วันที่นำเข้าข้อมูล 27 พ.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ข้อมูลภูมิหลัง
ปัจจุบันเศรษฐกิจสหภาพยุโรปนั้นยังเป็นเศรษฐกิจแบบเชิงเส้น (Linear Economy) ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตเท่านั้น โดยนาย Frans Timmermons รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้กล่าวว่า “ปัจจุบันมีการนำเข้าวัตถุดิบทุติยภูมิ (secondary material) กลับมาใช้ใหม่ในเศรษฐกิจ
สหภาพยุโรปเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น โดยสินค้าจำนวนมากชำรุดง่าย ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ ซ่อมแซม
หรือรีไซเคิล และผลิตมาเพื่อการใช้แล้วทิ้ง ซึ่งมีศักยภาพมากมายสำหรับธุรกิจและผู้บริโภคในการนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อได้ สหภาพยุโรปจึงเสนอแผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับใหม่นี้ เพื่อปฏิรูปการผลิตสินค้าและสนับสนุนให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกบริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของตนเองและสิ่งแวดล้อม”
แผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป (Circular Economy Action Plan- CEAP) เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ซึ่งเป็นการนำเสนอมาตรการ
เพื่อปรับเปลี่ยนสินค้าในตลาดสหภาพยุโรปให้เป็นสินค้าเพื่อความยั่งยืน และเพิ่มอัตราการใช้วัสดุหมุนเวียนของสหภาพยุโรปเป็นสองเท่าในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า มุ่งหน้าสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว โดยสหภาพยุโรปคาดการณ์ว่า แผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้จะสามารถสร้างงานใหม่กว่า 700,000 ตำแหน่ง
และเพิ่มค่า GDP ของสหภาพยุโรปขึ้นร้อยละ 0.5 ในปี ค.ศ. 2030
สหภาพยุโรปได้เสนอมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าต่าง ๆ ครอบคลุมตลอดทั้งวงจรชีวิต
การผลิตภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่การออกแบบสินค้า กระบวนการผลิต จนถึงการบริโภคสินค้า การซ่อมแซมสินค้า
การนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำสินค้าไปรีไซเคิล รวมถึงการให้สิทธิแก่ผู้บริโภคเพิ่มเติม อาทิ สิทธิในการได้รับข้อมูลในการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยเน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ลดการสร้างขยะ และนำทรัพยากรกลับมาใช้ในวงจรการผลิตของสหภาพยุโรปให้ได้นานที่สุด
การออกแบบสินค้าเพื่อความยั่งยืน
ในภาวะปัจจุบันที่สินค้าตามท้องตลาดต้องแข่งขันกันด้วยราคา โดยเฉพาะการควบคุมราคาต้นทุน
ส่งผลให้สินค้าจำนวนมากผ่านกระบวนการออกแบบและ/หรือผลิตมาเพื่อการใช้งานเพียงครั้งเดียว จึงยากที่จะนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ไม่สามารถซ่อมแซมหรือนำกลับมารีไซเคิลได้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สหภาพยุโรป
จึงกำหนดกรอบนโยบายสำหรับสินค้าเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Product Policy Framework)
โดยสหภาพยุโรปมีแผนที่จะปรับปรุงข้อบังคับด้าน “Ecodesign” (Directive 2009/125/EC setting of ecodesign requirements for energy-related products) ให้ครอบคลุมสินค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นภายในปี 2564 เนื่องจากปัจจุบันข้อบังคับนี้ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวกับพลังงาน/ใช้พลังงานสูงเพียง 40 ประเภทเท่านั้น อาทิ หลอดไฟ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องทำน้ำร้อน และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
หลักการของ “Ecodesign” คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด โดยมีเป้าหมายในการออกแบบสินค้าให้ใช้พลังงานน้อยและหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุ การใช้น้ำ การปล่อยมลพิษ ปัญหาขยะ และการรีไซเคิล เป็นต้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
และลดการผลิตขยะตั้งแต่จุดเริ่มต้น อาทิ หากผู้ผลิตเลือกใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
หรือวัสดุที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ก็จะไม่เกิดปัญหาด้านการจัดการขยะ และนี่คือบทบาทสำคัญของ Ecodesign ในการส่งเสริมแผนปฏิบัติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังมีแผนที่จะเสนอมาตรการด้านกฎหมายอื่น ๆ รวมถึง (1) การห้ามใช้สินค้า
ใช้แล้วทิ้ง (single-use) (2) การปรับปรุงอายุการใช้งานของสินค้าให้ยาวขึ้น (3) การแสดงข้อมูลส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายในสินค้า (4) การเพิ่มสัดส่วนวัสดุจากการรีไซเคิลในสินค้า และ (5) การห้ามทำลายสินค้าคงทน (durable goods) ที่จำหน่ายไม่หมดอีกด้วย เพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป โดยทีมงาน Thaieurope.net จะคอยติดตามพัฒนาการเพื่อมารายงานให้ผู้อ่านทราบในฉบับต่อไป
บทบาทของผู้บริโภคในเศรษฐกิจหมุนเวียน
ผู้บริโภคจะได้รับผลประโยชน์จาก “Rights to Repair” หรือ “สิทธิในการซ่อมแซม” โดยสหภาพยุโรปจะพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบคุ้มครองผู้บริโภคภายในปี 2564 เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล
ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่น่าเชื่อถือได้ ณ จุดขาย อาทิ อายุการใช้งาน/ความทนทานของสินค้า ข้อมูลด้านการซ่อมแซมสินค้า รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตสินค้าต้องจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นเหล่านี้แก่ผู้บริโภค ตลอดจนรายละเอียดของการจัดหาอะไหล่และคู่มือการซ่อมแซมสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้า
ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ภาครัฐเป็นผู้บริโภครายใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงมีแผนส่งเสริม “การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว” ของภาครัฐด้วย โดยการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในการซื้อสินค้าและบริการทีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งย้ำให้เห็นถึงแนวโน้มการบริโภคสินค้าและการบริการของสหภาพยุโรปที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว
อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการหมุนเวียนสูง
เนื่องจากครี่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดมาจากการสกัดและแปรรูปทรัพยากร
สหภาพยุโรปจึงมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย
ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเหลือศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ดังนั้น สหภาพยุโรปจะออกมาตรการควบคุมอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรมากที่สุดและมีศักยภาพในการหมุนเวียนสูง ได้แก่ (1) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
และ ICT (2) แบตเตอรี่และยานยนต์ (3) บรรจุภัณฑ์ (4) พลาสติก (5) สิ่งทอ (6) การก่อสร้างและอาคาร
และ (7) อาหาร โดยสหภาพยุโรปจะพัฒนากฎระเบียบร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพื่อระบุอุปสรรคในการขยายตลาดสำหรับสินค้าเพื่อความยั่งยืนในแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมาย และร่วมกันหาทางออก
ยกตัวอย่างเช่น ร่าง “Circular Electronics Initiatives” สำหรับอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และ ICT ซึ่งสหภาพยุโรปจะเสนอมาตรการภายใต้กรอบข้อบังคับด้าน “Ecodesign” เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าออกแบบอุปกรณ์ที่ยั่งยืน อาทิ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และแล็ปท็อปให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความคงทน สามารถซ่อมแซม รองรับการอัพเกรต นำกลับมาใช้ได้อีก และที่สำคัญสามารถนำไปรีไซเคิลได้ รวมถึงการเสนอให้มีอุปกรณ์ชาร์จทุกครั้งเมื่อซื้ออุปกรณ์ใหม่หรือเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมา
โดยสหภาพยุโรปจะพิจารณาเสนอโครงการรับคืนหรือขายคืนสำหรับมือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์ชาร์จเก่า
เพื่อเป็นการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องและยั่งยืน
การรีไซเคิลเพื่อลดการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ
หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของแผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การลดปริมาณขยะ
ตลอดวงจจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยสามารถลดขยะจากการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน และการรีไซเคิลแทนการผลิตใหม่ทั้งหมด เพื่อลดการใช้วัตถุดิบธรรมชาติและนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด อาทิ การนำขยะอะลูมิเนียมมาใช้ใหม่แทนการผลิตจากวัตถุดิบใหม่ ซึ่งกระบวนการรีไซเคิลแทบไม่ส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติหลักของอะลูมิเนียม จึงทำให้อะลูมิเนียมเป็นวัตถุดิบที่มีศักยภาพในการหมุนเวียน โดยหลายประเทศ
ในสหภาพยุโรปมีการจัดการขยะและแยกขยะอยู่แล้ว ดังนั้น สหภาพยุโรปอาจพิจารณากำหนดระบบการแยกขยะและการติดฉลากที่เป็นหนึ่งเดียวกันในสหภาพยุโรป เพื่อสร้างตลาดสำหรับวัสดุจากการรีไซเคิลที่มีคุณภาพสูง
ซึ่งจะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืนต่อไปของสหภาพยุโรป และจัดการการลักลอบทิ้งขยะผิดกฎหมายอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย อย่างการสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ ธุรกิจด้านการแยกขยะ และธุรกิจด้านการเปลี่ยนแปลงขยะเป็นพลังงาน ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจหมุนเวียนก็เป็นความท้าทายสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชนในการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ตลาดสหภาพยุโรป เป็นต้น โดยภาคธุรกิจอาจพิจารณาประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตสินค้า
และบริการเพื่อความยั่งยืน
***************
ข้อมูลจาก ec.europa.eu เรียบเรียงโดยทีมงาน Thaieurope.net
Credit ภาพปก https://global-recycling.info/archives/1243
รูปภาพประกอบ
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์)