปได้จัดทำรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจสหภาพยุโรปประจำฤดูใบไม้ผลิ 2563 เรื่อง “A deep and uneven recession, an uncertain recovery” (สามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ https://bit.ly/3bdqt5M) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหภาพยุโรป วิกฤตโควิด-19 ได้เปลี่ยนแนวโน้มเศรษฐกิจสหภาพยุโรปไปโดยสิ้นเชิง โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหภาพยุโรปจะหดตัวร้อยละ 7.4 ในปี 2563 (จากการคาดการณ์เดิมว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 1.4) และกลับมาขยายตัวร้อยละ 6.1 ในปี 2564 ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบจากโควิด-19 และความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบตลาดเดียวของสหภาพยุโรปและเขตยูโรเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องหาทางออกร่วมกัน นอกจากนี้ อนาคตก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่ไวรัสอาจกลับมาแพร่ระบาดได้อีก

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรงของผลกระทบ เช่น ระยะเวลาของมาตรการล็อกดาวน์ ความสำคัญของภาคการท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจของประเทศ และสถานะทางการเงินของแต่ละประเทศ

อัตราการว่างงาน เงินช่วยเหลือของรัฐเพื่อป้องกันคนตกงาน (เช่น มาตรการ SURE) และเงินสนับสนุนภาคธุรกิจอาจช่วยลดจำนวนคนตกงานได้บ้าง แต่ผลกระทบต่อตลาดแรงงานก็จะยังคงมีความรุนแรง โดยคาดว่า อัตราการว่างงานในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9 (จากร้อยละ 6.7 เมื่อปี 2562) ก่อนจะลดเหลือร้อยละ 7.9 ในปี 2564

อัตราเงินเฟ้อ การลดลงของอุปสงค์และราคาน้ำมันที่ตกต่ำส่งผลให้ราคาสินค้าโดยรวมลดลง โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.6 ในปี 2563 และร้อยละ 1.3 ในปี 2564

การขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะ มาตรการทางการคลังเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้ภาครัฐมีรายจ่ายที่สูงขึ้น      ดังนั้น คาดว่า ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะขาดดุลงบประมาณอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยจากระดับร้อยละ 0.6 ของ GDP ในปี 2562 มาเป็นร้อยละ 8.5 ในปี 2563 ก่อนจะลดเหลือร้อยละ 3.5 ในปี 2564 ด้านหนี้สาธารณะก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน (หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557) โดยคาดว่า หนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 79.4 ของ GDP ในปี 2562 เป็นร้อยละ 95 ในปี 2563 และลดเหลือร้อยละ 92 ในปี 2564

          นอกจากนี้ นาย Paolo Gentiloni กรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจ ได้กล่าวในงานแถลงข่าวรายงานการคาดการณ์        เศรษฐกิจฯ ด้วยว่า อัตราการเติบโตของ GDP สหภาพยุโรปในปี 2563 จะติดลบร้อยละ 7.4 ซึ่งถือว่ารุนแรงกว่าวิกฤตทางการเงินในยุโรปเมื่อปี 2552 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 4.5 และคาดว่า เศรษฐกิจสหภาพยุโรปจะสามารถกลับขึ้นมาสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 ได้ในปี 2565 อย่างเร็วที่สุด โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุด ได้แก่ กรีซ อิตาลี สเปน โครเอเชีย (และฝรั่งเศสในระดับที่น้อยลงมา) ทั้งนี้ วิกฤตโควิด-19 อาจทำให้ทัศนคติของประเทศต่าง ๆ ที่มีต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก (global value chains) และความร่วมมือระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป และนำไปสู่การดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้น

          อย่างไรก็ดี สำนักข่าว Politico ได้รายงานว่า รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจฯ ดังกล่าวย้ำถึงความสำคัญที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องหาทางออกร่วมกัน โดยคณะกรรมาธิการยุโรปกำลังจัดทำข้อเสนอสำหรับกรอบงบประมาณ 7 ปี (The multiannual financial framework: MFF) ของสหภาพยุโรป และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปวางแผนจะเสนอแผนดังกล่าวในสัปดาห์นี้แต่ก็ต้องเลื่อนออกไป เพราะประเทศสมาชิกยังตกลงกันไม่ได้ว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักควรจะได้รับเงินช่วยเหลือในลักษณะเงินกู้ หรือเงินให้เปล่าในสัดส่วนมากน้อยเพียงใด

**********************************

 

(credit รูปภาพปก: https://www.rynekinfrastruktury.pl/wiadomosci/drogi/mazowsze-przegonilo-plan-wydawania-srodkow-unijnych-63938.html)