เกาะติดกฎระเบียบและมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปภายใต้นโยบาย European Green Deal

เกาะติดกฎระเบียบและมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปภายใต้นโยบาย European Green Deal

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,818 view

แผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวยังคงเป็นนโยบายเด่นของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้มีการปฏิรูปกฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมมิติต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือเพียงร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030 และมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 จึงไม่แปลกใจที่สหภาพยุโรปจะมีการกำหนดให้เสนอมาตราการจัดเก็บภาษีด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านี้

ภาษีสิ่งแวดล้อม = แหล่งรายได้สนับสนุนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ผู้นำสหภาพยุโรป 27 ประเทศได้มีมติเห็นพ้องกับคณะกรรมาธิการยุโรปในการอนุมัติกรอบงบประมาณการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปภายหลัง COVID-19 หรือ “Next Generation EU (NGEU)” ซึ่งมีมูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร เพิ่มเติมจากกรอบงบประมาณระยะยาว (Multiannual Financial Framework – MFF) ของสหภาพยุโรปสำหรับปี 2564-2571 มูลค่า 1.075 ล้านล้านยูโร โดยสหภาพยุโรปมองว่า การกู้เงินเพิ่มเติม
เพื่อใช้สนับสนุนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับนี้จะต้องไม่เบียดเบียนภาษีของประชาชน จึงจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้อื่น
มาทดแทนผู้นำสหภาพยุโรปได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีจากภาคเอกชนและ/หรือต่างประเทศ และเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 สภายุโรปได้มีมติสนับสนุนให้มีการหาแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนอื่นเพื่อสนับสนุน
แผนฟื้นฟูฯ เช่นกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดเก็บ 1) ภาษีคาร์บอน (carbon tax) 2) ภาษีพลาสติก (plastic tax) และ 3) ภาษีดิจิทัล (digital tax) เป็นต้น

จากการรายงานของ Eurostat เมื่อปี 2561 สหภาพยุโรปมีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมกว่า 325 พันล้านยูโร
ซึ่งนับเป็นร้อยละ 2.4 ของ GDP สหภาพยุโรป โดยรายได้ส่วนมากมาจากภาษีพลังงานร้อยละ 77.7 ตามด้วยภาษีการคมนาคมร้อยละ 19.1 และภาษีมลพิษและทรัพยากรต่าง ๆ ร้อยละ 3.3 จึงเห็นได้ว่า การจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมนั้นเหมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว กล่าวคือ เป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืน
ในระยาว และเป็นการสร้างรายได้ในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูง
ที่สหภาพยุโรปจะนำเสนอมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมในอนาคต

สหภาพยุโรปปูทางสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอนภายใน 30 ปี

1) สหภาพยุโรปมีกำหนดปรับปรุงและขยายการใช้มาตรการ EU Emissions Trading Scheme หรือ EU ETS สำหรับปี 2564-2573 เพื่อทบทวนการเรียกเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม บางประเภทที่ใช้พลังงานในการผลิตสูง อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและโรงงานต่าง ๆ อุตสาหกรรม
การเดินเรือสมุทรและอุตสาหกรรมการบิน ตลอดจนอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการขนส่ง เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีการปรับอัตราการเก็บภาษีขึ้นจาก 25 ยูโรต่อตัน เป็น 35 ยูโรต่อตัน ซึ่งที่ผ่านมา การใช้มาตรการ EU ETS ส่งผลให้สินค้าสหภาพยุโรปมีราคาต้นทุนสูงกว่าสินค้านำเข้า จึงทำให้ผู้ประกอบการสหภาพยุโรปเสียเปรียบและไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการรั่วไหลของคาร์บอนอย่างแท้จริง จึงต้องคอยติดตามว่า มาตราการฉบับปรับปรุงระยะที่ 4 นี้จะ
เปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งทางทีมงานฯ จะคอยจับตากฎระเบียบใหม่เพื่อมารายงานในโอกาสแรก

2) สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน เพื่อให้สินค้าที่นำเข้าจาก ต่างประเทศต้องจ่ายต้นทุนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในสหภาพยุโรป โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ในชั้นนี้ กลไกของมาตรการนี้ยังไม่เป็นรูปธรรม ซึ่งสหภาพยุโรปอาจ เสนอในรูปแบบการเก็บภาษีคาร์บอน การนำระบบซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาปรับใช้ หรือรูปแบบอื่น ๆ ที่เหมาะสม โดยขณะนี้ ขั้นตอนของการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (public consultation) ได้เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ซึ่งผู้สนใจไม่ว่าจะเป็นพลเมืองสหภาพยุโรปหรือต่างชาติสามารถเข้าไปร่วมให้
ความเห็นได้ ทั้งนี้ คณะกรรมธิการยุโรปจะนำความคิดเห็นไปประกอบการพิจารณาออกกฎระเบียบในช่วง
เดือนมิถุนายน 2564 ควบคู่กับมาตรการ EU ETS ฉบับปรับปรุงต่อไป

สหภาพยุโรปสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมใหม่หรือเพิ่มกำแพงทางการค้า

นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า มาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนนี้ เป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตในต่างประเทศและผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปลดปริมาณการปล่อย
ก๊าซคาร์บอน โดยยังรักษาความเสมอภาคในการแข่งขันและไม่ขัดกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก
ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต่างจับตามองว่า ในทางปฎิบัติมาตรการนี้จะออกมาในรูปแบบใด เนื่องจากนักวิเคราะห์บางส่วนแสดงความเห็นว่า มาตรการนี้ดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มกำแพงทางการค้าของสหภาพยุโรป มากกว่า
การเป็นผู้นำด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยเองก็ไม่ได้อยู่เฉย โดยเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์
ได้จับมืออียูจัดสัมมนาออนไลน์ระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติระหว่างไทย-สหภาพยุโรปร่วมกับกรมยุโรป
กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของ
สหภาพยุโรป ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้แทนของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนกว่า 60 ราย โดยงานสัมมนานี้
เป็นการเตรียมความพร้อมให้ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน อาทิ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น เพื่อเตรียมปรับธุรกิจตามมาตรการเก็บภาษีใหม่ดังกล่าว

สหภาพยุโรปโบกมือลาพลาสติกใช้แล้วทิ้ง

การจัดเก็บภาษีพลาสติกเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการจัดหาแหล่งรายได้สาหรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป โดยจากการประเมินขั้นต้นคาดว่า สหภาพยุโรปจะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 6 ถึง 8 พันล้านยูโรจากการเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่สามารถนานำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งคำนวณจากอัตราประเมินเบื้องต้นอยู่ที่ 0.80 ยูโรต่อกิโลกรัม แม้สหภาพยุโรปมีการกำหนดการออกมาตรการจัดเก็บภาษีพลาสติกนี้ภายในเดือนมกราคม 2564 ตอนนี้ยังไม่มี
รายละเอียดชัดเจน (ข้อมูลจาก KPMG)

ตามที่สภายุโรปได้ลงมติผ่านร่างข้อบังคับเพื่อห้ามใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (EU Single-Use Plastics Directive (SUPD)) ตั้งแต่แต่เดือนมีนาคม 2562 เช่น หลอดพลาสติก ช้อน ส้อม มีดและจานพลาสติก รวมถึงก้านสำลีที่แกนทำมาจากพลาสติก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2564 เช่นกัน โดยใช้หลักการ “polluter pays” หรือ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตบุหรี่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อขยะพลาสติกจากก้นกรองบุหรี่และผู้ผลิตอุปกรณ์ตกปลาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อขยะจากแหพลาสติกในทะเล เป็นต้น

สหภาพยุโรปมีกำหนดตีพิมพ์แนวทางปฏิบัติ (guidelines) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 แล้ว แต่ทว่าขณะนี้
ยังมีประเด็นถกเถียงเรื่องการให้คำจำกัดความและขอบเขตของประเภทสินค้าที่จะถูกแบนภายใต้ข้อบังคับ ดังนี้

1) พลาสติก/โพลีเมอร์ เนื่องจากพลาสติกส่วนมากทามาจากน้ำมันดิบ แต่ก็มีโพลีเมอร์บางส่วนที่ทำมาจากวัตถุดิบอื่น เช่น ก๊าซธรรมชาติ เซลลูโลส และแป้งจากพืช เป็นต้น อย่างเช่น Cellophane ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพลาสติกคาดว่าจะได้รับการยกเว้นข้อบังคับนี้

2) พลาสติกใช้แล้วทิ้ง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมอาหารได้แย้งว่า ภาชนะบรรจุภัณฑ์อาหารขนาดใหญ่ เช่น
ถุงใส่มันฝรั่งทอดถุงใหญ่ หรือขวดน้ำอัดลมขนาด 1.5 ลิตรนั้นเป็น "multi-use" เพราะผู้บริโภคไม่ได้ใช้เพียง
ครั้งเดียว แต่มีการเก็บไว้รับประทานวันหลัง จึงเรียกร้องให้มีการยกเว้นภาชนะบรรจุอาหารที่ใช้ได้หลายครั้งเหล่านี้ด้วย

แก้ปัญหาให้ถูกจุด เริ่มที่การออกแบบสินค้า

สหภาพยุโรปได้ปรับปรุงข้อบังคับเรื่องบรรจุภัณฑ์และขยะจากบรรจุภัณฑ์ (EU Packaging and Packaging Waste Directive) โดยมีกำหนดออกมาตรการส่งเสริมการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ ซึ่ง EU Circular Economy Action Plan ได้ตั้งเป้าที่จะรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 75 ภายในปี ค.ศ. 2030
ส่งผลให้สินค้าในตลาดสหภาพยุโรปจำนวนหนึ่งก็ได้เริ่มมีการติดฉลากเพื่อแสดงให้เห็นว่า บรรจุภัณฑ์ของตนสามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือทำจากวัสดุรีไซเคิลแล้ว อาทิ บรรจุภัณฑ์ไส้กรอก และบรรจุภัณฑ์โยเกิร์ตในเบลเยียมได้มี
การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ โดยมีการติดฉลาก “This package is 75% recyclable” และสามารถแยกส่วน
ที่ทำจากพลาสติกออกจากกระดาษ และนำกระดาษไปรีไซเคิลได้ เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจจากกลุ่มลูกค้ารักษ์โลกและปฏิบัติตามมาตรการสหภาพยุโรป ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจศึกษาแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ และปรับเปลี่ยนสินค้าให้เหมาะสมกับแนวโน้มการด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป ดังนั้น ไทยอาจใช้โอกาส
ที่
สหภาพยุโรปนำเสนอมาตรการด้านภาษีสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจไทย โดยคำนึงถึงกระแสผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตระหนักถึง
carbon footprint และนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการสร้าง “added value” ให้กับสินค้าและบริการ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาด
สหภาพยุโรป

 

เรียบเรียงโดยทีมงาน thaieurope.net

ข้อมูลจาก www.europa.eu www.euractiv.com และ www.home.kpmg