ปธน. ฝรั่งเศสเดินทางเยือนรัสเซีย เพื่อเข้าร่วมการประชุม St. Petersburg International Economic Forum (SPIEF) ครั้งที่ 22

ปธน. ฝรั่งเศสเดินทางเยือนรัสเซีย เพื่อเข้าร่วมการประชุม St. Petersburg International Economic Forum (SPIEF) ครั้งที่ 22

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 1,848 view

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 นาย Emmanuel Macron ปธน. ฝรั่งเศสได้เดินทางเยือนรัสเซีย เพื่อเข้าร่วมการประชุม St. Petersburg International Economic Forum (SPIEF) ครั้งที่ 22 (ระหว่างวันที่ 24 – 26 พฤษภาคม 2561) โดยในการพบหารือกับนาย วลาดิมีร์ ปูติน ปธน. รัสเซีย ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่

1. ความสัมพันธ์ทวิภาคี

          ผู้นำทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านไซเบอร์ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องกันที่จะสนับสนุนความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจระหว่างภาคเอกชนสองฝ่ายด้วย

          อนึ่ง ระหว่างการเยือนและการเข้าร่วมประชุม SPIEF ภาครัฐและเอกชนของฝรั่งเศสกับรัสเซียได้ร่วมกันลงนามความตกลงร่วมมือในสาขาต่างๆ ประมาณ 50 ฉบับ อาทิ ด้านอวกาศ พลังงานนิวเคลียร์ วิทยาศาสตร์ การวิจัย วัฒนธรรม และการศึกษา โดยมีโครงการความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างโรงงานก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งที่ 2 ในภาคเหนือของรัสเซียโดยบริษัท Total และบริษัท Novatek และความร่วมมือด้านการบินและอวกาศระหว่างบริษัท CNES และบริษัท Roskosmos เป็นต้น

2. ประเด็นระหว่างประเทศ

          (1) อิหร่าน

          - ผู้นำทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันที่จะปกป้องข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน หรือ Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA)  ให้สามารถดำเนินการต่อไป และหวังว่าภาคีที่ลงนามในข้อตกลงฯ จะยังคงปฏิบัติตามและรักษาข้อตกลงนี้ไว้ โดยหวังว่า อิหร่านจะไม่กระทำกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการผลิต/ เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ เพื่อที่จะเป็นการรักษาข้อตกลงนี้ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีความน่าเชื่อถือ ปธน. Macron ยังได้แสดงความปรารถนาจะทำงานร่วมกับอิหร่านอย่างตรงไปตรงมาและอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง

          - ปธน. ฝรั่งเศสมีท่าทีเช่นเดียวกับอังกฤษและเยอรมันที่เห็นว่าเนื้อหาของข้อตกลงฯ ไม่เป็นที่พอใจเท่าไหร่นัก และจำเป็นที่จะต้องได้รับการขยายความเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมการปฏิบัติภายหลังจากปี 2568 (post-2025) ในขณะที่ ปธน. รัสเซียกลับเห็นเช่นเดียวกับอิหร่านว่า ข้อตกลงปัจจุบันนั้นครอบคลุมแล้วและไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง

          - ผู้นำทั้งสองประเทศเห็นถึงความจำเป็นของการสร้างกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต

          (2) ซีเรีย

          - ปธน. ฝรั่งเศสเห็นว่า มหาอำนาจที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในซีเรียจำเป็นต้องหันหน้ามาเจรจากัน เพื่อหาข้อสรุปทางการเมืองต่อความขัดแย้งในซีเรีย ทั้งนี้ ฝรั่งเศสให้ความสำคัญอันดับต้นกับการจัดการกับขบวนการก่อการร้าย และต่อสู้กับขบวนการมุสลิมหัวรุนแรง รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการเมืองแบบมีส่วนร่วมในซีเรีย ผ่านการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้โอกาสแก่ชาวซีเรียทุกคนทั้งในและนอกประเทศได้มีส่วนในการเลือกรัฐบาลชุดใหม่

          - ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันที่จะจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือและการประสานงานร่วมกันในกรณีซีเรีย (ปัจจุบันฝรั่งเศสได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ NGOs ในซีเรียเป็นมูลค่า 50 ล้านยูโร)

          - อย่างไรก็ดี ผู้นำฝรั่งเศสและรัสเซียมีความเห็นที่ต่างกันในประเด็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย แต่ก็เห็นด้วยที่จะให้มีกลไกระหว่างประเทศที่มีอิสระและเป็นกลางในการเข้ามาพิสูจน์ทราบและแก้ไขความสงสัยในประเด็นนี้  

          (3) ยูเครน

          - ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ข้อตกลงกรุงมินสก์ (Minsk Agreement) เป็นกลไกเดียวที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในยูเครนได้ ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สามารถปฏิบัติได้ และเกิดผลเป็นรูปธรรม

         

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ