เหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจสหภาพยุโรป-ไทย

เหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจสหภาพยุโรป-ไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ม.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 919 view

เหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจสหภาพยุโรป-ไทย

          “ปี 2562” เป็นช่วงปีที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด โดยผลพวงยังส่งผลกระทบในวงกว้างจนถึงปี 2563 ไม่เพียงแต่การค้าการลงทุน แต่ก่อให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่น (confidence crisis) อาทิ ความมั่นคงภาคครัวเรือนที่ลดลง ภาวะการเงินที่ตึงตัวฉับพลันในบางช่วงเวลาจากความผันผวนในตลาดการเงินโลก การชะลอตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือน     ที่ล้วนเป็นเหตุให้ธนาคารกลางหลักของหลายประเทศดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบายและการเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าเศรษฐกิจอียูจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แต่อัตราการขยายตัวลดลง โดยตามรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนประจำฤดูใบไม้ร่วง สหภาพยุโรปคาดการณ์ว่ามูลค่า GDP ปี 2562 จะขยายตัวเพียง 1.1% ต่ำกว่าปี 2561 ที่ 1.9% และจะทรงตัวที่ 1.2% ในปี 2563-2564 ถือว่าเข้าสู่ “ภาวะชะลอตัวยาวนานและเงินเฟ้อต่ำ”      ตัวจุดชนวนอันดับแรกคงหนีไม่พ้นปัญหาการค้าระหว่างประเทศ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสหรัฐฯ-สหภาพยุโรป ปัญหารัฐภูมิศาสตร์โดยเฉพาะการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรป (Brexit) รวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่สหภาพยุโรปจัดให้เป็นนโยบายสำคัญลำดับต้น ๆ ของคณะทำงานชุดใหม่ด้วยการออกแผนปฏิรูปสีเขียวฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป (The European Green Deal) เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลก

          พิษสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน กระทบห่วงโซ่อุปทานโลก สงครามการค้าระหว่าง 2 ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก (สหภาพยุโรป-สหรัฐฯ) ก็ส่งผลกระทบรุนแรงไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเศรษฐกิจสหภาพยุโรป-สหรัฐฯ รวมกันเท่ากับครึ่งหนึ่งของ GDP โลก และการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ ก็คิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด  เมื่อปี 2561 สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากยุโรป ซึ่งทำให้สหภาพยุโรปตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้า 25% จากผลิตภัณฑ์สหรัฐฯ มูลค่า 2,800 ล้านดอลลาร์ จนถึงปมขัดแย้งกรณีการอุดหนุน Airbus-Boeing มากว่า 15 ปี ช่วงปลายปี 2562 สงครามเริ่มเปิดฉากอีกครั้ง เมื่อ WTO มีมติเห็นชอบให้สหรัฐฯ สามารถขึ้นภาษีนำเข้าจากสหภาพยุโรปในคดีพิพาทบริษัท Airbus มูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป เครื่องบินพลเรือนจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปนซึ่งเป็นประเทศที่ผลิต Airbus ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 10% และ 25% สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ WTO เคยมีคำวินิจฉัยว่าทั้ง Airbus และ Boeing ต่างได้รับการอุดหนุนอย่างผิดกฎหมายทั้งคู่ โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า (DG TRADE) ได้ประกาศร่างรายการสินค้าของสหรัฐฯ ที่สหภาพยุโรปประสงค์จะขึ้นภาษีตอบโต้ เช่น เครื่องบินและชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และสินค้าเกษตร เป็นต้น โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นต่อบริษัทเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการรายเล็กและท้ายที่สุดแล้วการเก็บภาษีนำเข้าก็คือการเพิ่มราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภค

          เหตุการณ์ Brexit ทำให้การรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งของสหภาพยุโรปกว่า 6 ทศวรรษ เกิดความสั่นคลอนขึ้น โดยสหภาพยุโรปที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนของ Brexit ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ (สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรเป็นตลาดการค้าที่พึ่งพาซึ่งกันและกันมากที่สุด ข้อมูลของสำนักงานสถิติเผยว่าในปี 2018 สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกประมาณ 46% และตลาดนำเข้าประมาณ 54% ของสหราชอาณาจักร โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 6.3 แสนล้านปอนด์) และอาจจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสามารถชดเชยมูลค่าการสูญเสียได้เนื่องจากการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรปเลื่อนออกไปหลายครั้งในปีที่ผ่านมา และรัฐบาลหลายประเทศจำเป็นต้องอัดฉีดเงินเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในช่วงการเตรียมความพร้อมรับมือและช่วงเปลี่ยนผ่าน กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการค้าและการลงทุน ทั้งในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปที่มีสหราชอาณาจักรอยู่ในห่วงโซ่อุปทานต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือกระบวนการผลิตใหม่ให้สอดคล้องกับการหายไปของสิทธิพิเศษทางการค้าที่สหราชอาณาจักรเคยได้รับจากสหภาพยุโรป    ตลอดจนการคำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศที่สามด้านการจัดการความตกลงทางการค้าทวิภาคีกับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่ได้พยายามใช้ประโยชน์เพื่อเรียกร้องต่อสหภาพยุโรปในประเด็นข้างต้น อย่างไรก็ดี    เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปนาง Ursula Von der Leyen เดินทางไปสหราชอาณาจักรเพื่อหารือเกี่ยวกับการเจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างทั้งสอง สหภาพยุโรปแสดงความตั้งใจและเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตรวมถึงการเจรจาทางการค้าอย่างเร็วที่สุดก่อน 31 ธันวาคม 2020 เพื่อป้องกันความเสียหายและ No-deal Brexit ที่ยังคงเกิดขึ้นได้

          ปัจจัยที่สามที่สามารถสร้างความเสียหายทั่วโลกคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความล้มเหลวของตลาดที่ใหญ่ที่สุดและกว้างขวางที่สุด ในปีที่ผ่านมา         การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP25) ชูวาระสำคัญนั่นคือการพยายามนำเอาความตกลงปารีสปี 2558 ไปปฏิบัติจริงอย่างเต็มรูปแบบรวมถึงการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมโดยต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนสิ้นปี 2563 หนึ่งในประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้และต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปในการประชุม COP26 คือการตั้งกฎของตลาดคาร์บอนในการซื้อขายแลกเปลี่ยนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสหภาพยุโรปซึ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นนี้ก็ได้เปิดตัวนโยบาย European Green Deal ภายใต้การนำของนาง Ursula von der Leyen ซึ่งมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ ภายในปี 2050 โดยมีแผนกลยุทธ์ที่สำคัญ ได้แก่ การเสนอร่าง Climate Law ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 การเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้าภายในปี 2564           การพิจารณาปรับขึ้นภาษีพลังงาน (ภาษีน้ำมัน) ภายในเดือนมิถุนายน 2564 รวมถึงการลดการปลดปล่อยมลพิษ การจัดการของเสีย การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการทางระบบนิเวศน์ การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ป่าไม้       การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น   ในบริบทของการเจรจา FTA ซึ่งไทยควรคำนึงถึงสำหรับการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป เนื่องจากสหภาพยุโรปได้ผนวกประเด็นสิ่งแวดล้อมไว้เป็นเรื่องหลักในการเจรจา อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว และต้องการเรียกร้องให้คู่เจรจาปฏิบัติตามข้อบทในความตกลงระหว่างประเทศโดยเฉพาะความตกลงปารีส ที่เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน หรือกรณีไฟป่าอเมซอนที่ทำให้สภายุโรปออกมาแสดงท่าทีที่จะชะลอการให้สัตยาบันความตกลง FTA  กับ Mercosur ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์และนโยบายสีเขียวของประเทศให้มีความก้าวหน้าและสอดคล้องกับข้อเรียกร้องและมาตรการต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปเพื่อจะได้ใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศและพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจไทย

          ปัจจัยข้างต้นมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2563 อย่างต่อเนื่องรวมไปถึงความท้าทายอื่น ๆ อาทิ ปัญหาผู้อพยพที่ยังคงหลั่งไหลเข้ามาสู่ยุโรปทั้งทางน้ำและทางบก (จำนวน 125,000 คนในปี 2562) การแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างสหภาพยุโรป-จีน โดยเฉพาะประเด็นของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมที่สหภาพยุโรปมองว่า รัฐบาลจีนใช้มาตรการสนับสนุนบริษัทในประเทศรวมถึงปัญหาการเข้าถึงตลาดจีนของบริษัทสหภาพยุโรปความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-สหภาพยุโรป ล่าสุด    ที่สหรัฐฯ ขู่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากฝรั่งเศสเพื่อตอบโต้ภาษีบริการดิจิทัลของฝรั่งเศส (Digital Services Tax) โดยสหภาพยุโรปก็มีท่าทีจะร่วมมือกับฝรั่งเศสเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ รวมถึงเหตุการณ์ที่น่าจับตามองต่อไทย อาทิ การเจรจาการค้าระหว่างสหภาพยุโรป-สหราชอาณาจักร พัฒนาการของการเจรจา FTA EU-Mercosur ในประเด็นการแก้ไขปัญหาการทำลายป่าอเมซอน และการพิจารณาร่าง FTA ของ EU-Vietnam ในประเด็นแรงงานของสภายุโรปช่วงไตรมาสแรกของปี 2563

          อนึ่ง การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2563 คาดว่าจะลดเหลือ 2.9% ซึ่งเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และล่าสุด สหรัฐฯ ได้สังหารนายพล Qassem Soleimani ของอิหร่าน ซึ่งอาจเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอีกครั้งหนึ่งจึงคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2020 อาจจะเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก ดังนั้น ภาคธุรกิจไทยจึงต้องติดตามข่าวสารและเตรียมพร้อมรับมือถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

*************************************

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649235