วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ม.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
ในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลเปรียบเสมือนสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาลในตลาดโลก โดยมีการเปรียบเทียบข้อมูลกับน้ำมันหรือทองคำ ซึ่งในอดีตเคยเป็นตัวแปรสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ แต่ในยุคดิจิทัลนี้ “ข้อมูล” ได้มีบทบาทมากขึ้นและเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อคประตูสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งหากบริษัทใดสามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากได้ จะยิ่งมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น อาทิ การนำข้อมูลผู้บริโภคมาใช้ในการทำการตลาดที่เฉพาะเจาะจง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 64 EU เสร็จสิ้นกระบวนการร่างกฎหมายใหม่ด้านธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance Act (DGA)) ซึ่งจะเป็นกฎหมายฉบับแรกภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลของสหภาพยุโรป (European strategy for Data) เพื่อสร้างความมั่นใจในการแบ่งปันข้อมูล ส่งเสริมการซื้อ-ขายข้อมูลอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ทั้งระหว่างอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ และระหว่างประเทศสมาชิก โดยหวังให้ยุโรปกลายเป็นทวีปที่มีการแบ่งปันข้อมูลเป็นอันดับที่หนึ่งของโลก มุ่งสร้างตลาดข้อมูลเดี่ยวในยุโรปที่เปิดกว้างและมีอธิปไตย โดยเสนอมาตรการที่สำคัญ ดังนี้
1. กำหนดมาตรการเพิ่มความไว้วางใจในการแบ่งปันข้อมูล เพื่อแก้ปัญหาการขาดความไว้วางใจในการโอนถ่ายข้อมูล ซึ่งเป็นอุปสรรคหลัก และเป็นปัจจัยที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง
2. กำหนดเกณฑ์ด้านความเป็นกลาง เพื่อให้หน่วยงานกลางจัดการข้อมูลใหม่ (novel data intermediaries) สามารถทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
3. กำหนดมาตรการที่เอื้อต่อการนำข้อมูลบางประเภทของภาครัฐไปใช้อีกครั้ง อาทิ การนำข้อมูลด้านสุขภาพมาใช้อีกครั้งภายใต้เงื่อนไขที่ชัดเจน อาจช่วยส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยเพื่อค้นหาวิธีรักษาโรคหายากหรือโรคเรื้อรังได้รวดเร็วขึ้น
4. กำหนดเครื่องมือที่ช่วยให้ประชาชนอียูมีอำนาจในการควบคุมการใช้ข้อมูล ที่ใช้งานสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น สำหรับบริษัทและบุคคลในการเผยแพร่ข้อมูลของตนโดยสมัครใจสำหรับสินค้าทั่วไปในวงกว้างภายใต้เงื่อนไขที่ชัดเจน
ในประเด็นของความเชื่องโยงระหว่างกฎหมาย DGA กับกฎหมาย GDPR ที่ทำหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนยุโรปนั้น อียูยึดมั่นในการให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลฯ โดยได้ระบุในร่างกฎหมาย DGA ว่า กลไก ข้อตกลง และมาตรฐานทางเทคนิคในการแบ่งปันข้อมูลต้องไม่ขัดกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย GDPR (without prejudice to GDPR) ตลอดจนได้กำหนดกรอบการทำงานเพื่อส่งเสริมโมเดลธุรกิจบริการด้านการจัดการข้อมูล (data intermediation services) ที่ได้ผ่านการรับรองจากอียูว่าเชื่อถือได้ เป็นผู้จัดการข้อมูลส่วนตัวที่ต้องได้รับความยินยอม (consent) จากเจ้าของข้อมูลก่อนนำไปใช้
ทั้งนี้ ในช่วงการเจรจา ส.ส. ยุโรป ได้รับรองว่ากฎหมายนี้จะไม่มีช่องโหว่ให้ผู้ประกอบการจากประเทศที่สามสามารถนำข้อมูลจากไปใช้ในทางที่ผิดได้ เพื่อส่งเสริมการสร้างวงจรการแบ่งปันข้อมูลในยุโรปตามความสมัครใจ ที่ปลอดภัยและให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด อาทิ ข้อมูลเพื่อการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การต่อสู่กับปัญหาสภาพอากาศ และการปรับปรุงภาคการขนส่ง เป็นต้น
นอกจากกฎหมาย Data Governance Act แล้ว EU มีกำหนดเผยแพร่ร่างกฎหมายข้อมูล (Data Act) เกี่ยวกับการบังคับบริษัทแบ่งปันข้อมูลกับภาครัฐในบริบทของผลประโยชน์ส่วนรวม ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ และอียูมีแผนจัดตั้ง “Common European Data Spaces” เพื่อรวบรวมข้อมูลสำคัญอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 9 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลด้านอุตสาหกรรม ข้อมูลด้านสุขภาพ ข้อมูลด้านการเกษตร และข้อมูลด้านพลังงาน เป็นต้น สำหรับประยุกต์ใช้ในเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลประเทศไทยเองก็มีธุรกิจด้านธุรกิจให้บริการระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยข้อมูล หรือ Customer Relationship Management (CRM) และธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับจัดการข้อมูลลูกค้าในระบบต่างๆ จากทุกแหล่งในองค์กรเข้าด้วยกัน หรือ Customer Data Platform (CDP) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทำการตลาดแบบใหม่เกิดขึ้นบ้างแล้ว จึงเป็นโอกาสดีของไทยที่อาจศึกษาแนวทางการออกกฎหมายด้านธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) นี้จากสหภาพยุโรป เพื่อไปปรับใช้ในอนาคต
ขอขอบคุณที่มาจาก Thaieurope.net และที่มาอื่น ๆ ดังนี้
https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_21_6428
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์)