ร่างกฎหมาย EU Artificial Intelligence Act (EU AI Act)

ร่างกฎหมาย EU Artificial Intelligence Act (EU AI Act)

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ต.ค. 2566

| 1,936 view

Blue_Futuristic_Technology_Desktop_Wallpaper

            สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมายว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (EU Artificial Intelligence Act: EU AI Act) ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่พยายามควบคุมการใช้งาน AI ไม่ให้ส่งผลกระทบด้านลบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์

            - 21 เมษายน 2564 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการควบคุม AI โดยมีเป้าหมายเพื่อ 1) ประกันว่าระบบ AI ในสหภาพยุโรปจะเคารพสิทธิ         ขั้นพื้นฐานและรักษาค่านิยมของสหภาพยุโรป 2) อำนวยความสะดวกในการลงทุนและการสร้างนวัตกรรม และ 3) สร้างกฎระเบียบที่ชัดเจนสำหรับหน่วยงานควบคุม AI

            - 6 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรีสหภาพยุโรปรับรองแนวทางร่วมของประเทศสมาชิกในการพัฒนาร่างกฎหมาย AI

            - 13 มิถุนายน 2565 สภายุโรปเห็นชอบร่างกฎหมาย AI

            - เดือนตุลาคม 2566 อยู่ในช่วงเจรจาหารือ

            - เดือนพฤศจิกายน 2566 ประกาศใช้ร่างกฎหมาย AI

            - ปลายปี 2568 ร่างกฎหมาย AI มีผลบังคับใช้

            AI แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1) AI ที่ไม่สามารถยอมรับได้ (Unacceptable AI) ห้ามใช้งานในสหภาพยุโรป เช่น การใช้ AI ในการให้คะแนนบุคคล (social scoring) โดยหน่วยงานรัฐ 2) AI ที่มีความเสี่ยงสูง (High-risk AI) ผู้ให้บริการจะต้องนำระบบ AI ขึ้นทะเบียนและเข้ารับการตรวจสอบรับรองก่อนนำออกสู่ตลาด เช่น เครื่องจักร ของเล่น อุปกรณ์วิทยุ และ 3) AI ที่มีความเสี่ยงต่ำ (Limited-risk AI) หรือไม่มีความเสี่ยง (No-risk AI) สามารถใช้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข เช่น แอปพลิเคชันมือถือ วีดีโอเกม ระบบกรองสแปม เป็นต้น

            ข้อบังคับจะครอบคลุมการใช้งานและการควบคุมระบบ AI ในประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรปหลายมิติ อาทิ 1) ห้ามส่งออกระบบ AI เพื่อการกระทำต้องห้ามตามร่างกฎหมายฯ 2) บังคับใช้ข้อกำหนดต่าง ๆ โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ให้บริการระบบ AI 3) ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการสร้างผลงานจาก AI ที่จะนำเข้ามาใช้ในเขตสหภาพยุโรป และ 4) หากระบบ AI ที่มีผู้ดำเนินการอยู่นอกเขตมีแนวโน้มกระทบต่อบุคคลในเขตสหภาพยุโรป จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเช่นเดียวกัน

 

 

ข้อมูลอ้างอิงจากสถานเเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์