ร่วมผนึกกำลังสร้างสะพานเชื่อมสตาร์ทอัพไทย-เยอรมนี

ร่วมผนึกกำลังสร้างสะพานเชื่อมสตาร์ทอัพไทย-เยอรมนี

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 2,183 view

 

            ไทยและเยอรมนีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เรื่องการส่งเสริม start-up และการพัฒนา start-up eco-system ฉบับแรกเพื่อกระตุ้นความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การจัดทำกิจกรรม การเรียนรู้จากแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศ ตลอดจนการส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมในด้านดังกล่าว ระหว่างไทยและเยอรมนี โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างกรุงเทพมหานครและกรุงเบอร์ลิน MoU ฉบับดังกล่าว เป็นข้อริเริ่มและการดำเนินการร่วมกันของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

             เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2561 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เรื่องการส่งเสริม start-up และการพัฒนา start-up eco-system กับ Germany Accelerator South East Asia (GASEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเร่งสร้างและผลักดัน start-up ให้เติบโตออกสู่ตลาด กระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานสหพันธ์ฯ และ enpact ภายใต้ Startup Asia Berlin (SUAB) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางเชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศ start-up กรุงเบอร์ลินกับเมืองอื่น ๆ ในเอเชีย โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นาย Oliver Wittke รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานเยอรมนี และ ดร. ธีรวัฒน์ ภูมิจิตร เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เป็นสักขีพยานในการลงนามดังกล่าวด้วย

             ในการนี้ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ ถือเป็นสิ่งพิสูจน์ในการพัฒนาประเทศตามแนวทาง Thailand 4.0 และการก้าวไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Economy) ของประเทศไทย ซึ่งการได้รับความร่วมมือจากเยอรมนีนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา start-up ไทยสู่สากล

          ล่าสุดหน่วยงานที่ลงนาม MoU ทั้งสามหน่วยงานได้ประชุมวางแผนโครงการที่จะดำเนินการตาม MoU แล้ว เช่น (1) การพัฒนาแพลตฟอร์ม Accelerator ร่วมกันเพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้สตาร์ทอัพในเมืองหลวงของทั้งสองประเทศเข้าถึงข้อมูลการขยายตลาดยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2) การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและการลงทุนของทั้งสองมหานคร กรุงเทพ - กรุงเบอร์ลิน โดยเน้นเข้าถึงแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ทางด้านเทคนิค และระบบเมนเทอร์ (International Mentoring Program) เป็นต้น (3) การประเมินและการวิเคราะห์พัฒนาการของ start-up eco-system ผ่านการร่วมกันพัฒนาเครื่องมืองการวิเคราะห์พัฒนาการของระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพในระดับเมือง (4) การสร้างเครือข่ายผู้พัฒนา start-up eco-system ในเมืองต่าง ๆ (eco-system builder network) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นักลงทุน หน่วยงานส่งเสริม และสมาคมที่เกี่ยวข้อง (5) การอำนวยความสะดวกด้านการจัดตั้งบริษัทและพื้นที่การดำเนินธุรกิจ (landing pad) ทั้ง 2 ฝ่าย เช่น การได้รับสิทธิประโยชน์ในการทำงานของสตาร์ทอัพต่างชาติในไทย (Smart Visa) ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งความร่วมมือที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วระหว่างทั้งสองประเทศ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ