การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของสหภาพยุโรปประจำปี 2563

การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของสหภาพยุโรปประจำปี 2563

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 1,438 view

การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของสหภาพยุโรปประจำปี 2563

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่รายงาน European Innovation Scoreboard 2020 ซึ่งเป็นรายงานวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของ 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปโดยเปรียบเทียบกับทั้งประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปด้วยกันและประเทศอื่น ๆ ในโลกอีกด้วย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของ 27 ประเทศสมาชิก

รายงานดังกล่าวแบ่งระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของ 27 ประเทศสมาชิกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ Innovative Leaders, Strong Innovators, Moderate Innovators และ Modest Innovators โดยกลุ่มแรก มีสวีเดนได้รับคะแนนสูงสุด ตามด้วยฟินแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก (ซึ่งสามารถขยับขึ้นมาจากกลุ่มที่ 2 หลังจากตกลงไปอยู่ในกลุ่มนี้เมื่อปีที่แล้ว) ส่วนกลุ่มที่ 2 ได้แก่ เบลเยียม ออสเตรีย เอสโตเนีย ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส (ซึ่งสามารถขยับขึ้นมาจากกลุ่มที่ 3 ในปีนี้) รายงานยังชี้ให้เห็นว่าการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 ไม่ได้ส่ง
ผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของสหภาพยุโรปเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก

ในภาพรวมนั้น ความสามารถเฉลี่ยด้านนวัตกรรมของทั้งสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 8.9 % ในรอบ 8 ปี (2555-2562) โดยเพิ่มขึ้นใน 24 ประเทศ และลดลงใน 3 ประเทศ ทั้งนี้ ประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ได้แก่ ลิธัวเนีย มอลตา ลัตเวีย โปรตุเกส และกรีซ ในขณะที่โรมาเนีย และสโลวาเนีย มีความสามารถลดลงมากที่สุด

รายงานพบว่าขีดความสามารถของสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นในหลายด้าน อาทิ บรรยากาศการลงทุน โดยเฉพาะในด้านเครือข่ายสื่อสารไร้สาย (Broadband penetration) ตลอดจนเงินร่วมลงทุน (venture capital) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา

สหภาพยุโรปยังนำหน้าจีนและสหรัฐในเรื่องนวัตกรรม แม้ว่าความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมระหว่างสหภาพยุโรปกับจีนในวันนี้จะไม่ห่างไกลกันนัก

เมื่อเทียบเคียงกับประเทศอื่น ๆ ในระดับโลก สหภาพยุโรปมีความสามารถด้านนวัตกรรมเป็นอันดับ 5 รองจากเกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยยังนำหน้าทั้งสหรัฐฯ (อันดับ 6) และจีน (อันดับ 7) ตลอดจนประเทศอื่น ๆ ใน 10 อันดับแรกของโลก เช่น รัสเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ และอินเดีย ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมระหว่างสหภาพยุโรปกับจีนในวันนี้จะไม่ห่างไกลกัน แต่จีนอาจตีเสมอสหภาพยุโรปได้ในอนาคตอันใกล้เนื่องจากในปัจจุบันจีนมีอัตราขยายตัวสูงถึง 5 เท่าของสหภาพยุโรป

นอกจากการวัดระดับความสามารถโดยรวม รายงานยังจัดอันดับโดยแบ่งตามสาขา โดยมีผู้นำแต่ละสาขา ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก (Attractive research systems and intellectual assets) โปรตุเกส (Innovation in small and medium-sized enterprises (SMEs) ออสเตรีย (Innovation linkages and collaboration) สวีเดน (Human resources) เดนมาร์ก (finance and innovation-friendly environment) เยอรมนี (firm investment)

นาง Mariya Gabriel คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการวิจัยและนวัตกรรม และ นาย Thierry Breton คณะกรรมาธิการยุโรปด้านตลาดภายในกล่าวว่า การวิจัยและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการช่วยสหภาพยุโรปรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของภูมิภาคยุโรป รวมถึงการปรับตัวของสหภาพยุโรปเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
สีเขียวและดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม

รายงานสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของภาครัฐในการกำหนดนโยบายและสนับสนุนการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อให้เกิดการร่วมมือด้าน R&D ระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่เอื้อประโยชน์ให้มีการลงทุนทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้น อันจะส่งผลต่อการเสริมสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

****************************

 

 

ที่มา: https://thaieurope.net/2020/06/29/