มาตรการทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในการรับมือกับวิกฤต COVID-19

มาตรการทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในการรับมือกับวิกฤต COVID-19

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 เม.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 1,070 view

มาตรการทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในการรับมือกับวิกฤต COVID-19

ข้อมูล ณ วันที่ 21 เมษายน 2563 สหภาพยุโรปได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เป็นวงเงินรวมกว่า 3.4 ล้านล้านยูโร เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยสรุปดังนี้

1. มาตรการด้านการคลัง 

    1.1 การออก Rescue Package ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) มาตรการ Safety net for Member States โดยการจัดสรรสินเชื่อวงเงิน 2.4 แสนล้านยูโรแก่ประเทศสมาชิกเขตยูโร (Eurozone) เพื่อใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ผ่านกลไก European Stability Mechanism (ESM) โดยแต่ละประเทศจะขอกู้เงินได้ไม่เกินร้อยละ 2 ของ GDP (2) มาตรการ Safety net for SMEs โดยธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (European Investment Bank – EIB) จัดตั้งกองทุนการค้ำประกันทั่วสหภาพยุโรป (pan-European guarantee fund) ด้วยใช้เงินทุนประเดิมจำนวน 2.5 หมื่นล้านยูโร เพื่อค้ำประกันการปล่อยสินเชื่อวงเงิน 2 แสนล้านยูโรสำหรับกิจการ SMEs และ (3)  มาตรการ Temporary Support to mitigate Unemployment Risks in an Emergency (SURE) หรือมาตรการ Safety net for workers โดยให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปกู้ยืมเงินของกลไก ESM ในวงเงิน 1 แสนล้านยูโร เพื่ออุดหนุนบริษัทเอกชนให้ยังสามารถจ่ายเงินเดือนลูกจ้างได้ และหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างแรงงาน

    1.2 การออกมาตรการด้านการคลังจากงบประมาณของสหภาพยุโรป ที่สำคัญได้แก่ (1) การจัดตั้ง Corona Response Investment Initiative วงเงินประมาณ 3.7 หมื่นล้านยูโร เพื่อสนับสนุนการลงทุนระบบสาธารณสุขและโรงพยาบาล รวมถึงธุรกิจ SMEs และตลาดแรงงานให้ยังมีรายได้ ตลอดจนให้เป็นเงินอุดหนุนหรือเงินกู้แก่เกษตรกรและชาวประมง (2) การเพิ่มวงเงินและขยายขอบเขตการดำเนินงานของ EU Solidarity Fund ให้ครอบคลุมด้านสาธารณสุข คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 800 ล้านยูโร ในปี 2563 และ (3) ให้มีการผ่อนปรนมาตรการพักชำระหนี้ และการจัดทำงบประมาณของประเทศสมาชิกให้ขาดดุลได้มากกว่าร้อยละ 3 ของ GDP

    1.3 คณะกรรมาธิการยุโรปได้อนุมัติการใช้งบประมาณของสหภาพยุโรปรวม 1 พันล้านยูโร จาก European Fund for Strategic Investments (EFSI) เข้าสมทบ European Investment Fund (EIF) ของธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (EIB) โดยงบประมาณจำนวนนี้จะช่วยให้ EIF สามารถออกหลักประกันพิเศษเพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมูลค่าประมาณ 8 พันล้านยูโรให้แก่ธุรกิจ SMEs กว่า 100,000 แห่ง รวมทั้งบริษัทขนาดกลางในยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19

    1.4 อนุมัติการถ่ายโอนงบประมาณคงคลังประจำปี 2563 ทั้งหมดของสหภาพยุโรปวงเงิน 3,080 ล้านยูโร ให้อยู่ภายใต้ Emergency Support Instrument โดยจะมอบให้ rescEU ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับการรับมือกับภัยพิบัติ จำนวน 300 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ร่วมกัน และในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 2.7 พันล้านยูโร จะให้ความสำคัญอันดับต้นแก่การอุดหนุนแผนงานฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนตัวและเครื่องช่วยหายใจ การส่งทีมแพทย์เคลื่อนที่ให้ความช่วยเหลือผู้เปราะบางและผู้อพยพในค่ายอพยพ การสร้างโรงพยาบาลสนาม การขนย้ายผู้ป่วยข้ามพรมแดน การอพยพพลเมืองสหภาพยุโรป และการตรวจคัดกรองโรคด้วย (testing)

2. มาตรการด้านการเงิน

    2.1 โครงการ Asset Purchase Program (APP) ของ ECB โดยให้วงเงินเพิ่มเติมอีก 1.2 แสนล้านยูโร และสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการเพื่อการ refinancing สินทรัพย์ระยะยาว (TLTRO-III)

    2.2 โครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) วงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร โดยจะใช้เงินซื้อหลักทรัพย์    ต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน (public and private securities) เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดเงินและคงเงื่อนไขทางการเงินที่เอื้ออำนวยต่อการใช้จ่ายและการลงทุน ภายในสิ้นปี 2563 

    2.3 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกมาตรการ European Scale-up Action for Risk capital (ESCALAR) ซึ่งเป็นแนวทาง        ช่วยเหลือการลงทุนรูปแบบใหม่ภายใต้ EIF โดยจะใช้งบประมาณ 300 ล้านยูโร จัดตั้งกองทุนปล่อยกู้สำหรับใช้เป็นทุนประเดิมของบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ (venture capital) รวมทั้งลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายให้ตลาดหลักทรัพย์ (private equity) ซึ่งคาดว่า จะช่วยให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 1,200 ล้านยูโร หรือ 4 เท่าของเงินลงทุนตั้งต้น

3. มาตรการอื่น ๆ 

    3.1 ออกกฎชั่วคราวว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐ (temporary state aid rules) เพื่อให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกสามารถอัดฉีดเงินในภาคธุรกิจเพื่อรักษาสภาพคล่อง

    3.2 ออกแนวปฏิบัติว่าด้วยการคัดกรองการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) และการซื้อกิจการเพื่อเข้าควบคุมหรือสร้างอิทธิพลในสินทรัพย์และเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อสหภาพยุโรปในช่วงวิกฤต ขณะนี้ มีประเทศสมาชิกจำนวน 14 ประเทศที่มีกลไกคัดกรองดังกล่าว

    3.3 ปรับเปลี่ยนวิธีให้ความช่วยเหลือของกองทุน Fund for European Aid to the Most Deprived ให้เข้าถึงกลุ่มผู้เปราะบางได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนถ่ายโอนงบประมาณระหว่างโครงการและกองทุนต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป

    3.4 เตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Recovery Fund) ในชั้นนี้ ประเทศสมาชิกเห็นพ้องในหลักการแล้วว่า กองทุนดังกล่าวควรเป็นมาตรการชั่วคราวและเฉพาะเจาะจง โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างยั่งยืนภายหลังวิกฤต COVID-19 เท่านั้น อย่างไรก็ดี สำหรับแหล่งเงินทุนของกองทุนฯ ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยบางประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น อิตาลีและสเปน เสนอให้สหภาพยุโรปออกพันธบัตรเงินกู้ร่วม (corona bonds) โดยใช้งบประมาณจากกลไก European Stability Mechanism (ESM) จำนวน 5 แสนล้านยูโร แต่อีกกลุ่มประเทศที่เน้นวินัยการเงินการคลัง เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ประสงค์ให้ใช้แหล่งเงินอื่น เช่น กรอบงบประมาณหลายปี Multiannual Financial Framework (MFF) ของสหภาพยุโรป

**********************