FTA สหภาพยุโรป-เวียดนาม เริ่มมีผลแล้ว เพิ่มแต้มต่อให้เศรษฐกิจเวียดนาม

FTA สหภาพยุโรป-เวียดนาม เริ่มมีผลแล้ว เพิ่มแต้มต่อให้เศรษฐกิจเวียดนาม

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ต.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,553 view

“สหภาพยุโรปจำเป็นต้องแสวงหาทุกวิถีทางเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหลังภัยโควิดอย่างข้อตกลงการค้ากับเวียดนามที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันนี้ ถือเป็นโอกาสสำหรับบริษัทของพวกเราในการเข้าถึงตลาดเกิดใหม่และเป็นการสร้างงานให้กับชาวยุโรป ดิฉันเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าข้อตกลงนี้เป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนของเวียดนามมีเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองขึ้น อีกทั้งทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและสิทธิแรงงานและสิทธิของประชาชนที่แข็งแรงขึ้น” - นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563

ความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนาม หรือ FTA สหภาพยุโรป-เวียดนาม ซึ่งเริ่มเจรจาเมื่อปี 2555 ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญในพลวัตการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับภูมิภาคอาเซียนของเรา
โดยถือเป็น FTA สมัยใหม่ที่มีขอบเขตเนื้อหากว้างที่สุดที่สหภาพยุโรปทำกับประเทศกำลังพัฒนา ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการลดภาษี กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า การค้าดิจิทัล การบริการ การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และแรงงาน

ภายใต้ FTA สหภาพยุโรป-เวียดนาม ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะลดภาษีเหลือศูนย์สำหรับสินค้ากว่า 99% ของสินค้านำเข้าจากทั้งสองประเทศภายในเวลา 10 ปี โดยสินค้าส่งออกของสหภาพยุโรปไปยังเวียดนามที่ได้รับยกเว้นภาษีทันทีมีประมาณ 65% คือ ยาและเวชภันฑ์เกือบทุกรายการ และสินค้าส่วนใหญ่จากกลุ่มเครื่องจักรกลและเครื่องยนต์ (HS84) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (HS85) และเคมีภัณฑ์ (HS28, 29) สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างเนื้อสัตว์และน้ำมันมะกอกจะได้รับการยกเว้นภาษีภายใน 3 ปี โดยสหภาพยุโรปหวังว่า FTA ฉบับนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปหลังวิกฤตโควิด-19

ในส่วนของสินค้าส่งออกของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปที่ได้รับการยกเว้นภาษีทันทีมีประมาณ 71% คือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (HS85) รองเท้า (HS64) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (HS61, 62) อาหารทะเล (HS03) และข้าว (HS1006)

ความท้าทายของการส่งออกไทย

กลุ่มสินค้าไทยที่มีความคล้ายคลึงกับสินค้าที่เวียดนามส่งไปสหภาพยุโรป เช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบและแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม ข้าว และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูป อาจได้รับผลกระทบจาก FTA นี้ อย่างไรก็ดี
นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันมีกลุ่มบริษัทสิ่งทอไทย 6-7 บริษัทเข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยมีโรงงานรวมกัน 9 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าส่งออกจากเวียดนามไปตลาดหลักรวมถึงสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกว่า 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น การทลายกำแพงภาษีส่งออกเป็น 0% (จากเดิม 12.5%) น่าจะเพิ่มยอดส่งออกให้หลายบริษัทในปีนี้และในปีต่อ ๆ ไป โดยนายยุทธนาฯ ไม่กังวลเรื่องผลกระทบของส่งออกไทย เพราะเชื่อมั่นว่าสินค้าที่ผลิตในไทยเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและมีการตัดเย็บที่ละเอียดจึงทำให้คู่ค้าต้องสั่งจากไทยเพราะแรงงานไทยมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะด้านการผลิตเสื้อผ้ากีฬาและชุดชั้นใน

table

จับตาการเติบโตการค้าเวียดนาม-สหภาพยุโรปหลัง FTA

ตั้งแต่ก่อนมี FTA เวียดนามเป็นผู้ส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรป อันดับ 1 ของอาเซียน ด้วยมูลค่าเกือบ 35 พันล้านยูโร ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรป คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กาแฟ ข้าว อาหารทะเล และเฟอร์นิเจอร์ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปขยายตัวเฉลี่ยในอัตรา 17.8% ต่อปี ขณะที่ไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5% และสิงคโปร์อยู่ที่ 4.4 % จึงจะต้องจับตามองว่าภายหลังมี FTA แล้ว การส่งออกของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด เพื่อประเมินถึงผลเชิงบวกของ FTA ต่อการค้าระหว่างสองฝ่าย

การเปิดเสรีที่มากกว่าการลดภาษี

FTA ฉบับนี้เปิดประตูให้เวียดนามเข้าถึงตลาดผู้บริโภคสหภาพยุโรปกว่า 446 ล้านคนโดยไม่มีกำแพงภาษี รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสหภาพยุโรปเข้าไปลงทุนในเวียดนาม อันเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นปัจจัยส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเวียดนาม

สำหรับฝ่ายสหภาพยุโรป FTA ฉบับนี้ จะทำให้บริษัทสหภาพยุโรปมีสิทธิในการเข้าร่วมประมูลสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเทียบเท่ากับบริษัทท้องถิ่น และมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นในภาคบริการหลายสาขาสำคัญ โดยมีการยกเลิกเงื่อนไขเรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้นระหว่างชาวต่างชาติกับคนชาติ และจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ เช่น ภาคพลังงาน โลจิสติกส์ บริการไปรษณีย์ แฟรนไชส์ การแพทย์ โรงแรมและธุรกิจการจัดประชุม เป็นต้น

นอกจากนี้ เวียดนามได้ปรับข้อปฏิบัติด้านการนำเข้าสินค้าให้กระชับและโปร่งใสเพื่อเอื้อให้บริษัทสหภาพยุโรปสามารถเข้าไปลงทุนในเวียดนามได้สะดวกมากขึ้น และต้องคุ้มครองสินค้าอาหารและเครื่องดื่มพื้นเมืองยุโรป 169 รายการ ภายใต้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น แชมเปญและพาร์มาแฮม ส่วนสินค้าพื้นเมืองของเวียดนามก็จะได้รับการคุ้มครองเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า FTA สหภาพยุโรป-เวียดนาม มีระดับการเปิดเสรีที่สูงกว่ามาตรฐานขององค์การการค้าโลก (WTO) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) 

 

การให้ความสำคัญกับมาตรฐานสากล

สหภาพยุโรปได้ผลักดันให้เวียดนามพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสหภาพยุโรป โดยใน FTA สหภาพยุโรป-เวียดนาม มีบทเฉพาะเรื่องการค้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Trade and Sustainable Development Chapter) ซึ่งย้ำให้ปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค และความเท่าเทียมกันทางเพศ เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป เวียดนามได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 98 เรื่องสิทธิในการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 105 เรื่องการยกเลิกแรงงานบังคับแล้ว และปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแรงงานเสร็จสิ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยเวียดนามได้สัญญาที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 เรื่องเสรีภาพในการสมาคมอีกหนึ่งฉบับให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2566

FTA สหภาพยุโรป-เวียดนาม ได้กำหนดให้คู่ภาคีปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ค.ศ. 1991 (International Convention for Protection of New Varieties of Plants (UPOV)) ซึ่งทั้งสหภาพยุโรปและเวียดนามเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV อยู่แล้ว โดยเวียดนามเข้าเป็นภาคี UPOV ตั้งแต่ปี 2549 เมื่อคำนึงว่าเวียดนามเป็นประเทศเกษตรกรรมเช่นเดียวกับไทย จึงน่าสนใจที่จะศึกษาว่าเวียดนามได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างไรจากอนุสัญญา UPOV เพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับไทยต่อไป

ปัจจุบัน เวียดนามมี FTA กับประเทศต่าง ๆ รวม 13 ฉบับ ซึ่งรวมถึงความตกลง CPTPP ในเวลานี้ที่เวียดนามมี FTA สหภาพยุโรป-เวียดนาม ก็ยิ่งช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับเวียดนามและส่งเสริมภาพลักษณ์ของเวียดนามในฐานะศูนย์กลางการค้าและการลงทุน โดยเศรษฐกิจเวียดนามกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จากสินค้าที่เวียดนามมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เช่น สิ่งทอและสินค้าทางการเกษตร เราเริ่มได้เห็นผลิตภัณฑ์แปลกใหม่และมีมูลค่าสูงของเวียดนามออกสู่ตลาด เช่น “ช็อคโกแลต” ที่ผลิตจากเมล็ดโกโก้ที่ปลูกในเวียดนามซึ่งได้รับการรับรองโดย The International Cocoa Organization (ICCO) ว่ามีคุณภาพเทียบเท่ากับแหล่งปลูกโกโก้ชื่อดังอย่างบราซิลและการ์นา

ไทยเองก็มีศักยภาพในการผลิตไม่แพ้เวียดนาม เพราะไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคลที่สามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยเองก็ควรตื่นตัวและหันมาผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานสากล สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ สินค้าที่มีมูลค่าสูงเจาะกลุ่มตลาดพรีเมี่ยมที่มีความต้องการเฉพาะกลุ่ม เช่น สินค้าอินทรีย์ หรือ สินค้าสำหรับผู้สูงอายุ และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น นำบล็อคเชนมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งที่มา หรือ traceability ของอาหารได้ เป็นต้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้าและบริการจากประเทศเวียดนามได้ หรืออาจพิจารณาขยายการลงทุนไปยังเวียดนามเพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ที่เวียดนามมีกับสหภาพยุโรป ในขณะเดียวกัน ไทยควรรีบพิจารณาศึกษาผลดีผลเสียของการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปซึ่งหยุดชะงักการเจรจาไปในช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมาอย่างจริงจัง เพื่อมิให้ไทยต้องสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปจนอาจตามประเทศเพื่อนบ้านไม่ทัน

***********

 

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/650951

(Credit ภาพปก: https://www.gtreview.com/news/asia/eu-vietnam-fta-two-down-eight-to-go-in-asean/)