สหภาพยุโรปเสนอร่างกฎหมาย AI ฉบับแรกของโลก ห้ามการสอดส่องดูแลมวลชนและระบบเครดิตทางสังคม

สหภาพยุโรปเสนอร่างกฎหมาย AI ฉบับแรกของโลก ห้ามการสอดส่องดูแลมวลชนและระบบเครดิตทางสังคม

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 เม.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,155 view

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมาย AI ฉบับแรกของโลก โดยคณะกรรมาธิการยุโรป เสนอให้ห้ามใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการสอดส่องดูแลมวลชน หรือ การนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ทั่วไปกับบุคคลธรรมดาโดยไม่เจาะจงบุคคล อาทิ การเฝ้าสังเกตและติดตามบุคคลธรรมดาทั้งในสภาพแวดล้อมจริงและทางดิจิทัล ตลอดจนการเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูลอัตโนมัติจากช่องทางต่างๆ รวมถึงการห้ามใช้ “The Social Credit System” หรือ ระบบเครดิตทางสังคมที่มีการใช้ในจีน

โดยร่างกฎหมายนี้ มุ่งเป้าในการควบคุมกลุ่มเทคโนโลยี AI ที่มีความเสี่ยงสูง (high-risk AI applications) ตามที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอให้พิจารณาจัดทำรายชื่อกลุ่มเทคโนโลยี AI ที่มีความเสี่ยงสูงในสมุดปกขาวด้าน AI กล่าวคือ อุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวและมีผลกระทบสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมพลังงาน และกิจการภาครัฐที่สำคัญ ซึ่งหมายความว่าการประยุกต์ใช้ AI ในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองโดยบุคคลที่สามก่อน โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ที่มีการใช้ข้อมูลไบโอเมทริกซ์ อาทิ เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในพื้นที่สาธารณะ (ไม่เกี่ยวกับการใช้ฟังชั่น Face ID ในอุปกรณ์ส่วนบุคคล)

อีกหนึ่งประเด็นที่คณะกรรมาธิการยุโรปให้ความสำคัญ คือ การออกกฎหมายฯ เพื่อป้องกันการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ในการละเมิดค่านิยมของสหภาพยุโรปหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงระบบ AI ที่สามารถชักจูงพฤติกรรมของประชาชนและระบบ AI ที่มุ่งเป้าที่กลุ่มเสี่ยง อาทิ ของเล่นเด็กที่มีโปรแกรมเสียงนำพาซึ่งอาจชักจูงให้เด็กทำกิจกรรมที่เป็นอันตราย ตลอดจนซอฟต์แวร์เพื่อการประมวลผลใบสมัครงานที่อาจมีการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้มีการเสนอให้มีมาตรการลงโทษบริษัทผู้ละเมิดกฎหมาย AI โดยการปรับในอัตราร้อยละ 6 ของยอดขายของบริษัทจากทั่วโลก หรือถึง 30 ล้านยูโร

อย่างไรก็ดี ในร่างกฎหมายฯ นี้ได้ระบุไว้ว่า รัฐบาลในสหภาพยุโรปและหน่วยงานของภาครัฐจะยังสามารถใช้เทคโนโลยี AI ในการสอดส่องดูแลมวลชนเพื่อรักษาความปลอดภัยของสาธารณะได้ เนื่องจากการห้ามใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้ในกรณีที่ภาครัฐมีความจำเป็นต้องรักษาความปลอดภัยของส่วนรวม อาทิ ในกรณีตำรวจจำเป็นต้องใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อตามจับผู้ก่อการร้าย เป็นต้น

สุดท้ายนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยังได้ระบุถึงการจัดตั้ง “European Artificial Intelligence Board” หรือ คณะกรรมการด้าน AI ของยุโรป ซึ่งจะประกอบด้วยผู้แทน 1 คนต่อประเทศสมาชิก EU27 และผู้แทนจากคณะกรรมาธิการยุโรป รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของยุโรป (European Data Protection Supervisor (EDPS)) เพื่อพิจารณาเสนอแนวทางปฏิบัติและความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้าน AI ในสหภาพยุโรปและรายชื่อกลุ่มเทคโนโลยี AI ที่มีความเสี่ยงสูง

*******

เรียบเรียงโดย ทีมงาน thaieurope.net

ที่มา:
https://www.politico.eu/article/europe-throws-down-gauntlet-on-ai-with-new-rulebook/
https://www.reuters.com/article/us-eu-tech-artificialintelligence-idUSKBN2C81E0
https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/SPEECH_21_1866
https://www.euractiv.com/section/digital/news/commission-to-ban-indiscriminate-surveillance-in-leaked-ai-plans/