นโยบายด้านอวกาศของสหภาพยุโรป

นโยบายด้านอวกาศของสหภาพยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,789 view

          ข่าวยานสำรวจ Perseverance ขององค์การอวกาศสหรัฐอเมริกา (National Aeronautics and Space Administration – NASA) ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นอกจากจะเป็นความสำเร็จสำคัญอีกครั้งหนึ่งของ NASA แล้ว ยังอาจกล่าวได้ว่าเป็นความสำเร็จของฝั่งยุโรปด้วยเช่นกัน โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก ESA-Roscosmos ExoMars Trace Gas Orbiter (TGO) ยานโคจรรอบดาวอังคารสำรวจก๊าซ และ ยาน Mars Express ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency – ESA) โดย TGO ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งข้อมูลที่สำคัญจากยาน Perseverance มายังโลกภายใน ๔ ชั่วโมงหลังจากการลงจอด ในขณะที่ยาน Mars Express สนับสนุนจากการติดตามสภาพพื้นที่บริเวณ Jezero Crater บนดาวอังคารที่ยาน Perseverance ลงจอด... ถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านอาจสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับนโยบายอวกาศของฝั่งยุโรป จึงขอประมวลไว้ ดังนี้

          นโยบายอวกาศของสหภาพยุโรปมีเป้าหมายเพื่อจัดการกับปัญหาความท้าทายในยุคปัจจุบัน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเพื่อยกระดับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อพลเมืองของสหภาพยุโรป ปัจจุบัน พลเมืองสหภาพยุโรปพึ่งพิงเทคโนโลยี รวมถึงข้อมูลและบริการดาวเทียมเป็นอย่างมากในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้ระบบนำทางในรถยนต์ การชมโทรทัศน์ดาวเทียม ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางธนาคารล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศทั้งสิ้น นอกจากนั้น สหภาพยุโรปยังใช้ข้อมูลดาวเทียมที่ให้ข้อมูลแบบ real time เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ อาทิ แผ่นดินไหว ไฟป่า และน้ำท่วมฉับพลัน ในการทำให้การประสานงานระหว่างทีมปฏิบัติการฉุกเฉินและทีมกู้ภัยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย

          เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๔ นาย Charles Michel ประธานคณะมนตรียุโรป ได้กล่าวในงานประชุม European Space Conference ครั้งที่ ๑๓ โดยย้ำถึงความสำคัญของนโยบายด้านอวกาศต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและยุคดิจิทัล ตั้งแต่เรื่องข้อมูล Internet of Things (IoT) Broadband การสำรวจโลก และระบบการส่งดาวเทียม/ยานอวกาศสู่ห้วงอวกาศ รวมถึงอุตสาหกรรมอวกาศซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อเป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหภาพยุโรปในการพึ่งพิงตนเองมากขึ้น (Strategic Autonomy) นอกจากนี้ โปรตุเกสในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปวาระมกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๔ ได้ประกาศเป้าหมายที่จะผลักดันโครงการ EU Space Programme (EUSP) ในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๔ นี้ด้วย

          เป้าหมายของโครงการ EU Space Programme (EUSP) คือ การมีฐานข้อมูลด้านอวกาศและการให้บริการที่ทันสมัยและปลอดภัย เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงและการพึ่งพิงตนเองของสหภาพยุโรป ตลอดจนสนับสนุนบทบาทของสหภาพยุโรปในฐานะผู้นำในสาขาอวกาศ โดยในระหว่างปีงบประมาณ ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๗ โครงการ EUSP จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหภาพยุโรปรวม ๑.๔๘ หมื่นล้านยูโร (เพิ่มขึ้นจาก ๑.๒๖ หมื่นล้านยูโรเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๔-๒๐๒๐) โดยแบ่งออกเป็น ๓ โครงการย่อย ได้แก่

          (๑) “Galileo และ EGNOS” ระบบดาวเทียม GPS ของสหภาพยุโรป จำนวน ๙.๐๑ พันล้านยูโร

          (๒) “Copernicus” ระบบดาวเทียมสำรวจโลก จำนวน ๕.๔๓ พันล้านยูโร

          (๓) “SSA และ GOVSATCOM” ระบบดาวเทียมเพื่อการเตือนภัยและการสื่อสารของรัฐบาลจำนวน ๔๔๒ ล้านยูโร

          ทั้งนี้ สหภาพยุโรปมีแผนจะปรับโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการยกระดับ European GNSS[๑] Agency (GSA) ขึ้นเป็น EU Agency for the Space Programme เพื่อให้โครงการย่อยทั้ง ๓ ข้างต้น อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงานเดียว

          ความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นเสาหลักของการดำเนินการด้านอวกาศในระดับโลก (global space effort) มาตลอด ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศที่เปิดเสรี เสริมสร้างการเข้าถึงข้อมูลอวกาศและเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกัน (interoperability) อาทิ เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงเรื่องการแบ่งปันข้อมูลสำรวจทรัพยากรจากดาวเทียม Copernicus เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายการแบ่งปันข้อมูลจากดาวเทียมของภาครัฐเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๗ องค์การ NASA ได้ลงนามความตกลงกับ ESA ร่วมพัฒนายานอวกาศ Orion สำหรับขนส่งมนุษย์ในอวกาศเพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจอวกาศเชิงลึก (deep-space exploration) ด้วย ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๔ สำนักข่าว Luxembourg Times ได้รายงานข่าวว่า นาย Jan Wörner ผู้อำนวยการ ESA แสดงความหวังว่า ยุโรปและสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะสามารถรื้อฟื้นความร่วมมือในภารกิจการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีเพียงสหราชอาณาจักร อิตาลี และลักเซมเบิร์กที่ได้ลงนามความตกลง Artemis Accords กับสหรัฐฯ สำหรับภารกิจการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์และดาวอังคาร เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอื่นของ ESA โดยเฉพาะฝรั่งเศสและเยอรมนีซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของ ESA เกรงว่าโครงการ Artemis จะส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว

          ในอีกด้านของความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ อุตสาหกรรมอวกาศถือเป็นอีกสนามแข่งขันหนึ่งระหว่างมหาอำนาจยุโรป สหรัฐฯ และจีน โดยนอกจากจะมีการแข่งขันระหว่างกันเองแล้ว แต่ละฝ่ายต่างพยายามยื่นความช่วยเหลือให้กับประเทศที่เป็นพันธมิตร ทั้งเพื่อเสริมสร้างบทบาทของตนและแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็สามารถใช้โอกาสจากบริบทการแข่งขันของมหาอำนาจ ในการพิจารณาข้อเสนอความช่วยเหลือหรือความร่วมมือจากหลายฝ่าย ตลอดจนการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับไทย โดยในชั้นนี้ ไทยอยู่ระหว่างพิจารณาความร่วมมือกับโครงการ Copernicus Programme ของสหภาพยุโรป เพื่อนำข้อมูลดาวเทียมสำรวจโลกของยุโรปมาช่วยในการคาดการณ์ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 และในการวางแผนแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ รวมถึงเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ ด้วย ซึ่งสหภาพยุโรปมีท่าทีตอบรับในเชิงบวกต่อความสนใจของไทยด้วย

*******

 

กรมยุโรป
กองสหภาพยุโรป
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

 

[๑] Global Navigation Satellite Systems หรือระบบดาวเทียมสำรวจโลกของสหภาพยุโรป

 

Credit รูปภาพปก: (https://www.eppgroup.eu/newsroom/news/deal-for-a-strong-and-united-europe-in-space)