มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียูอาจออกมาในรูปแบบของระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (ไม่ใช่ภาษีคาร์บอน)

มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียูอาจออกมาในรูปแบบของระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (ไม่ใช่ภาษีคาร์บอน)

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,961 view

         เว็บไซต์ Euractiv รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส (The French Association of Large Companies: AFEP) ซึ่งมีสมาชิกรวม 113 บริษัท ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ “Trade & Climate: Friends of Foe? Making the Case for CBAM and Green Trade Rules” เพื่อเสนอแนวทางการดำเนินการและข้อเสนอแนะของภาคเอกชนในการสนับสนุนมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยุโรปฝ่ายภาษีและสหภาพศุลกากร (DG Taxud) และคาดว่าจะนำเสนอให้คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและสภายุโรปพิจารณาภายในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2566 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

  1. มาตรการ CBAM เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน และรักษาศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจยุโรป

          นาย Patrick POUYANNE บริษัท Total มองว่าอียูมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการ CBAM เพื่อช่วยสร้างความเสมอภาคในการแข่งขันทางธุรกิจ หรือ “level playing field” ให้บริษัทยุโรป ซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบประเทศคู่ค้าหากพิจารณาด้านต้นทุนค่าการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจกที่ต้องจ่ายซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าแพงกว่าสินค้านำเข้าจากประเทศที่มีกฎระเบียบด้านการปล่อยคาร์บอนที่เข้มงวดน้อยกว่า ทั้งยังช่วยกดดันให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเร่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากข้อมูลของ AFEP ในปัจจุบัน ราคาของการซื้อ-ขายใบอนุญาตฯ ภายใต้ระบบ European Union Emission Trading Scheme: EU ETS อยู่ที่ 30 ยูโร/ตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ยูโร/ตัน ในปี 2573 และมกกว่า 230 ยูโร/ตัน ในปี 2593

  1. ประเภทอุตสาหกรรมที่จะถูกใช้มาตรการ CBAM

         มาตรการ CBAM จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้าบางประเภทก่อน โดยมักมีการยกตัวอย่างเคมีภัณฑ์ เหล็ก และซีเมนต์ว่าจะเป็นเป้าหมายแรกของมาตรการ CBAM เนื่องจากการผลิตสินค้าเหล่านี้ใช้พลังงานสูง มีคู่แข่งจากต่างประเทศและไม่สามารถเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้พลังงานไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำได้ง่าย นาย Benjamin ANGEL จากหน่วยงานภาษีของ EU กล่าวว่าอียูน่าจะเริ่มใช้มาตรการ CBAM กับสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ (Raw Material) ก่อนเนื่องจากมีความยุ่งยากน้อยกว่า ก่อนที่จะขยายเพิ่มไปยังสินค้าอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทานที่มีลักษณะซับซ้อนกว่า

  1. รูปแบบของมาตรการ

         ขณะนี้อียูกำลังทำการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ (Cost / Benefit Analysis) ของมาตรการ CBAM โดยมีทางเลือก 2 แบบคือ การเก็บภาษีคาร์บอน หรือการใช้ระบบตลาดซื้อ-ขายคาร์บอน (ในลักษณะคล้ายกับตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนของอียู หรือ European Union Emission Trading Scheme: EU ETS)

         นาย Bernd LANGE สส. ยุโรปชาวเยอรมันและประธานคณะกรรมธิการด้านการค้าระหว่างประเทศของสภายุโรป กล่าวว่าได้มีการตัดทางเลือกเรื่องภาษีคาร์บอนออกไปแล้ว เนื่องจากอาจจะไม่สอดคล้องกับกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) ในทำนองเดียวกัน นาย Pascal CANFIN สส. ยุโรปชาวฝรั่งเศสและประธานคณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของสภายุโรป ย้ำว่า มาตรการ CBAM ไม่ใช่ภาษี แต่จะเป็นค่าธรรมเนียม (Charge) ที่เรียกเก็บกับสินค้านำเข้าและสะท้อนราคาคาร์บอนในตลาด EU ETS

         นาย ANGEL จากหน่วยงานด้านภาษีของอียู อธิบายว่า ภายใต้ระบบ EU ETS ผู้ผลิตจะต้องซื้อใบอนญาติปล่อยก๊าซคาร์บอน ไม่ใช่การจ่ายภาษี โดยหากมีการใช้ระบบ EU ETS กับสินค้านำเข้า ค่าธรรมเนียมก็จะเท่ากับเกณฑ์มาตรฐานของการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสินค้านั้นคูณด้วยราคาคาร์บอนต่อหน่วย ทั้งนี้ ระบบ EU ETS ที่ใช้กับสินค้านำเข้าจะไม่ได้อนุญาติให้บริษัทสามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตกันได้

         นาย ANGEL กล่าวต่อไปว่า ปัญหาอีกประการคือ จะทำอย่างไรกับประเทศที่มีการใช้ระบบตลาดคาร์บอนในระดับรัฐ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ นาย CANFIN ตอบว่าจะต้องพิจารณาว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องนั้นอยู่ภายใต้ระบบตลาดคาร์บอนที่เทียบเคียงได้กับ EU ETS หรือไม่ หรือว่าได้มีการกำหนดราคาคาร์บอนที่เทียบเคียงได้กับราคาคาร์บอนของอียูหรือไม่ ซึ่งตรวจสอบได้ง่าย โดยอาจดูจากปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในรัฐนั้น หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือของโรงงานนั้นเอง ซึ่งต้องพิจารณาต่อไป

  1. อียูจะนำรายได้จากมาตรการ CBAM ไปใช้อย่างไร

         นาย PETRICCION หน่วนงานการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของอียู (DG Clima) กล่าวว่า รายได้จากมาตรการ CBAM จะเข้าสู่งบประมาณของอียูเพื่อนำไปลงทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสีเขียวหรือเรียกว่าเศรษฐกิจที่เป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศ (climate neutral) ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของมาตรการ CBAM ไม่ใช่การเพิ่มงบประมาณ แต่เพื่อรักษาความเสมอภาคในการแข่งขันให้กับธุรกิจยุโรป

         นาย Alan Wolff รองผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวว่า มาตรการ CBAM ซึ่งจะเป็นส่วนขยายของระบบ EU ETS น่าจะเป็นที่ยอมรับภายใต้กฎขอ WTO ตราบใดที่รายได้ที่เกิดขึ้นถูกนำเข้าสู่งบประมาณของอียู ละไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมเฉพาะหรือของบริษัทบางรายโดยเฉพาะ นาย Wolff ยกตัวอย่างว่าองค์กรอุธรณ์ (Appellate Body) ของ WTO เคยตัดสินว่าสหรัฐฯ ละเมิดกฎของ WTO ในกรณีการนำภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่เก็บได้ไปจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับบริษัทในสหรัฐฯ ที่เสียหายโดยตรง ในทางตรงกันข้าม การนำรายได้ที่เก็บได้จากมาตรการ CBAM ไปใช้เพื่อส่งเสริมนโยบายสิ่งแวดล้อมในภาพรวม โดยไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับสาขาหรือบริษัทใดเป็นการเฉพาะ น่าจะทำได้

         นาย CANFIN สส. ยุโรป ให้ความเห็นว่า อียูกำลังพิจารณาแนวทางการจัดสรรรายได้ที่ได้จากมาตรการ CBAM 2 วิธีคือ ใช้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวในประเทศกำลังพัฒนา หรือใช้เพื่อการลงทุนในธุรกิจสีเขียวในยุโรปเอง โดยนาย CAFIN มองว่าท้ายที่สุดน่าจะจำเป็นต้องใช้ 2 แนวทางนี้ควบคู่กันไปเพื่อให้มาตรการ CBAM สอดคล้องกับกฎ WTO นาย CAFIN ทิ้งท้ายว่า หากรายได้ถูกนำกลับไปใช้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุโรปแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ไม่มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และไม่มีการคืนประโยชน์ให้กับประเทศกำลังพัฒนา ก็จะเป็นประเด็นปัญหาแน่นอน

 

 

ที่มา: https://www.euractiv.com/section/energy-environment/news/eu-carbon-border-levy-shaping-up-as-notional-ets/

https://www.icis.com/explore/resources/news/2020/12/15/10585694/icis-eu-carbon-carbon-border-adjustment-mechanism-possible-implementations-and-eua-market-implications