ไทยและสหภาพยุโรปเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

ไทยและสหภาพยุโรปเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 เม.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,269 view

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้จัดการหารือออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและบทเรียนความก้าวหน้าในการดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ระหว่างหน่วยงานไทยกับหน่วยงานสหภาพยุโรป โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมการบรรยายจากทั้งสองฝ่ายรวม 6 คน ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้แทนของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนกว่า 130 คน เข้าร่วมหารือถึงแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างสหภาพยุโรปและไทยในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เน้นย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลไทยที่กำหนดให้โมเดลแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) เป็นวาระแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการเจริญเติบโตระยะยาวอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรปที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน จึงเล็งเห็นประโยชน์ที่จะจัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงนโยบายและกฎระเบียบ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือระหว่างไทยและสหภาพยุโรปในหัวข้อดังกล่าว ซึ่งครอบคลุม 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) นโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไทย-สหภาพยุโรป 2) การจัดการขยะพลาสติก และ 3) แนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio-Economy

คำนึงถึง “วงจร” ของสินค้า

ผู้แทนฝ่ายไทยได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย โดยได้เล่าถึงธุรกิจใหม่ ๆ ที่ต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย อาทิ นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างจากเปลือกไข่เหลือทิ้ง กระเบื้องโมเสคที่ผลิตจากเปลือกข้าว และผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าเหลือใช้ ทั้งนี้ สิ่งที่ภาครัฐต้องเตรียมพร้อมมีทั้งการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การพัฒนาทักษะแรงงาน รวมทั้งการมองหาหุ้นส่วนในการทำธุรกิจให้ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะ SME

ผู้แทนฝ่ายสหภาพยุโรปอธิบายเรื่องแผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป (Circular Economy Action Plan: CEAP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย European Green Deal โดยมุ่งปรับกระบวนการตลอดอายุของสินค้า ตั้งแต่การออกแบบสินค้า การเลือกใช้วัสดุหรือวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การบริโภค การซ่อมแซมสินค้า การจัดการของเสีย จนถึงการนำสินค้าไปรีไซเคิลใหม่ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยสหภาพยุโรปมีแผนการออกกฎหมาย/กฎระเบียบ อาทิ การกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Products Initiative) การให้ผู้ผลิตจัดทำ “Digital Product Passports” เพื่อให้ข้อมูลด้านความยั่งยืนของสินค้าแก่ผู้บริโภค กฎระเบียบใหม่เรื่องแบตเตอรี่ และการแก้ไขกฎหมายห้ามส่งออกขยะให้เข้มงวดขึ้น

บอกลา “โลกพลาสติก”

ผู้แทนฝ่ายไทยเล่าถึงโรดแมพด้านการจัดการขยะพลาสติกแบบบูรณาการของไทย พ.ศ. 2561 – 2573 ซึ่งมีเป้าหมายในการรีไซเคิลขยะพลาสติกเป้าหมายให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในปี 2570 โดยจะใช้มาตรการกำกับตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการการผลิต รวมทั้งมาตรการลด-เลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) และการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภคเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

ผู้แทนฝ่ายสหภาพยุโรปกล่าวว่า “ขยะพลาสติก” ถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ซึ่งประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง จึงจําเป็นที่จะต้องสร้างความร่วมมือในระดับโลก ในการนี้ สหภาพยุโรปจึงมีแผนจะผลักดันให้มีการเจรจาสนธิสัญญาว่าด้วยพลาสติก (Global Agreement on Plastics) เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

หลายความร่วมมือ หลายทางออก

การหารือยังครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยฝ่ายไทยประสงค์ร่วมมือกับสหภาพยุโรปใน 4 มิติ ได้แก่ การประเมินและการติดตามผล มาตรฐานสินค้า การวิจัยและพัฒนา และการจับคู่ธุรกิจ ในขณะที่ฝ่ายสหภาพยุโรปกล่าวถึงกลไกความร่วมมือ เช่น International Bioeconomy Forum กองทุนวิจัย Horizon Europe ซึ่งไทยสามารถเข้าร่วมได้และเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงาน European Research and Innovation Days แบบออนไลน์ในวันที่ 23-24 มิถุนายน นี้ โดยสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://research-innovation-days.ec.europa.eu/how นอกจากนี้ ในกรอบอาเซียน สหภาพยุโรปได้สนับสนุนการจัดตั้ง ASEAN Platform on Circular Economy เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยแพลตฟอร์มนี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue) ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยในการปรับตัวเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน และยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจและการตลาดให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานของตลาดส่งออกสำคัญ ซึ่งรวมถึงตลาดยุโรป โดยงานหารือในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนของไทยในการผสานให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้และประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากสหภาพยุโรป ซึ่งมีความก้าวหน้าทั้งด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม โดยเฉพาะการสร้างโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ อันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการของไทยในเรื่องนี้ต่อไป

********************