เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 นาย Berat Albayrak รมต. กระทรวงการคลังตุรกีได้แถลงเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของตุรกีภายหลังวิฤติค่าเงินลีร่า โดยมีแนวโน้มของดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่
-
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) – คาดว่าในปี 2561 GDP ของตุรกีจะขยายตัว ร้อยละ 3.8 (ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ ร้อยละ 5.5) ส่วนในปี 2562 ปี 2563 และปี 2564 คาดว่า GDP ของตุรกีจะขยายตัว ร้อยละ 2.3 ร้อยละ 3.5 และ ร้อยละ 5.0 ตามลำดับ
อนึ่ง ในปี 2560 ที่ผ่านมา GDP ของตุรกี ขยายตัวร้อยละ 7 ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 GDP ของตุรกี ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.3
-
อัตราเงินเฟ้อ – ในเดือนสิงหาคม 2561 อัตราเงินเฟ้อรายปีของตุรกีอยู่ที่ ร้อยละ 17.90 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.85 ในเดือนกรกฏาคม 2561 ทั้งนี้ ตลอดทั้งปี 2561 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของตุรกีจะอยู่ที่ร้อยละ 20.8 ส่วนในปี 2562 ปี 2563 และ ปี 2564 ลงลงเหลือร้อยละ 15.9 ร้อยละ 9.8 และ ร้อยละ 6.0 ตามลำดับ
-
การขาดดุลงบประมาณ – ตุรกีตั้งเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณในสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ ร้อยละ 1.9 ในปี 2561 และลดลงเหลือร้อยละ 1.7 ในปี 2564 (ในปี 2560 ตุรกีขาดดุลงบประมาณ ร้อยละ 1.5 ของ GDP)
-
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด – ในปี 2561 รัฐบาลตุรกีตั้งเป้าหมายการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไว้ที่ร้อยละ 4.7 ของ GDP ขณะที่ในปี 2562 ปี 2563 และปี 2564 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดให้เหลือร้อยละ 3.3 ร้อยละ 2.7 และ ร้อยละ 2.6 ตามลำดับ (การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ของ GDP)
-
การจ้างงาน – ในเดือนมิถุนายน 2561 อัตราการว่างงานของตุรกีอยู่ที่ ร้อยละ 10.2 (ประมาณ 3.3 ล้านคน) ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ โดยตุรกีตั้งเป้าหมายที่จะควบคุมอัตราการว่างงานไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 10.8 ภายในปี 2564
นอกจากนี้ รัฐบาลตุรกีจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในสาขาเภสัชกรรม พลังงาน ปิโตรเคมี เครื่องจักรและอุปกรณ์ และซอฟต์แวร์ รวมทั้ง การลดการขาดดุลทางการค้า และเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก ให้มากขึ้นในอนาคตด้วย