โทรศัพท์มือถือทุกยี่ห้อต้องใช้หัวชาร์จแบบเดียวกันทั้งหมดภายในปี 2567

โทรศัพท์มือถือทุกยี่ห้อต้องใช้หัวชาร์จแบบเดียวกันทั้งหมดภายในปี 2567

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,774 view

ปัจจุบัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic waste) หรือที่หลายคนเรียกกันว่า e-Waste ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญ รวมไปถึงหาทางแก้ไข เพราะเทคโนโลยีที่พัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็วทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป ลำโพง รวมถึงหูฟัง กลายเป็นของที่ตกรุ่นไปอย่างรวดเร็วและกลายเป็นขยะไร้ค่าในที่สุด

สำหรับความคืบหน้าเรื่องนี้ในสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอร่างแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับอุปกรณ์วิทยุ (Radio Equipment Directive) โดยกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีหันมาใช้หัวชาร์จไฟชนิด USB-C เป็นมาตรฐานสากลของยุโรป สำหรับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ได้แก่ แท็บเล็ต หูฟัง ลำโพงพกพา และอุปกรณ์เสริมสำหรับวีดีโอเกมต่างๆ โดยมีข้อยกเว้นสำหรับเครื่องอ่านหนังสือ (E-readers) และแท่นชาร์จแบบไร้สาย (wireless charger) เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานแก่ผู้บริโภคและลดปริมาณขยะ รวมทั้งต้องออกแบบเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ที่ใช้ระบบชาร์จเร็ว (fast charge) ให้สามารถใช้งานร่วมกันกับแบรนด์อื่นๆ ได้

นอกจากนี้ ยังห้ามการขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พ่วงสายชาร์จ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ที่ชาร์จไฟของเดิมที่มีอยู่เมื่อซื้อโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตเครื่องใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยลดการสูญเปล่าของทรัพยากรและลดปริมาณขยะ e-Waste ที่ไม่จำเป็น และได้กำหนดให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของสายชาร์จเช่น ปริมาณการจ่ายไฟ หรือเทคโนโลยีการชาร์จไฟ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสายชาร์จที่เหมาะสมกับเครื่องสมาร์ทโฟนของตน ซึ่งภายใต้นโยบายทั้งหมดนี้ EU คาดว่าจะช่วยผู้บริโภคประหยัดเงินได้ถึงปีละ 250 ล้านยูโร

ร่างกฎหมายฉบับนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัท Apple ที่ปัจจุบันใช้หัวชาร์จแบบไลต์นิ่ง (Lightning connector) สําหรับ iPhone ในขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง Samsung หรือ Huawei ได้เริ่มใช้หัวชาร์จไฟแบบ USB-C กับสมาร์ทโฟน Android รุ่นใหม่แล้ว โดยหลังจากที่มีการประกาศร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา Apple ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าเงื่อนไขใหม่นี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค

คาดว่าการปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้จะได้รับความสนับสนุนอย่างมากจากสมาชิกรัฐสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป ที่มองว่า EU จำเป็นต้องเอาจริงเอาจังกับการลดปริมาณขยะ e-Waste โดยจะมีผลในการจัดระเบียบที่สอดคล้องกันในทุกประเทศสมาชิก EU เพื่อให้มีผลบังคับภายใน 2 ปีหลังร่างกฎหมายผ่านการเห็นชอบในระดับ EU ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีหน้า

* * * * * * *

ที่มา: https://thaieurope.net/2021/09/28/eu-common-charger-proposal/