ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของสหภาพยุโรป: สู่อาหาร “คลีน” และ “กรีน”

ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของสหภาพยุโรป: สู่อาหาร “คลีน” และ “กรีน”

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 มิ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,904 view

ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของสหภาพยุโรป: สู่อาหาร “คลีน” และ “กรีน”

สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมและเศรษฐกิจสีเขียว เห็นได้จากนโยบาย “กรีนดีล” (European Green Deal) ที่มุ่งจัดการสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งขับเคลื่อนภูมิภาคยุโรปสู่สังคมไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี ค.ศ. 2050 และเสริมสร้างบทบาทนำของสหภาพยุโรปในการกำหนดมาตรฐานสากลด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกยุทธศาสตร์ “Farm to Fork Strategy” ฉบับใหม่ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของนโยบาย European Green Deal โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบการผลิตอาหารที่ “เป็นธรรม ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” ตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป การบริโภคจนถึงการกำจัดขยะอาหาร อันเป็นที่มาของชื่อยุทธศาสตร์ “Farm to Fork Strategy”

ลดการใช้สารเคมี และส่งเสริมฟาร์มออร์แกนิก

Farm to Fork Strategy ตั้งเป้าหมายลดการใช้ยาฆ่าแมลงและวัชพืช รวมทั้งยาต้านจุลชีพในสัตว์ลง ร้อยละ 50 ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงร้อยละ 20 และเพิ่มฟาร์มออร์แกนิกให้มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในยุโรป ภายในปี ค.ศ. 2030 (จากปัจจุบันที่มีฟาร์มออร์แกนิกคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด) ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2560 สหภาพยุโรปได้มีมติเห็นชอบให้ใช้สารกำจัดวัชพืชไกลโซเฟต (Glysophate) ต่อไปได้อีก 5 ปี ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากจนผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศสต้องออกมาสัญญาว่าจะลด (phase out) การใช้สารไกลโซเฟตในอนาคตอันใกล้ ในส่วนของไทยสารกำจัดวัชพืชก็เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ โดยไทยได้ห้ามการใช้สารวัชพืชพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 และสำหรับสารไกลโซเฟตให้จำกัดการใช้ตามที่กฎหมายกำหนด

มาตรฐานยุโรปสำหรับอาหารนำเข้า

ยุทธศาสตร์ Farm to Fork Strategy ระบุว่า อาหารนำเข้าจะต้องได้มาตรฐานตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป
โดยสหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับสวัสดิการสัตว์ การลดการใช้ยาฆ่าแมลงและยาต้านจุลชีพในสัตว์เพื่อป้องกันปัญหาการดื้อยา โดยผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดใน EU Veterinary Medicinal Products Regulation ปี ค.ศ. 2019 อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ สหภาพยุโรปมีแผนจะทบทวนระดับการตกค้างของสารเคมีในสินค้านำเข้าเพื่อส่งเสริมให้ประเทศคู่ค้าเปลี่ยนมาใช้สารกำจัดวัชพืชและแมลงที่ปลอดภัยขึ้น

สหภาพยุโรปจะสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหาร โดยเฉพาะงานวิจัยที่ส่งเสริมการปรับตัวและลดผลกระทบของ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการพื้นที่เพาะปลูกอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคระบาดในอนาคต นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2021 สหภาพยุโรปมีแผนจะออกกฎหมายเพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า และให้ความสำคัญกับการประมงอย่างยั่งยืน การต่อสู้กับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (illegal, unreported and unregulated fishing – IUU fishing)

ลดการบริโภคเนื้อแดง (red meat) และส่งเสริมอาหารที่ทำจากพืช (plant-based)

ในปัจจุบันชาวยุโรปยังคงบริโภคเนื้อแดง น้ำตาล เกลือและไขมันในระดับที่สูงเกินค่าแนะนำ ในขณะที่การบริโภคธัญพืชโฮลเกรน (whole-grain cereals) ผลไม้ ผัก และถั่วยังน้อยเกินไป นำมาซึ่งปัญหาโรคอ้วนและเบาหวาน ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยให้ลดเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป และหันมารับประทานอาหารที่ผลิตจากพืชเพิ่มขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาอาหารจากแมลงเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนใหม่แทนเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ผู้บริโภค
อาจหันมากินเนื้อไก่และอาหารทะเลมากขึ้น เพื่อทดแทนเนื้อแดง ซึ่งก็น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับไทยในฐานะผู้ส่งออกไก่และอาหารทะเลอันดับต้น ๆ ของโลก รวมทั้งอุตสาหกรรมการเลี้ยงแมลงเพื่อผลิตเป็นอาหารในไทยก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต โดยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรักษาและพัฒนามาตรฐานให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป

บังคับการติดฉลากแสดงข้อมูลโภชนาการบนหน้าผลิตภัณฑ์ (front-of-pack nutrition labelling)

คณะกรรมาธิการยุโรปจะจัดทำข้อเสนอกฎหมายเพื่อบังคับให้ผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมดต้องติดฉลากแสดงข้อมูลโภชนาการ
บนหน้าผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การติดฉลากให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วยุโรปด้วย ฝรั่งเศสได้สร้างระบบฉลาก Nutri-Score ขึ้นมาเมื่อปี 2560 ซึ่งประเทศใกล้เคียง เช่น เบลเยียมและสเปนได้นำระบบฉลาก Nutri-Score ไปใช้ด้วยแล้ว และรัฐบาลเยอรมนีก็ประกาศเมื่อปลายปีที่แล้วว่าจะนำระบบ Nutri-Score มาใช้ในเยอรมนีเช่นกัน จึงเป็นไปได้ว่า ตามแผนของสหภาพยุโรปที่จะพัฒนาระบบฉลากให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วยุโรปนั้น จะใช้ฉลาก Nutri-Score ของฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ยังวางแผนจัดทำมาตรฐานสำหรับการติดฉลากแสดงความยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งฉลากสวัสดิภาพสัตว์

อาหารสุขภาพในราคาย่อมเยา

คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอให้ประเทศสมาชิกลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าออร์แกนิค นอกจากนี้ จะมีการจัดซื้อสินค้าออร์แกนิคสำหรับโรงเรียนและหน่วยงานภาครัฐเพื่อเพิ่มปริมาณความต้องการสินค้าออร์แกนิค

ความมั่นคงด้านอาหาร

สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่นำเข้าสินค้าอาหารเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี วิกฤตโควิด-19 ทำให้สหภาพยุโรปตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และป้องกันการขาดแคลนอาหาร/สินค้าจำเป็นจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในประเทศที่สาม สหภาพยุโรปจึงจะพยายามผลิตอาหารเองมากขึ้น และทำให้ห่วงโซ่การผลิตสั้นลง ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสหภาพยุโรปจะหันมาผลิตสินค้าเองทั้งหมด แต่การปรับเปลี่ยนของห่วงโซ่การผลิตโลกภายหลังวิกฤตโควิด-19
ก็อาจเป็นประเด็นท้าทายสำหรับผู้ผลิตไทยที่จะต้องเร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในการผลิตอาหารและอาหารสำเร็จรูปชั้นนำของโลก

ยุทธศาสตร์ Farm to Fork Strategy ได้กำหนดทิศทางนโยบายด้านอาหารของสหภาพยุโรปซึ่งในลำดับต่อไปก็จะต้องมี
การจัดทำกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว นักวิเคราะห์มองว่า เป้าหมายที่สหภาพยุโรปกำหนดขึ้น เช่น การลดการใช้สารเคมีลงครึ่งหนึ่งภายใน 10 ปีข้างหน้าอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ Farm to Fork Strategy ได้สะท้อนความคาดหวังของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันซึ่งให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาตลาดและขยายโอกาสทางการค้าใหม่ในตลาดยุโรปซึ่งมีประชากรที่มีกำลังซื้อสูงกว่า 450 ล้านคน

***********************************

 

 

ที่มา: https://thaieurope.net/2020/06/08