แผนยุทธศาสตร์การเงินเพื่อความยั่งยืนของสหภาพยุโรป

แผนยุทธศาสตร์การเงินเพื่อความยั่งยืนของสหภาพยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 1,872 view

จากเป้าหมายลดโลกร้อนของสหภาพยุโรปที่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกในทวีปยุโรปให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2573 ก่อนจะปรับลดลงเหลือศูนย์ภายในปี 2593 สหภาพยุโรปจึงให้ความสำคัญกับระบบการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ที่จะทำหน้าที่ช่วยกำกับดูแลให้การใช้งบประมาณของภาครัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า ผ่านการให้สินเชื่อของธนาคารและสถาบันการเงินแก่กิจกรรมหรือธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ต่อสังคมเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปคาดการณ์ว่าการปรับตัวให้สามารถตอบสนองต่อแผนการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและเป้าหมายด้านพลังงานของสหภาพยุโรปนั้น อาจต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจากทั้งจากภาครัฐและเอกชนสูงถึง 350 พันล้านยูโรต่อปี ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม

ในปัจจุบัน คณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ด้านการเงินที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรป (EU Renewed Sustainable Finance Strategy) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอที่ประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและสภายุโรปได้ภายในต้นปี 2564 โดยแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน European Green Deal จะมีความสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ตลอดจนแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และเป็นแนวทางสำคัญที่เอื้อต่อการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างระบบการเงินกับการบรรลุเป้าหมาย
ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทวีปยุโรปในอนาคต รวมถึงช่วยปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจยุโรป ในปัจจุบันไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเน้นการจัดการแบบไร้ของเสีย/ใช้วัสดุหมุนเวียนที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อความยั่งยืนต้องอาศัยเครื่องมือที่หลากหลาย

เพื่อตอบสนองต่อนโยบายข้างต้น คณะกรรมาธิการยุโรปได้มีการนำเสนอแผนปฏิบัติการการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Action Plan) ในเดือนมีนาคม ปี 2561 โดยเน้นเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ (1) ผลักดันให้เกิดการลงทุนที่มีความยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) (2) มุ่งเน้นการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (3) ส่งเสริมความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล และการคำนึงถึงการสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้กับส่วนรวมโดยได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อผลักดันให้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่

  1. จัดทำหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว ซึ่งมีสาระสําคัญเป็นการกําหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าธุรกิจใด
    เข้าข่ายเป็นธุรกิจสีเขียว (EU Taxonomy on environmentally sustainable activities) และออกกฎหมายลําดับรอง (Delegated Acts) เพื่อกําหนดหลักเกณฑ์เชิงเทคนิคด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การส่งเสริม
    การบรรเทาผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change mitigation and adaptation) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564
  2. กำหนดมาตรฐานพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (EU Green Bond Standard) และมาตรฐานฉลากเขียว (Green Label) สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Retail financial products) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนหันมาลงทุนในธุรกิจสีเขียว รวมทั้งเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการเข้าถึงกองทุนฟื้นฟูสีเขียวของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564
  3. พัฒนาเครื่องมือวัดเทียบสมรรถนะการลงทุนในด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขององค์กรไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon benchmarking)
  4. กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) ในงบการเงินเกี่ยวกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
    ด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการแสดงรายได้-ค่าใช้จ่าย ไว้ในรายงานแยกต่างหากจากงบการเงิน เช่น ต้นทุนสิ่งแวดล้อม และหนี้สินสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2564
  5. ผลักดันให้มีการจัดอันดับให้เห็นสถานะทางความยั่งยืนขององค์กร และวิธีการทำวิจัยตลาด เป็นต้น

****************

ที่มา:  https://www.euractiv.com/section/economy-jobs/news/commission-prepares-the-ground-for-ambitious-sustainable-finance-strategy/

ขอขอบคุณทีมงาน Thaieurope.net

Credit ภาพปก https://www.smeunited.eu/news/sustainable-finance-warning-meps-about-putting-sme-finance-at-risk

 

Sustainable_Finance

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ