‘อีอีซี’ พร้อมเดินหน้าเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนระดับโลก

‘อีอีซี’ พร้อมเดินหน้าเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนระดับโลก

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,339 view

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ สำนักงาน​คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ German Global Trade Forum Berlin ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “Global E-Mobility Solutions - Accelerating EV Industry in Thailand; ASEAN meets Europe: The Eastern Economic Corridor (EEC) of Thailand” เพื่อแสดงความพร้อมและศักยภาพของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (Eastern Economic Corridor- EEC) ในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีผู้แทนองค์กรภาครัฐและเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศไทย ยุโรป และจีนร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคยานยนต์ไฟฟ้าของไทยในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทั้งนี้ ผู้แทนกรมยุโรปเข้าร่วมรับฟังด้วย

ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงาน​คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ย้ำในประเด็นสำคัญว่า ไทยเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมยานยนต์อันดับ ๑ ในอาเซียนและอันดับ ๑๐ ของโลก รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมุ่งพัฒนาให้ ‘อีอีซี’ มีระบบนิเวศที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในเชิงนโยบายสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างเครือข่าย 5G ซึ่งขณะนี้ครอบคลุมพื้นที่นำร่องของอีอีซีทั้งหมดแล้ว โดยนาย Volker Blandow ประธานฝ่ายยานยนต์ไฟฟ้าแห่ง TÜV SÜD บริษัทตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากเยอรมนี ซึ่งมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในอีอีซี ตอบรับว่า อีอีซีมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี

ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังมีอัตราการแข่งขันที่ต่ำ จึงถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยรายใหม่ที่จะเข้าร่วมเป็นผู้เล่นรายแรก ๆ ในตลาดโดยธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงจำกัดอยู่แค่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจระบบขนส่งทางรางและขนส่งมวลชนอื่น ๆ ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งธุรกิจเหมืองแร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าด้วย ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถแสวงหาร่วมมือและจับคู่กับบริษัทในต่างประเทศซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่สนใจเข้ามาลงทุนในอีอีซีเพื่อเพิ่มศักยภาพและต่อยอดช่องทางการประกอบธุรกิจ อาทิ บริษัท Siemens Mobility และบริษัท ELO Mobility ของเยอรมนี บริษัท Shenzhen Winline จีน และบริษัท Eurobattery Minerals AB ของสวีเดน เป็นต้น

สำหรับการขับเคลื่อน คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเป็นกลไกระดับชาติที่บูรณาการการทำงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันนโยบายภาคยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำพาประเทศก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกต่อไป

*   *   *   *   *

กองยุโรปกลาง

กรมยุโรป

มิถุนายน ๒๕๖๔

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ