ประวัติการเจรจา PCA

ประวัติการเจรจา PCA

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 มี.ค. 2566

| 482 view

ประวัติการเจรจา PCA

          ไทยและสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union: EU) มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนาน โดยนับตั้งแต่วันแรกที่ประชาคมยุโรปได้มาตั้งสำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทยในปี 2521 ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากวันนั้น ผ่านมากว่า 40 ปี ความสัมพันธ์ไทย-อียู ได้เติบโต และมีหลากมิติเพิ่มมากขึ้น ไทยได้ยกระดับจาก “ประเทศผู้รับความช่วยเหลือ” เป็น “หุ้นส่วนที่เท่าเทียมกับอียู”  ส่วนอียูได้กลายเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญต่อไทย มีมูลค่าการค้าสูงเป็นอันดับที่ 5 และนักลงทุนจากอียูลงทุนสะสมในไทยสูงเป็นอันดับที่ 2 นอกจากนี้ มาตรฐานของอียูในหลาย ๆ ด้าน ก็เป็นหมุดหมายที่ไทยต้องการจะไปให้ถึงด้วย
          ในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจัดทำร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก (PCA ไทย-อียู) หรือที่มีชื่อทางการว่า Framework Agreement on Comprehensive Partnership and Cooperation between the European Union and its Member States, of the one part, and the Kingdom of Thailand, of the other part หรือกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย ที่มีเป้าหมายในการรับมือกับประเด็นระดับโลกร่วมกัน และสร้างแบบแผนความร่วมมือที่ลงรายละเอียดในแต่ละด้าน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนพัฒนาการความสัมพันธ์ไทย-อียูที่แน่นแฟ้นขึ้นด้วย PCA เป็นหนึ่งในรูปแบบความตกลงระหว่างประเทศที่อียูใช้ในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ และแนวทางความร่วมมือกับประเทศที่อียูมองว่าเป็นหุ้นส่วนสำคัญ

          ไทยและอียูเริ่มการเจรจา PCA มาตั้งแต่ปี 2547 โดยไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่อียูเริ่มเจรจาด้วย ซึ่งสะท้อนว่าอียูให้ความสำคัญกับไทย และในขณะเดียวกัน ไทยเองก็เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการมี PCA กับอียู ทั้งต่อการพัฒนาของประเทศและต่อสถานะและภาพลักษณ์ของไทยในระดับระหว่างประเทศ  เมื่อปี 2556 สองฝ่ายเคยเจรจาจนได้ข้อสรุป และมีการลงนามย่อแล้วด้วย แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2557 จึงทำให้กระบวนการ PCA หยุดชะงักลง
          จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2562 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียูกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งสองฝ่ายจึงกลับมาเดินหน้ากระบวนการ PCA อีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา การเจรจาร่าง PCA รอบใหม่ได้ดำเนินมาอย่างเข้มข้น โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลและท่าทีไทยจากหน่วยงานไทยกว่า 50 แห่ง ไทยได้เริ่มหารือเพื่อเตรียมการเจรจา PCA รอบใหม่กับฝ่ายอียู โดยได้หารือเตรียมการกันทั้งในระดับเทคนิคและแบบเต็มคณะ ตลอดจนหารือภายในกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ (1) การหารือกับหน่วยงานภายใน 9 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 (2) การหารือกับฝ่ายอียูในระดับเทคนิค 8 ครั้ง และ (3) การหารือเพื่อเตรียมการเจรจา 5 รอบ โดยเมื่อร่างกรอบการเจรจาฯ ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ไทยได้เจรจากับฝ่ายอียูอย่างเป็นทางการ 2 รอบ และได้ข้อสรุปในที่สุดในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565

          PCA ฉบับใหม่ได้รับการปรับปรุงจากฉบับปี 2556 โดยการปรับแก้และเพิ่มเติมเนื้อหาให้สะท้อนบริบทโลกในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการค้าดิจิทัล รวมถึงประเด็นที่เป็นความสนใจร่วมของทั้งสองฝ่าย เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และด้าน ICT โดยมีจำนวนข้อบทเพิ่มจากฉบับปี 2556 จำนวน 53 ข้อ เป็น 64 ข้อ โดยข้อที่เพิ่มขึ้นมามีดังนี้ (1) อาวุธขนาดเล็ก อาวุธเบาและอาวุธตามแบบอื่น ๆ (2) ระบบอาหารที่ยั่งยืน (3) การค้าดิจิทัล (4) ความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรีและเด็กหญิง (5) ความร่วมมือด้านการยุติธรรม (6) การคุ้มครองทางกงสุล (7) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (8) สมุทราภิบาล

          การปรับปรุง PCA ในรอบนี้สะท้อน (1) ประเด็นระดับโลกที่เป็นข้อท้าทายร่วมของไทยและอียู
ซึ่งสองฝ่ายเห็นประโยชน์ในการร่วมมือกัน (2) พัฒนาการความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-อียูตั้งแต่ช่วงปี 2557 และ (3) ประเด็นที่เป็นแก่นทางนโยบายต่างประเทศของอียูที่มีความเข้มข้นขึ้นและคาดหวังให้ไทยยอมรับ โดยเฉพาะหลักการประชาธิปไตย การปกป้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

          ร่าง PCA ได้ผ่านการขัดเกลาภาษาทางกฎหมาย (legal scrubbing) เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอของภาษาและลดการตีความที่แตกต่างกัน โดยได้พิจารณาความถูกต้องของตัวบทตามหลักกฎหมายประกอบกับภาษาที่มีการตกลงกันในการเจรจาด้วย จนเมื่อแล้วเสร็จ หัวหน้าคณะเจรจาได้ลงนามย่อร่าง PCA เมื่อต้นเดือนกันยายน 2565 เพื่อเป็นการยืนยันความถูกต้องครบถ้วนของสารัตถะตามที่ได้เจรจากันมา หลังจากการลงนามย่อ ทั้งสองฝ่ายได้นำร่าง PCA เข้าสู่กระบวนการแปลร่าง PCA ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของอียูที่เหลืออีกจำนวน 23 ภาษา และภาษาไทย ตลอดจนกระบวนการภายในอื่น ๆ ของทั้งสองฝ่าย โดยเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2565 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้เห็นชอบร่าง PCA และให้มีการลงนามร่าง PCA ได้ ส่วนฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง PCA และอนุมัติให้ลงนามได้เช่นกัน

          เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู สมัยพิเศษ ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามร่างกรอบความตกลงฯ ร่วมกับฝ่ายอียู ได้แก่ นายเป็ตร์ ฟียาลา (H.E. Mr. Petr Fiala) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็กในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งอียู และนายโฮเซป บอร์เรลล์ ฟอนเตเยส (Mr. Josep Borrell Fontelles) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (HR/VP) โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายชาร์ล มีแชล (Mr. Charles Michel) ประธานคณะมนตรียุโรป และนางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน (Mrs. Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ร่วมเป็นสักขีพยาน

          ภายหลังการลงนาม ฝ่ายไทยจะนำร่าง PCA เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้มีผลผูกพัน และให้เริ่มบังคับใช้ PCA ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยในระหว่างนี้ ทั้งสองฝ่ายจะหารือเพื่อจัดทำ rules of procedure ของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) สำหรับดูแลเรื่องการบังคับใช้ร่าง PCA โดยตั้งเป้าหมายให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมนัดแรกภายในปี 2566

          เพื่อให้ร่าง PCA เป็นประโยชน์ต่อทุกกลุ่มและมีความครอบคลุมในการปฏิบัติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กระทรวงการต่างประเทศจึงมุ่งเน้นการเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ให้มากขึ้น โดยมีแผนจะจัดการสัมมนากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่องในประเด็นต่าง ๆ ในช่วงต้นปี ๒๕๖๖ นี้

* * * * * * *

กระบวนการจัดทำกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู

17 สิงหาคม 2547 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพในการเจรจากรอบความตกลง PCA ไทย-อียู
ปี 2556    บรรลุการเจรจาร่าง PCA ไทย-อียู และได้ลงนามย่อเป็นครั้งแรก
ปี 2557 ฝ่ายอียูระงับกระบวนการเจรจา PCA กับไทยเนื่องจากสถานการณ์การเมืองไทย
14 ตุลาคม 2562   ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐสมาชิกอียู มีมติให้เพิ่มพูนความสัมพันธ์กับไทย และเริ่มการเจรจาร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู รอบใหม่
ช่วงปี 2563  สองฝ่ายแลกเปลี่ยนร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู ที่ปรับแก้เพิ่มเติม
25 กันยายน 2563                  กรมยุโรปจัดประชุมประสานท่าทีหน่วยงานไทยต่อร่างที่ฝ่ายอียูปรับแก้เป็นครั้งแรก
กันยายน 2563-พฤษภาคม 2565  มีหารือกันทั้งในระดับเทคนิคและแบบเต็มคณะ ตลอดจนหารือภายในกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ (1) การหารือกับหน่วยงานภายใน 9 ครั้ง (2) การหารือกับฝ่าย อียู ในระดับเทคนิค 8 ครั้ง และ (3) การหารือเพื่อเตรียมการเจรจา และแลกเปลี่ยนความเห็นในเชิงสารัตถะ 4 รอบ
30 พฤษภาคม 2565                คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบการเจรจา PCA และรับทราบองค์ประกอบคณะเจรจา
1 มิถุนายน 2565                   การเจรจาร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู ครั้งที่ 1
2 มิถุนายน 2565 การเจรจาร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู ครั้งที่ 2
18 กรกฎาคม 2565                การหารือระดับเจ้าหน้าที่เพื่อขัดเกลาภาษาทางกฎหมาย (legal scrubbing)
27 กรกฎาคม 2565                คณะเจรจาสองฝ่ายบรรลุผลการเจรจาร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู
2 กันยายน 2565                   นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ลงนามย่อร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู ร่วมกับนาง Paola Pampaloni รองอธิบดีกรมเอเชียแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศ อียู สะท้อนการบรรลุผลการเจรจาด้านสารัตถะของร่างกรอบความตกลงฯ
29 กันยายน 2565                 การสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
24 ตุลาคม 2565                    คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ (Foreign Affairs Council: FAC) อนุมัติการลงนามร่างกรอบความตกลง PCA
6 ธันวาคม 2565     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการลงนามร่างกรอบความตกลง PCA และให้เสนอเรื่องต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา
14 ธันวาคม 2565                   รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามร่างกรอบความตกลง PCA ร่วมกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก และ HR/VP โดยมีนายกรัฐมนตรี ประธานคณะมนตรียุโรป และประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นสักขีพยาน ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู สมัยพิเศษที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
ปี 2566 จัดสัมมนากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่าง PCA ไทย-อียูแบบรายประเด็น (thematic) และเตรียมเสนอร่าง PCA ไทย-อียูเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภา