ไทยและสหภาพยุโรปเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

ไทยและสหภาพยุโรปเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 เม.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,346 view

ข่าวสารนิเทศ

ไทยและสหภาพยุโรปเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดการหารือออนไลน์ระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยกับสหภาพยุโรปเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงนโยบาย กฎระเบียบ และแผนการดำเนินงานในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงแสวงหาความร่วมมือในแง่ของการแบ่งปันความรู้และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ ตลอดจนการยกระดับขีดความสามารถของกำลังคน (capacity building)

การสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้แทนของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนกว่า 130 ราย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานไทย ตัวแทนภาคเอกชนไทย เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมาธิการยุโรป และผู้แทนจากสภายุโรป

การหารือออนไลน์แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ 1) นโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน 2) การจัดการขยะพลาสติก และ 3) ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจชีวภาพ

นางศิริลักษณ์ นิยม อุปทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ กล่าวเปิดการหารือออนไลน์ โดยเน้นย้ำถึงการมีเป้าหมายร่วมกันระหว่างไทยและสหภาพยุโรปในการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจเชิงเส้น สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ของไทยนั้น มีความสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือไทย-สหภาพยุโรป

คำนึงถึง “วงจร” ของสินค้า

ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย และได้เสนอแนวทางความร่วมมือกับสหภาพยุโรปใน 4 ด้าน ได้แก่ การประเมินและการติดตามผล มาตรฐานสินค้า โครงการวิจัยและการพัฒนา และการจับคู่ธุรกิจ โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้กล่าวเสริมถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไทยให้ความสำคัญในลำดับแรก ได้แก่ พลาสติก ขยะเศษอาหาร และวัสดุก่อสร้าง

นายกิตติพันธุ์ เทพารักษ์ษณากร ผู้อำนวยการกลุ่มเทคโนโลยีการป้องกันมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลเรื่องแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานความเข้มแข็งของภาคการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

นาย Federico Porra เจ้าหน้าที่ด้านนโยบาย คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม (DG ENV) ได้นำเสนอภาพรวมเรื่องการดำเนินการของอียูภายใต้แผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป (Circular Economy Action Plan: CEAP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสีเขียวของสหภาพยุโรป โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนานโยบายสีเขียวควบคู่กับนโยบายด้านเศรษฐกิจ และนำเสนอแผนการออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดวงจรชีวิตของสหภาพยุโรป อาทิ กฎระเบียบแบตเตอรี่ฉบับใหม่ แผนการออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Products Initiative) รวมถึงแนวคิดให้ผู้ผลิตจัดทำ “Digital Product Passports” เพื่อให้ข้อมูลด้านความยั่งยืนของสินค้าแก่ผู้บริโภค และการปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันการส่งออกขยะพลาสติกจากอียูไปยังประเทศอื่น

บอกลา “โลกพลาสติก”

นางสาววาสนา แจ้งประจักษ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอ Road map การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการจัดการขยะพลาสติกของประเทศซึ่งมีเป้าหมายในการรีไซเคิลขยะพลาสติกเป้าหมายให้ได้ 100% ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายในปี 2570 นอกจากนี้ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อให้การจัดการขยะพลาสติกบรรลุเป้าหมาย โดยมีมาตรการในการจัดการขยะพลาสติก 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มาตรการจัดการพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค และมาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค

นาย Christoffer Vestli เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบาย คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม (DG ENV) เน้นย้ำว่าปัญหาพลาสติกเป็นเรื่องข้ามพรมแดน ซึ่งประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง จึงจําเป็นที่จะต้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบโดยอาศัยความร่วมมือในระดับโลก สหภาพยุโรปจึงจะผลักดันต่อที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5/2 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee:INC) เพื่อการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศเรื่องพลาสติก (global agreement on plastics) ในช่วงต้นปี 2565

หลายความร่วมมือ หลายทางออก

นาย Roman Brenne เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบาย คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการวิจัยและนวัตกรรม (DG RTD) ได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชีวภาพของสหภาพยุโรป โดยมีการกล่าวถึงรูปแบบของความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึง International Bioeconomy Forum ซึ่งประเทศไทยก็สามารถเข้าร่วมได้ นอกจากนี้ ยังได้อธิบายกลไกการสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพผ่านโครงการ Horizon Europe เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด (Helix Model) ระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ และเพื่อพัฒนาทักษะให้แรงงานมีศักยภาพเหมาะสมกับงานใหม่ ๆ ในเศรษฐกิจสีเขียว โดยนางสาว Katarina Grgas Brus เจ้าหน้าที่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (DG ENV) กล่าวเพิ่มเติมว่า สหภาพยุโรปแสวงหาความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและระดับอาเซียน ซึ่งปัจจุบันสหภาพยุโรปมีกิจกรรมและเวทีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนกับหลายประเทศในอาเซียน

ในช่วงท้ายของการหารือฯ อุปทูตศิริลักษณ์ฯ ได้แจ้งถึงพัฒนาการของการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าที่จะลงนามความตกลง PCA กันภายในปีนี้ อันจะเป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป และช่วยสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในหลากหลายประเด็น ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

ดาวโหลด powerpoint presentations ได้ที่ https://bit.ly/rtebxl25032021

 

*****************

1 2   3   4   5  

 

กำหนดการ

วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2564, 9.30-11.30 น. (เวลาบรัสเซลส์) / 15.30-17.30 น. (เวลากรุงเทพฯ)

  • นางศิริลักษณ์ นิยม อุปทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ กล่าวเปิดการหารือออนไลน์
  • 1) นโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน
  • 2) การจัดการขยะพลาสติก
  • 3) ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจชีวภาพ
  • Q & A
  • นางศิริลักษณ์ นิยม อุปทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ กล่าวปิดการหารือออนไลน์
 
วิทยากร

ดร. กาญจนา วานิชกร

รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

นายกิตติพันธุ์ เทพารักษ์ษณากร

ผู้อำนวยการกลุ่มเทคโนโลยีการป้องกันมลพิษ กองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

Federico Porra

เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบาย คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม (DG ENV)

วาสนา แจ้งประจักษ์

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Christoffer Vestli

เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบาย คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม (DG ENV)

Roman Brenne

เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบาย คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการวิจัยและนวัตกรรม (DG RTD)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ