“สหภาพยุโรปเสนอร่างกฎหมายฟื้นฟูธรรมชาติ มุ่งสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ”

“สหภาพยุโรปเสนอร่างกฎหมายฟื้นฟูธรรมชาติ มุ่งสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ”

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ส.ค. 2565

| 2,860 view

“สหภาพยุโรปเสนอร่างกฎหมายฟื้นฟูธรรมชาติ มุ่งสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ”

สหภาพยุโรปเสนอร่างกฎหมายฟื้นฟูธรรมชาติ มุ่งสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 คมธ. ยุโรปได้เสนอแผนปฏิรูปกฎหมาย “EU Nature Protection Package” ต่อสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป เพื่อกำหนดมาตรการด้านการปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ  ตลอดจนการลดใช้ยาปราบศัตรูพืชให้ประเทศสมาชิกอียู-27 ประเทศร่วมกันปฏิบัติอย่างจริงจังให้สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ EU Biodiversity Strategy เพื่อหยุดยั้งอัตราการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงผลักดันให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากสารเคมีตกค้างและหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางดิน ทางน้ำ และอากาศ

กำหนดเป้าหมายฟื้นฟูระบบนิเวศให้ได้ 20% และลดการใช้สารพิษในภาคเกษตร 50% ภายในปี ค.. 2030

แผนปฏิรูปประกอบด้วยร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่

  1. ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ (Nature Restoration Regulation) ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่ได้กำหนดเป้าหมายที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (binding targets) ให้ทุกประเทศสมาชิก อียูยึดถือปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางบกและทางทะเลอย่างน้อย 20% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในภูมิภาคยุโรปให้มีสภาพที่ดีขึ้นภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ทางธรรมชาติอื่นๆ ทั้งหมดให้กลับคืนสู่สภาพสมดุลภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้ข้อเสนอสำคัญ ดังนี้
    • หยุดการลดจำนวนลงของผึ้งหรือแมลงผสมเกสร (pollinators) ชนิดต่างๆ ที่ช่วยผสมพันธุ์พืชให้ฟื้นสภาพกลับมาใหม่ภายในปี ค.ศ. 2030
    • หยุดยั้งการสูญเสียพื้นที่สีเขียวเดิมในเขตชุมชนเมืองให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนไม่น้อยกว่า 5% ของพื้นที่ทั้งหมดของชุมชน (ทั้งในเมืองและชนบท) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดย 10% ของพื้นที่ สีเขียวทั้งหมดควรเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้ปกคลุม (tree canopy)
    • ฟื้นฟูระบบนิเวศเกษตรและป่าไม้ โดยการเพิ่มจํานวนผีเสื้อและนก และส่งเสริมให้มีการสะสมคาร์บอนในดิน เป็นต้น
    • อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณหญ้าทะเลและตะกอนดิน รวมถึงฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำสายพันธ์ที่มีความโดดเด่น (Iconic Species) อาศัยในแนวปะการังในมหาสมุทร และทะเลภายในที่เป็นน้ำเค็ม
    • ฟื้นฟูสมดุลและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ป่าพรุ จากการดำเนินกิจกรรมการเกษตร การปลูกป่า และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
    • บริหารจัดการแม่น้ำสายหลัก-สาขาทั่วทวีปยุโรปเป็นระยะทาง 25,000 กิโลเมตร ให้น้ำไหลได้สะดวกภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายกำหนดให้ประเทศสมาชิกอียูต้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ (National Restoration Plan) ที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับบริบทการพัฒนาประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดย คมธ.ยุโรป จะติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของประเทศสมาชิกตามแผนดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดสรรงบประมาณจากโครงการ Horizon Europe และนโยบายเกษตรร่วม (CAP reform) เพื่อช่วยเหลือด้านการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกรของแต่ละประเทศต่อไป

  1. ร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชอย่างยั่งยืน (Sustainable Use of Pesticides Regulation) ซึ่งมีข้อเสนอสำคัญ ดังนี้
  • กําหนดเป้าหมายที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (binding targets) เพื่อลดปริมาณและความเสี่ยงอันตรายจากการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรภายในอียูให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยประเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศต้องจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ (national reduction targets) เพื่อควบคุมปริมาณและความเสี่ยงอันตรายจากการใช้สารเคมีให้น้อยลงตามข้อกำหนด โดยอัตราการปรับลดขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 35%
  • กำหนดให้เกษตรกรผู้ใช้สารนำกลยุทธ์การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) มาใช้ควบคุมศัตรูพืช โดยใช้กลไกการควบคุมโดยศัตรูธรรมชาติ ซึ่งคำนึงถึงผลผลิต ผลตอบแทน และความปลอดภัย มาใช้เป็นหลักปฏิบัติสำคัญ และใช้สารเคมีเกษตรในกรณีที่จำเป็นและเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น
    • ห้ามใช้สารเคมีเกษตรในเขตชุมชนที่มีความอ่อนไหว เช่น สวนสาธารณะหรือสนามเด็กเล่น รวมถึงพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย ทางเท้า และพื้นที่เปราะบางทางระบบนิเวศอื่นๆ

ปฏิกิริยาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

แม้ว่ากลุ่ม Greens ในสภายุโรป ตลอดจนภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับข้อเสนอการปฏิรูปในครั้งนี้และย้ำความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรภายในอียู ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อแผนการดังกล่าว เนื่องจากมองว่ามาตรการลดการใช้สารเคมีที่เข้มงวดเกินไปจะทำให้ปริมาณการผลิตและคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร และยังเป็นการซ้ำเติมให้ภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกษตรกรต้องแบกรับจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกจนอาจทำให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในภูมิภาคตามมาได้

ด้านประเทศสมาชิกอียูบางประเทศย้ำว่าเป้าหมายในการลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีเกษตร จะต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมและการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องให้ภาครัฐให้ความรู้และข้อมูลแก่เกษตรกร รวมถึงชาวประมงพื้นบ้านในเรื่องของแนวทางการปรับตัวจากการเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติด้านนิเวศเกษตร (น้ำ ป่าไม้ ที่ดิน) และการลดใช้สารเคมีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ในลำดับต่อไป รัฐสภายุโรปจะต้องหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรป (ฝ่ายบริหาร) และคณะมนตรียุโรป (ประเทศสมาชิก) ซึ่งอาจมีการเพิ่มเติมข้อเสนอใหม่ๆ เข้ามาในร่างกฎหมายฯ อีก

 

 

 

ที่มา: https://thaieurope.net/2022/08/02/eu-nature-protection-package/

https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_22_3746

https://pro.politico.eu/news/151259

https://www.euronews.com/my-europe/2022/06/23/european-commission-wants-to-slash-use-of-chemical-pesticides-by-50-by-2030