ใช้สินค้ารักษ์โลกเพียงพอแล้วหรือ หรือเราต้องลดการบริโภคลงด้วย

ใช้สินค้ารักษ์โลกเพียงพอแล้วหรือ หรือเราต้องลดการบริโภคลงด้วย

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,469 view

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 คณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม (ENVI) สภายุโรป ได้เผยแพร่รายงานเรื่องแผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป (Report on the New Circular Economy Action Plan) โดยสภายุโรปได้มีข้อเรียกร้องให้สหภาพยุโรปพิจารณากำหนดเป้าหมายในการลดการใช้วัตถุดิบและปริมาณการบริโภคในสหภาพยุโรป (materials uses and consumption footprint) สำหรับปี ค.ศ. 2030 รวมถึงให้กำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณขยะ ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางและระดับความทะเยอทะยาน เพื่อควบคุมการบริโภคเกินความจำเป็นและส่งเสริมการดำเนินงานของแผนปฏิบัติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรปให้สมบูรณ์

เนื่องจากปัจจุบันสหภาพยุโรปมีการผลิตและการบริโภคเกินความจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป (non-renewable resources) ในการผลิตกว่า 98 ล้านตัน อาทิ น้ำมันสำหรับการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ ปุ๋ยสำหรับการปลูกต้นฝ้าย และสารเคมีต่าง ๆ และยังเป็นแหล่งสร้างขยะจำนวนมาก อาทิ 87% ของเสื้อผ้าที่ใช้แล้วนั้นถูกนำไปเผาหรือฝังกลบ และ 3% ของเสื้อผ้าจากยี่ห้อดังอย่าง Nike H&M และ Louis Vuitton ถูกส่งไปทำลายทิ้งโดยที่ไม่ได้มีการจำหน่ายสู่ตลาดด้วยซ้ำไป ซึ่งเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีตัวเลขเป้าหมาย เพื่อลดการใช้วัตถุดิบและควบคุมปริมาณการบริโภคในสหภาพยุโรปรายงานของสภายุโรปจึงมีการเรียกร้องให้สหภาพยุโรปพิจารณามาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมภายใต้แผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1) ขอให้สหภาพยุโรปพิจารณากำหนดเป้าหมายในการลดการใช้วัตถุดิบจากแหล่งแร่ธรรมชาติ (primary raw materials) และเสนอค่าชี้วัดด้านความหมุนเวียน (circularity indicators) ภายในปี 2564 นี้ เพื่อให้สามารถติดตามปริมาณการบริโภควัตถุดิบสำหรับสินค้าในสหภาพยุโรป

2) ขอให้สหภาพยุโรปพิจารณากำหนดเป้าหมายด้านการใช้วัสดุรีไซเคิลสำหรับสินค้ารายประเภท/อุตสาหกรรม โดยต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสินค้าให้คงเดิม เพื่อเป็นการเพิ่มตลาดวัสดุรีไซเคิลในสหภาพยุโรปและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในระยะยาว

3) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันการสร้างขยะตามโมเดล EU Waste Hierarchy โดยขอให้สหภาพยุโรปพิจารณากำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณขยะ รวมถึงลดการจัดการขยะโดยการฝังกลบ

4) สนับสนุนความตั้งใจของสหภาพยุโรปในการขยายขอบเขตกฎหมาย Ecodesign Directive ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลังงาน (non-energy-related products) ซึ่งมีกำหนดเสนอร่างกฎหมายฯ ภายในปี 2564 นี้เช่นกัน เพื่อพัฒนาสินค้าในสหภาพยุโรปให้มีความคงทน ใช้งานได้หลายครั้ง สามารถซ่อมได้ ปลอดภัย สามารถอัปเกรดและ/หรือนำไปรีไซเคิลได้ ใช้วัตถุดิบทุติยภูมิ และประหยัดวัตถุดิบและพลังงานในขั้นตอนการผลิต

5) ขอให้สหภาพยุโรปพิจารณาออกมาตรการเพื่อป้องกันการ “greenwashing” หรือ “การฟอกเขียว” ซึ่งคือการที่ธุรกิจโฆษณาคุณสมบัติด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้าเกินความจริง เพื่อปกป้องผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคสินค้าเพื่อความยั่งยืน

สภายุโรปยังได้เน้นย้ำให้สหภาพยุโรปเร่งจัดการกับการ “greenwashing” เนื่องจากปัจจุบันร้านค้า/ธุรกิจออนไลน์ 42% มีการโฆษณาคุณสมบัติด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเกินความจริง และ 59% ไม่มีการแสดงหลักฐานเพื่อสนับสนุนการอ้างคุณสมบัติสินค้าเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสหภาพยุโรปอาจพิจารณาออกข้อกำหนดขั้นต่ำสำหรับการใช้โลโก้ด้านความยั่งยืนและ/หรือข้อกำหนดด้านการให้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ เพื่อรับมือกับกระแสการฟอกเขียวนี้

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีแนวทางการอุดหนุนธุรกิจบางประเภทที่ขัดแย้งกับหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ การอุดหนุนโรงงานกำจัดขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน ซึ่งเป็นการสร้างสนามแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจที่สามารถนำขยะเหล่านี้ไปรีไซเคิลได้

นาย Jan Huitema ส.ส. ยุโรป มองว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของนโยบาย European Green Deal สหภาพยุโรปจึงต้องเร่งสร้างตลาดสำหรับวัสดุทุติยภูมิเพื่อดึงดูดให้บริษัทต่าง ๆ หันมาลงทุนในเทคโนโลยีและแนวคิดการรีไซเคิลใหม่ ๆ อีกทั้งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 39 และสามารถลดการใช้วัตถุดิบบริสุทธิ์ถึงร้อยละ 28 ซึ่งหากสหภาพยุโรปสามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับใหม่ จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 22.8 พันล้านตันเลยทีเดียว

*************

ที่มา:

https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20210122IPR96214/meps-call-for-binding-2030-targets-for-materials-use-and-consumption-footprint

https://www.europarl.europa.eu/doceo/document/A-9-2021-0008_EN.pdf

https://pro.politico.eu/news/130402

https://pro.politico.eu/news/130358

https://www.euractiv.com/section/circular-economy/news/greenwashing-is-rampant-in-online-stores-consumer-authorities-find/

https://www.euractiv.com/section/circular-economy/news/circular-economy-could-reduce-greenhouse-gas-emissions-by-39/

ขอขอบคุณทีมงาน Thaieurope.net

Credit ภาพปก https://www.europarl.europa.eu/news/en/headlines/society/20210128STO96607/how-the-eu-wants-to-achieve-a-circular-economy-by-2050

 

sustainable_fabric

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ