EFSA รับรองความปลอดภัยการบริโภคหนอนอบแห้ง

EFSA รับรองความปลอดภัยการบริโภคหนอนอบแห้ง

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,756 view

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 หน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) ได้แถลงผลการศึกษาด้านความปลอดภัยต่อการบริโภค “หนอนนกอบแห้ง” (dried yellow mealworms) ซึ่งพบว่า มีความปลอดภัยต่อการบริโภคและสามารถใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบของอาหารได้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการยืนยันความปลอดภัยของการบริโภคแมลงในสหภาพยุโรปหลังจากได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบอาหารว่าด้วยเรื่องอาหารใหม่ (Novel Foods) ที่มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2561

นาย Ermolaos Ververis ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ของ EFSA กล่าวว่า ผลการประเมินดังกล่าวเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การพิจารณารับขึ้นทะเบียนอาหารประเภทแมลง (ทั้งในลักษณะอบแห้งแบบทั้งตัว และสินค้าที่มีส่วนประกอบที่มาจากแมลง เช่น แป้ง ผงโปรตีน บิสกิต และเส้นพาสต้า) ให้เป็น Novel Food ชนิดใหม่ เพื่อการผลิตและวางจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรป 27 ประเทศ โดยภายหลังจากนี้คณะกรรมาธิการยุโรปจะเสนอเรื่องให้ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญของประเทศสมาชิกในคณะกรรมการ PAFF (Plant, Animal, Food and Feed Committee) ทำการพิจารณาอนุมัติการจําหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวออกสู่ท้องตลาด ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาราว 6-7 เดือน

ทั้งนี้ ภายใต้กฎระเบียบ Novel Foods อาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่ไม่มีประวัติการบริโภคภายในสหภาพยุโรปมาก่อน จะต้องได้รับการตรวจประเมินผลความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์จาก EFSA เท่านั้น ก่อนที่จะนำไปขอขึ้นทะเบียนรายชื่ออาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่เพื่อวางจำหน่ายในท้องตลาดได้ ซึ่งนอกจากหนอนนกอบแห้งแล้ว EFSA อยู่ระหว่างพิจารณาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แมลงอื่น ๆ เช่น จิ้งหรีด (house cricket, banded cricket) แมลงวันทหารดำ (black soldier fly) ตั๊กแตนชนิดหนึ่ง lesser mealworm และ honeybee drone

ในด้านความเสี่ยง พบว่า อาหารประเภทแมลงนั้นอุดมไปด้วยโปรตีนมากมาย บวกกับรสชาติดี หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง รวมถึงช่วยให้มีอาหารบริโภคนอกฤดูกาล และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าจากปศุสัตว์ในกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี หากอาหารดังกล่าวเกิดปนเปื้อนสารอันตราย เช่น เชื้อจุลินทรีย์ หรือแบคทีเรีย ก็อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หลังรับประทานได้ โดยเฉพาะผู้เคยแพ้อาหารทะเล หรือมีอาการแพ้ไรฝุ่นบ้าน โดย EFSA แนะวิธีป้องกัน คือ ต้องอดอาหารแมลงอย่างน้อย 24 ชั่วโมงเพื่อทำให้กระเพาะและลำไส้ยุบตัวก่อนนำมาผ่านการต้มสุกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบก็จะช่วยทำลายเอนไซม์และจุลินทรีย์โดยเฉพาะพวกที่ทำให้เกิดโทษ และสามารถลดโอกาสในการติดเชื้อได้ พร้อมระบุคําเตือนที่ชัดเจนไว้บนฉลาก ซึ่ง EFSA เรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้

แนวโน้มการบริโภคในตลาดสหภาพยุโรป

ในปัจจุบัน วัฒนธรรมการบริโภคแมลงยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในหมู่ชาวยุโรป ซึ่งอาจยังมีคําถามด้านสุขภาพและสุขอนามัยจากการบริโภคแมลง แต่ความคิดเห็นนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งสภาพแวดล้อมและกระแสสังคม เช่น การบริโภคอาหารที่ทำมาจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์เพื่อลดโลกร้อน ตลอดจนวัฏจักรเศรษฐกิจ ต่างเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างต่อเนื่อง

หากพิจารณาโอกาสการส่งออกแมลงไปยังสหภาพยุโรป คาดว่า จะมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะตลาดนี้มีประชากรกว่า 500 ล้านคน ที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งผลการรับรองด้านความปลอดภัยในการบริโภคแมลงของ EFSA  ในครั้งนี้น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการรับประทานแมลงได้เป็นอย่างดี โดยมีข้อมูลจากธนาคาร Barclays ของอังกฤษ ระบุว่าตลาดโลกจะมีความต้องการโปรตีนจากแมลงเป็นจำนวนมากคิดเป็นมูลค่าถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ไม่ถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงแมลงเพื่อการบริโภคและส่งออก โดยฝ่ายไทยอยู่ระหว่างยื่นขอการพิจารณาขึ้นบัญชีสินค้าจิ้งหรีดบ้าน (Acheta domesticus L.) ในลักษณะอบแห้งและเป็นผง เพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมในเรื่องนี้ ทีมงาน ThaiEurope จะนำข่าวมาแจ้งให้ทราบต่อไป

***************

ที่มา: https://www.politico.eu/article/bugs-for-dinner-eu-agency-says-mealworms-safe-to-eat/

ขอขอบคุณ ทีมงาน Thaieurope.net

Credit ภาพปก https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-9142465/UPDATE-1-Overcoming-yuck-factor-Yellow-grub-EUs-insect-food.html

Mealworms

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ