แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจของเขตยูโรและนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจของเขตยูโรและนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,510 view

แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจของเขตยูโรและนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

          แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจของเขตยูโร และนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank - ECB) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการประชุม International Monetary and Financial Committee ครั้งที่ 41 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ซึ่งจัดโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Moneytary Fund - IMF) โดยนาง Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป ได้เข้าร่วมการประชุมผ่านการประชุมทางไกลด้วย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

          แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจของเขตยูโร จากข้อมูลทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นถึงภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจในเขตยูโร เนื่องจากผลผลิตและตลาดแรงงานในเขตยูโรหดตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นทำให้ยากต่อการคาดการณ์ขอบเขตและระยะเวลาของภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวในภายหลัง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อระดับต่ำในปัจจุบันยังสะท้อนให้เห็นถึงการลดลงอย่างรวดเร็วของราคาในหมวดพลังงาน และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะสั้นจะลดลงอีก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่าเขตยูโรจะประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดโดยจะหดตัวลดลงถึงร้อยละ 7.5 ในปี 2563 และจะฟื้นตัวประมาณร้อยละ 4.7 ในปี 2564

          นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ECB ได้มีการปรับขนาดการซื้อสินทรัพย์สุทธิภายใต้โครงการซื้อสินทรัพย์ (Asset Purchase Programme - APP) ที่ดำเนินอยู่แล้ว และเปิดตัวโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินสำหรับโรคระบาดใหญ่ (Pandemic Emergency Purchase Programme - PEPP) ซึ่งเป็นโครงการซื้อสินทรัพย์ชั่วคราวครั้งใหม่สำหรับหลักทรัพย์ภาครัฐและภาคเอกชน รวมจำนวนเงินของ APP และ PEPP คิดเป็นมูลค่า 1.1 ล้านล้านยูโร ภายในสิ้นปี 2563

          เพิ่มการขยายจำนวนสินทรัพย์ที่มีสิทธิ์ภายใต้โครงการจัดซื้อภาคธุรกิจ (Corporate Sector Purchase Programme - CSPP) โดยรวมเอกสารทางการค้าที่ไม่ใช่เอกสารทางการเงินด้วย นอกจากนี้ การซื้อสินทรัพย์ภายใต้โครงการ PEPP สามารถดำเนินการได้อย่างยืดหยุ่นตลอดเวลา จึงส่งผลให้การส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังภาคส่วนเศรษฐกิจและภูมิภาคที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนได้อย่างราบรื่น

          การดำเนินมาตรการรีไฟแนนซ์ระยะยาวเพิ่มเติม (Long-Term Refinancing Operations - LTROs) เพื่อให้มั่นใจว่า ระบบการเงินจะมีสภาพคล่องอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของภาคธนาคารจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของสินเชื่ออย่างต่อเนื่องไปยังระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงอีกด้วย

          ECB ใช้มาตรการผ่อนคลายด้านหลักประกัน เพื่อให้มั่นใจว่าภาคธนาคารจะมีหลักประกันเพียงพอที่จะเข้าร่วมการดำเนินงานด้านสภาพคล่องของ Eurosystem และเพิ่มมาตรการขยายวงเงินของการเรียกร้องเครดิตเพิ่มเติม (Additional Credit Claims - ACC) ไว้เป็นหลักประกัน เพื่อสนับสนุนการระดมทุนของภาคธนาคารในการปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนให้สามารถรองรับความเสี่ยงได้มากยิ่งขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ECB มีความมุ่งมั่นที่จะทำทุกสิ่งที่จำเป็นภายใต้อำนาจหน้าที่เพื่อช่วยให้เขตยูโรผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ และเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับการปรับเพิ่มปริมาณสินทรัพย์ภายใต้โครงการซื้อสินทรัพย์ตามความจำเป็นและระยะเวลาที่ต้องใช้ดำเนินการ รวมถึงการพิจารณามาตรการทางการเงินอื่น ๆ เป็นทางเลือกสำหรับใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย

          การพัฒนาภาคธนาคารในเขตยูโร ความพยายามที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกส่งผลให้ธนาคารในเขตยูโรมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งกว่าปี 2551 โดยมีความสามารถเพียงพอที่จะรองรับหนี้เสียเมื่อเกิดวิกฤต โดย ECB มีมาตรการกำกับดูแลและมาตรการระดับมหภาคที่ใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถของธนาคารในเขตยูโรสำหรับรองรับผล   กระทบเชิงลบ และให้การสนับสนุนที่จำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง นอกจากนี้ ECB ยังได้ติดตามสถานการณ์ของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารอย่างใกล้ชิด โดยมีบางกองทุนประสบปัญหาเงินทุนไหลออก ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันผวนของตลาดอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่การดำเนินมาตรการขยายการซื้อสินทรัพย์ของภาคเอกชนให้ครอบคลุมเอกสารทางการค้าที่ไม่ใช่เอกสารการเงินของ ECB สามารถช่วยยุติปัญหาเงินทุนไหลออกจากกองทุนตลาดเงินเหล่านั้นในเขตยูโรได้

          การตอบสนองต่อสภาวะตระหนก (shock) ทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นโยบายการคลังและนโยบายสาธารณะของประเทศในยุโรปมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ECB จึงตอบรับต่อความคิดริเริ่มของรัฐบาลและสถาบันต่าง ๆ ในยุโรปที่ดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีทรัพยากรด้านสาธารณสุขที่เพียงพอและให้การสนับสนุนแก่ภาคเอกชนและพนักงานที่ได้รับผลกระทบและยินดีที่จะให้การรับประกันเครดิต ทั้งนี้ ECB ยังสนับสนุนมาตรการตอบสนองต่อวิกฤตของ IMF โดยเฉพาะด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องมือการให้สินเชื่อฉุกเฉินและการสร้างสภาพคล่องระยะสั้นสำหรับประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง อีกทั้ง ECB ยังได้ตกลงที่จะแลกเปลี่ยนด้านการบริหารจัดการกับธนาคารกลางของบางประเทศในสหภาพยุโรป เพื่อจัดหาสภาพคล่องของเงินยูโรและอยู่ระหว่างการประเมินคำขอเพิ่มเติมสำหรับการแลกเปลี่ยนเงินยูโรอีกด้วย

          นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 นาง Christine Lagarde ประธาน ECB ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Le Parisien ของฝรั่งเศส เกี่ยวกับโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินสำหรับโรคระบาด (PEPP) ว่า โครงการนี้ประกอบไปด้วยการซื้อหลักทรัพย์ของภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงพันธบัตรและเอกสารทางการค้าต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ ECB สามารถตอบสนองต่อภาวะตระหนก (shock) ทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางราคาได้ โดยปัจจุบัน ECB สามารถระดมสภาพคล่องได้ถึง 3 ล้านล้านยูโร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ธนาคารให้สามารถกู้ยืมได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด คือ ร้อยละ -0.75 สำหรับใช้ในการขยายสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ประกอบอาชีพอิสระไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ และสามารถนำเงินกู้เหล่านั้นมาเป็นหลักประกันได้

          เมื่อวันที่ 12 และ 18 เมษายน 2563 นาย Luis de Guindos รองประธาน ECB ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ La Vanguadia และ Expresso ของสเปน ตามลำดับ เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและของโลก เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า จากการคาดการณ์ของ IMF เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ช่วง Great Depression ในยุคทศวรรษ 1930 (ปี 2473) โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 จะหดตัวลดลงถึงร้อยละ 20 ในขณะที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของมาตรการ lockdown ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อการหดตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2-3 ต่อเดือน ทั้งนี้ คาดว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 จะอยู่ระหว่างรูปทรง U และ V และเห็นว่า มาตรการ 3 ด้าน ที่ ECB เตรียมไว้รองรับสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้แก่ (1) การเตรียมสภาพคล่องให้กับภาคธนาคารโดยปรับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหลักประกันสำหรับการเข้าถึงการดำเนินการด้านสภาพคล่อง (2) การกำกับดูแลของ ECB เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ และ (3) การเปิดตัวโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินสำหรับโรคระบาดใหญ่ (PEEP) จำนวน 750 ล้านยูโร ซึ่งจะเพิ่มสินทรัพย์รวมที่ธนาคารกลางยุโรปซื้อเป็นจำนวน 1.1 ล้านล้านยูโร ภายในปี 2563 นั้นน่าจะเพียงพอแล้ว

          เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 นาง Isabel Schnabel คณะกรรมการบริหาร ECB ได้กล่าวในงาน 24-Hour Global Webinar ซึ่งจัดโดยศูนย์ SAFE Policy Center นครแฟรงก์เฟิร์ต เกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ว่า มาตรการรองรับ        ผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสฯ ของธนาคารกลางยุโรป จะช่วย (1) รักษาเสถียรภาพของเงินทุนในเขตยูโร (2) ปรับปรุงสภาพคล่องของตลาดการเงิน และ (3) ลดความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ คาดว่า เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และเนเธอร์แลนด์ จะออกพันธบัตรมากกว่า 1 พันล้านยูโรในปี 2563 เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาวะผ่อนคลายทางการเงินกลับมาเข้มงวดอีกครั้งหนึ่ง และต้นทุนการกู้ยืมสำหรับรัฐบาลในเขตยูโรส่วนใหญ่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ดังนั้น ECB จึงได้ออกมาตรการเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศสมาชิกเขตยูโรจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อช่วยสนับสนุนทางภาคธุรกิจและครัวเรือนในการแบกรับต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงวิกฤตนี้

          อนึ่ง การดำเนินมาตรการทางการเงินของ ECB เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตกาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ใช้ภาคการธนาคารเป็นสื่อกลางในการส่งต่อความช่วยเหลือไปยังภาคธุรกิจและครัวเรือนต่าง ๆ ซึ่งต่างจากการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินเมื่อปี 2551 ที่ภาคธนาคารเป็นสาเหตุหลักของวิกฤต โดยใช้มาตรการส่งเสริมสภาพคล่องต้นทุนต่ำให้กับภาคการธนาคารเป็นหลัก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องไปยังระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง

***********************************

(credit รูปภาพปก: https://www.aa.com.tr/en/europe/top-german-court-asks-ecb-to-justify-bond-buying/1829869)