ถอดบทเรียนการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของสหภาพยุโรป: จากวิกฤติสู่ความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพ

ถอดบทเรียนการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของสหภาพยุโรป: จากวิกฤติสู่ความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพ

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,055 view

เป็นอีกหนึ่งข่าวดีส่งท้ายปี นับแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักทั่วโลก รวมถึงภายในทวีปยุโรปเองที่กินเวลายาวนานกว่า 10 เดือน จนมียอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 68 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 1.5 ล้านคนทั่วโลก จนถึงวันนี้ (8 ธ.ค. 63) ที่อังกฤษเริ่มฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิดเข็มแรกไปแล้วหลังจากมีการอนุมัติใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิดเป็นประเทศแรกของโลก ซึ่งได้จุดประกายความหวังว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลงได้ในไม่ช้านี้

เป็นที่คาดว่าสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) จะมีข่าวดีตามมาในเร็ว ๆ นี้เช่นกัน แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศแถบยุโรปยังคงน่าเป็นห่วงจากการระบาดซ้ำระลอกสอง โดยภายหลังจากบริษัท Pfizer และ Moderna ผู้พัฒนาวัคซีนที่มีผลการพัฒนาวัคซีนที่ก้าวหน้าไปมากของสหรัฐฯ ประกาศว่าได้ยื่นขออนุมัติการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉินต่อองค์การยาสหภาพยุโรป (European Medicines Agency : EMA) ไปแล้วนั้น นาง Emer Cooke, Executive Director ของ EMA ได้ออกมาประกาศว่าการพิจารณาอนุมัติวัคซีนตัวแรกให้จำหน่ายสู่ตลาด (Marketing Authorization) น่าจะแล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุดในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจประเมินอย่างรอบคอบโดยการปรึกษาหารือกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว


สหภาพยุโรปทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อให้พลเมืองยุโรปมีวัคซีนใช้

ที่ผ่านมา แม้ว่าทวีปยุโรปดูเหมือนจะสอบตกในด้านการจัดการควบคุมการระบาด โดยเฉพาะการดำเนินการในระยะแรกซึ่งเป็นไปอย่างไร้ซึ่งความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพ และเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ซึ่งจนถึงขณะนี้ที่ความพยายามในการควบคุมการระบาดของไวรัสระลอกใหม่ของหลายประเทศยังประสบผลสำเร็จไม่มากนัก จนทำให้เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) และทำให้รัฐบาลเกือบทุกประเทศต้องเร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด 19 อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีนคาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยปลดล็อกสถานการณ์ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปวางยุทธศาสตร์ “EU Vaccine Strategy” ไว้ 3 ด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าพลเมืองยุโรปสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว คือ 1) การวิจัยพัฒนาวัคซีนเอง รวมถึงการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่ทำสำเร็จเพื่อลดระยะเวลาในการพัฒนา 2) การสั่งจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า และ 3) การปรับปรุงกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจัย พัฒนา ผลิต และการขึ้นทะเบียนอย่างครบวงจร เพื่อให้การขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยเพื่อย่นระยะเวลาและขั้นตอนการพัฒนาวัคซีนให้นำวัคซีนออกมาขายในตลาดให้ได้ภายใน 12-18 เดือน หรือภายในปี 2564

วิกฤติครั้งนี้ให้บทเรียนสำคัญว่าการควบคุมการระบาดและการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพนั้น มีความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องร่วมมือและสามัคคีกัน ดังจะเห็นได้ว่าวัคซีนหลายชนิดที่มีความก้าวหน้านั้นเป็นความร่วมมือระหว่างหลายค่าย เช่น บริษัทยา Pfizer ของสหรัฐ ร่วมกับ BioNTech บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเยอรมนีและบริษัท Fosun Pharma ของจีน หรือบริษัท AstraZeneca ของสวีเดนและอังกฤษพร้อมด้วยมหาวิทยาลัย Oxford เป็นต้น

ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้เร่งรัดการวิจัยพัฒนาเพื่อให้ได้มาซึ่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการดำเนินยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างมีกลยุทธ์ โดยประกาศเข้าร่วม COVAX (Covid-19 Vaccines Global Access Facility) ซึ่งเป็นโครงการวัคซีนระดับโลกขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันแก่ประชาคมโลก ซึ่งตอนนี้มี 189 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการ โดยให้การสนับสนุนธุรกิจในลักษณะของเงินให้เปล่า และในรูปการค้ำประกันเงินกู้ในวงเงิน 500 ล้านยูโร เพื่อต่อยอดงานวิจัยหรือพัฒนา นอกจากนั้น สหภาพยุโรปยังประกาศให้เงินช่วยเหลืออีก 20 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนโครงการ “Southeast Asia Health Pandemic Response and Preparedness” รวมถึงได้จัดโครงการระดมทุนออนไลน์ “Coronavirus Global Response Pledging Marathon” ในช่วงเดือนพฤษภาคม เพื่อสนับสนุนการผลิตและแจกจ่ายวัคซีน ยารักษาโรค และชุดตรวจเชื้อโควิด-19 โดยได้รับเงินบริจาคทะลุเป้าจำนวนกว่า 16 พันล้านยูโร

สำหรับการพัฒนาวัคซีนเองในประเทศนั้น สหภาพยุโรปได้เพิ่มทุนวิจัยเพื่อพัฒนายาและวัคซีนภายใต้กรอบ Horizon 2020 เป็นจำนวนทั้งสิ้นอีก 660 ล้านยูโร โดยได้จัดสรรทุนวิจัยจำนวน 75 ล้านยูโรให้แก่บริษัทวิจัยสัญชาติเยอรมัน CureVac เพื่อขยายขอบเขตการวิจัยพัฒนาวัคซีนในรูปการค้ำประกันเงินกู้ที่ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (EIB) ให้กับบริษัท ซึ่งรวมถึงการปล่อยกู้จำนวน 100 ล้านยูโร โดย EIB ให้กับบริษัท BioNTech เพื่อค้นคว้าวัคซีนอีกด้วย

สหภาพยุโรปยังร่วมกันกับประเทศสมาชิกเจรจาต่อรองการเข้าถึงวัคซีนที่รวดเร็ว (Joint procurement mechanism) เพื่อให้สามารถทำการผลิตได้ในสหภาพยุโรปหรือประกันการเข้าถึงยาทันทีที่ผลิตได้ โดยใช้งบประมาณ Emergency fund ซึ่งมีอยู่ 2.7 พันล้านยูโร ซึ่งปัจจุบัน สหภาพยุโรปได้ลงนามข้อตกลงซื้อขายวัคซีนต้านโรคโควิดล่วงหน้าไปแล้วเกือบ 2 พันล้านชุด ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในสหภาพยุโรปกับ 6 บริษัทรายสำคัญ คือ Pfizer- BioNTech, Sanofi-GSK, Johnson & Johnson, AstraZeneca-มหาวิทยาลัย Oxford, CureVac และ Moderna โดยคาดว่าประชากรกลุ่มเสียง อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ ณ สถานดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ๆ ซึ่งสหภาพยุโรปจะติดตามและรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากยาอย่างใกล้ชิดและเฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้วัคซีนดังกล่าว

ล่าสุด สหภาพยุโรปเพิ่งประกาศมาตรการยกเว้นและลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับวัคซีนโควิด-19 และอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนสหภาพยุโรปสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ในราคาที่ย่อมเยา


เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ประสบการณ์ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ของทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญกับความท้าทายในยุคปัจจุบัน เช่น โรคอุบัติใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของภาครัฐในการกำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เกิดการร่วมมือด้าน R&D ระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่เอื้อประโยชน์ให้มีการลงทุนทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้น

ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตยาเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ที่ภาครัฐมีแผนสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งด้านงบประมาณวิจัยและสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งไทยมีความได้เปรียบหลายด้าน เช่น บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการค้นคว้าวิจัยโดยเฉพาะวัคซีน ความพร้อมด้านสมุนไพรที่สามารถนำมาผลิตเป็นสารตั้งต้นสำหรับการค้นหาตัวยาใหม่ได้ ตลอดจนภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยและความก้าวหน้าด้านชีวสารสนเทศ ปัจจัยดังกล่าว รวมทั้งการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ การลดขั้นตอนที่ยุ่งยากทางกฎหมาย เพื่อสนับสนุนการดำเนินการทางธุรกิจ ตลอดจนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพและช่วยยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบอยู่แล้ว ตลอดจนเป็นการรองรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของภาคเอกชน โดยเฉพาะช่วงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในระยะแรก

***********

ที่มา: https://thaieurope.net/2020/12/14/

(Credit รูปภาพปก: https://www.healtheuropa.eu/european-commission-approves-contract-for-potential-covid-19-vaccine/104127/)