การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของเช็กในปี 2563 และทิศทางในอนาคต

การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของเช็กในปี 2563 และทิศทางในอนาคต

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,502 view

การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของเช็กในปี 2563 และทิศทางในอนาคต

                 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 นาย Vaclav Nesladek ผู้เชี่ยวชาญประจำ Department of Space Technologies and Applications กระทรวงคมนาคมเช็กเปิดเผยข้อมูลว่า ภายใต้ภารกิจการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของเช็กในปี 2563                รัฐบาลเช็กมีแผนที่จะดำเนินโครงการ Planetary Transits and Oscillations of stars (The PLATO - exoplanet hunter) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนากล้องโทรทรรศน์ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Jupiter Moon’s Exploration and the Athena X-ray telescope ภายใต้องค์กรอวกาศยุโรป (European Space Agency : ESA)

                 ข้อเสนอโครงการ PLATO จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2550 โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ด้านอวกาศของ ESA’s Cosmic vision 2015 – 2025 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการศึกษาและแสวงหาดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะจักวาลและศึกษาคุณสมบัติของดวงดาวและดาวเคราะห์ที่มีสีเหลืองและสีแดงที่มีลักษณะและคุณสมบัติใกล้เคียงกับโลกและดวงอาทิตย์      ตลอดจนการศึกษาถึงสภาพพื้นที่ที่น้ำสามารถคงอยู่ได้ในสถานะของเหลวและคุณสมบัติของเหลวประเภทอื่นในดาวเคราะห์    ดังกล่าว

                 ทั้งนี้ ปี 2563 นับเป็นปีที่มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของเช็ก โดยมีตัวอย่างของภารกิจที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่  1) การผลิตเครื่องปล่อยดาวเทียมเพื่อใช้กับจรวด Vega และ Vega-C ซึ่งเป็นโครงการเทคโนโลยีอวกาศของเช็กที่มีมูลค่าสูงสุด (ประมาณ 8 ล้านยูโร) ตั้งแต่เช็กเข้าเป็นสมาชิกของ ESA เมื่อปี 2551  และ 2) การที่นักวิทยาศาสตร์ชาวเช็กมีส่วนช่วยในการพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์จำนวน 4 ใน 10 ชิ้นหลักของยานโซลาร์ ออร์บิเทอร์ (Solar Orbiter Space Probe) ซึ่งเป็นยานสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ด้วยวิธีโคจรวนรอบ และได้ปล่อยขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา โดยภารกิจดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การ NASA ของสหรัฐอเมริกา และ SEA เพื่อศึกษาโครงสร้างและพลวัตทางพลังงานของดวงอาทิตย์ในรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น

       นอกจากนี้ เช็กยังมีโครงการเทคโนโลยีอวกาศที่สำคัญในอนาคต ได้แก่ 1) การเข้าร่วมติดตั้ง spectrographs ของกล้องโทรทรรศน์ที่หอดูดาว La Silla ในชิลี ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีอวกาศและนักวิจัยจาก Astronomical Institute of the Czech Academy of Science (AV) อยู่ระหว่างเตรียมการและภายหลังเข้าร่วมการติดตั้งแล้ว    ก็จะให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวต่อไป 2) การเข้าร่วมพัฒนาโครงการและผลิตส่วนประกอบฐานปล่อยจรวด Ariane 6 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเริ่มใช้งานในปี 2564 3) การเข้าร่วมผลิตเครื่องควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าของ spectrometer ของ Athena (Advanced Telescope for High-Energy Astrophysics) ซึ่งเป็นระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและสร้างแผนภาพการก่อตัวของ galaxy และการเพิ่มจำนวนของหลุดดำขนาดใหญ่และคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มใช้งานในปี 2571 และ 4) การพัฒนา Apex Nano satellites ภายใต้ Hera Mission เพื่อศึกษาดาวเคราะห์ขนาดเล็ก (asteroids) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้งานในปี 2565

 

                              * * * * * * * * * * * * * * * * * * 

 

เรียบเรียงโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก

สิงหาคม ๒๕๖๓

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ