ชาวประมงพื้นบ้านศึกษาดูงานด้านการปฏิรูปการทำประมงและการสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวประมงที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ชาวประมงพื้นบ้านศึกษาดูงานด้านการปฏิรูปการทำประมงและการสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวประมงที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,363 view

 

        เมื่อวันที่ 26-30 มีนาคม 2560 นางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ รองอธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะชาวประมงพื้นบ้าน 10 คน และคณะเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมยุโรปเดินทางไปเยี่ยมชมสหกรณ์ชาวประมงและโรงเรียนชาวประมงซึ่งตั้งอยู่ในรัฐทางภาคเหนือของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่ติดกับทะเลเหนือและทะเลบอลติก เพื่อศึกษาแนวทางการปฏิรูปการทำประมงและการสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวประมง  ซึ่งการเดินทางไปศึกษาดูงานครั้งนี้มีนางอุลริเค่อ โรดุสท์ สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านการประมงแห่งสภายุโรป ได้ช่วยประสานการจัดการดูงานให้แก่คณะฯ

        ชาวประมงที่เดินทางเข้าร่วมมาจากจังหวัดชายฝั่ง 6 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และปัตตานี อาทิ นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และนางบุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์พิทักษ์ดอนหอยหลอด เป็นต้น ชาวประมงได้ศึกษาดูงานที่สหกรณ์ชาวประมง 2 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ภูมิภาค Kutterfisch-Zentrale GmbH ที่เมือง Cuxhaven ติดกับทะเลเหนือ และสหกรณ์ Küstenfischer-Nord eG ที่เมือง Heiligenhafen ติดกับทะเลบอลติก อีกทั้งได้เยี่ยมชมโรงเรียนชาวประมง (Fischereischule) ที่เมือง Rendsburg

        จากการศึกษาดูงาน ชาวประมงได้รับทราบว่า การประมงของเยอรมนีเน้นไปที่การจำกัดจำนวนเรือประมง การจับปลาตามโควตาและมาตรฐานที่กำหนดโดยสหภาพยุโรป (European Union : EU) อย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน

        แม้ผู้แทนของฝ่ายเยอรมันจะยอมรับว่า มาตรการต่อต้านการทำการประมง IUU ของ EU ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านบางส่วนต้องสูญเสียอาชีพ แต่การรวมตัวของชาวประมงในการจัดตั้งสหกรณ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มชาวประมงมีความเข้มแข็งและอยู่รอดได้

สหกรณ์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาปลาและต่อรองกับภาครัฐ สหกรณ์เป็นผู้ซื้อโควต้าการจับปลามาจากรัฐบาลเยอรมัน ตามที่ได้รับแจกจ่ายจาก EU และนำไปแจกจ่ายต่อให้กับชาวประมงที่เป็นสมาชิก จากนั้น สหกรณ์จะซื้อปลากลับจากชาวประมงในราคาตายตัวและนำไปขายต่อในราคาตลาด โดยสหกรณ์เป็นผู้รับความเสี่ยงด้านราคารับซื้อ ซึ่งอาจต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อเป็นหลักประกันด้านรายได้สำหรับชาวประมง การที่สหกรณ์เป็นจุดแจกจ่ายโควตาการทำการประมงและการรับซื้อผลิตภัณฑ์เพียงจุดเดียวเป็น  จุดแข็งทำให้สหกรณ์ประสบความสำเร็จและส่งเสริมการอยู่รอดของชาวประมง

        นอกจากนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีการลดโควตาการทำประมง และทำให้ต้องลดจำนวนเรือประมง สหกรณ์ยังมีบทบาทในการประเมินศักยภาพของเรือแต่ละลำ และยื่นข้อเสนอซื้อเรือและโควตาการจับปลาจากชาวประมงที่ไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ และนำโควตาไปขายต่อกับชาวประมงรายอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า รวมทั้งหาอาชีพอื่นทดแทนให้กับชาวประมงที่สูญเสียอาชีพ เช่น การขับเรือท่องเที่ยว และเรือลาดตระเวนกู้ภัยชายฝั่ง ซึ่งมีรายได้สูงกว่าการทำประมง

        สหกรณ์ยังมีหน้าที่ควบคุมการทำการประมงให้เป็นไปตามมาตรฐาน EU เนื่องจากสหกรณ์จะเป็นผู้ถูกลงโทษ หากเกิดการกระทำความผิด อีกทั้งยังดูแลสินค้าให้ได้มาตรฐาน และให้บริการอื่นๆ ที่ส่งเสริมธุรกิจการทำการประมง เช่น การจัดหาแหล่งให้ชาวประมงสามารถเครื่องมือทำการประมง ซื้อบรรจุภัณฑ์และน้ำมันในราคาถูก การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์เพื่อขนส่งผลิตภัณฑ์ประมงไปยังเมืองอื่น นอกจากนี้ สหกรณ์ยังสามารถสร้างธุรกิจอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมแก่ชาวประมง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยวจากการทำการประมง เช่น เรือจับปลาสำหรับนักท่องเที่ยว

        ชาวประมงเยอรมันทุกคนต้องจบการศึกษาจากโรงเรียนชาวประมง ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชาวประมงเยอรมัน โรงเรียนชาวประมงมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติอย่างมีแบบแผนแก่ชาวประมง กฎระเบียบเกี่ยวกับเครื่องมือจับปลาและแนวทางการจับปลาที่ถูกกฎหมายตามระเบียบของ EU และการปฏิบัติตนในทะเล เป็นต้น ซึ่งใช้เวลาเรียนประมาณ 10-12 สัปดาห์ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี นอกจากนี้ โรงเรียนยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการปลูกฝังจิตสำนึกในการทำประมงอย่างยั่งยืน ทำให้ชาวประมงในเยอรมันมีความพร้อมในการทำประมงอย่างถูกต้องเมื่อจบการศึกษา

        การเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านของไทยเห็นถึงประสบการณ์ของเยอรมนีในการปรับตัวเพื่อรับมือกับนโยบายการทำการประมงจาก EU ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาสหกรณ์ประมงให้มีการดำเนินการอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมงในท้องถิ่น และการจัดตั้งโรงเรียนชาวประมงเพื่อให้การทำการประมงของไทยมีมาตรฐาน โดยสามารถพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในปัจจุบันให้เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ชาวประมงมีความรู้และความมั่นใจในการออกเรือไปทำประมงอย่างปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ชาวประมงยังได้แสดงความประสงค์ที่จะขอให้โรงเรียนชาวประมงของเยอรมนีให้คำแนะนำในการพัฒนาโรงเรียนและสร้างหลักสูตรในประเทศไทยด้วย ซึ่งกรมยุโรปพร้อมที่จะเป็นตัวกลางระหว่างชาวประมงของไทยและเยอรมนีเพื่อผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาสหกรณ์และก่อตั้งโรงเรียนชาวประมงต่อไปในอนาคต

        การเดินทางครั้งนี้เป็นโครงการทีดำเนินการร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงานของไทยภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพื่อให้เกิดการประมงอย่างยั่งยืน  โดยพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการประมงอย่างยั่งยืนเป็นอย่างมากรวมถึงมอบหมายให้ใช้สหกรณ์เป็นกลไกการขับเคลื่อน ทั้งการสร้างความเข้าใจ รับรู้ เรียนรู้ รวมถึ งการฟื้นฟูอาชีพอย่างยั่งยืน ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนด้านงบประมาณ  และกระทรวงการต่างประเทศ  ที่ทำหน้าที่มุ่งแสวงหาแนวปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวประมงพื้นบ้านเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ