แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของสหภาพยุโรป

แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของสหภาพยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 เม.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,673 view

แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของสหภาพยุโรป

          เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 คณะกรรมาธิการยุโรปได้รับรองแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยปี ค.ศ. 2020-2024 (EU Action Plan for Human Rights and Democracy 2020-2024) โดยแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฯ ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 3 (ฉบับแรก ปี ค.ศ. 2012-2014 และฉบับที่ 2 ปี ค.ศ. 2015-2019) โดยแผนฯ ฉบับนี้ได้พัฒนามาจากแผนฉบับที่ผ่านมา ซึ่งสหภาพยุโรปมองว่า ค่อนข้างบรรลุผลที่น่าพึงพอใจ ผนวกกับการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม (climate change) และการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของเทคโนโลยี รวมทั้งเพื่อเผชิญกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ด้านสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏในปัจจุบัน เช่น การมีพื้นที่ลดลงของภาคประชาสังคม การอ่อนแอลงของหลักนิติธรรม ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นต่อกระบวนการเลือกตั้งและประชาธิปไตย การคุกคามสื่อมวลชนที่มีมากขึ้น ความรุนแรงต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้น การได้รับยกเว้นการลงโทษกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เช่น ซีเรียและเยเมน การต่อต้านสิทธิสตรีและความเสมอภาคทางเพศ และการละเมิดสิทธิแรงงาน รวมทั้งการใช้แรงงานเด็ก

          นอกจากนี้ แผนดังกล่าวได้มีการปรับเนื้อหาให้เข้ากับประเด็นที่สหภาพยุโรปจะให้ความสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี (ดิจิทัล) รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทนําของสหภาพยุโรปในโลก ซึ่งสอดคล้องกับแนวโนบายของนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปที่ได้วางไว้สําหรับการทํางานของคณะกรรมาธิการยุโรป โดยเฉพาะด้านดิจิทัล การส่งเสริมประชาธิปไตยในสหภาพยุโรป และการส่งเสริมบทบาทของสหภาพยุโรปในระดับโลก

แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฯ ฉบับนี้ เน้นการดําเนินการใน 5 ด้าน ได้แก่

(1) การปกป้องและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในทุก ๆ ด้าน เช่น การขจัดความไม่เท่าเทียมและการเลือกประติบัติ การส่งเสริมเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสร้างพื้นที่ทางการเมืองแก่ประชาชน การสนับสนุนหลักนิติธรรมและการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม และการส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และแรงงาน

(2) การสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ครอบคลุม และเป็นประชาธิปไตย โดยการส่งเสริมให้สถาบันต่าง ๆ มีความเป็นประชาธิปไตย รับผิดชอบ และโปร่งใส การส่งเสริมกระบวนการตัดสินใจที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมการสนับสนุนสื่อมวลชนให้มีความเป็นอิสระ การต่อสู้กับการนําเสนอข้อมูลที่บิดเบือน และการใช้แนวทางที่ยึดสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสําคัญในการป้องกันความขัดแย้งและแก้ไขปัญหาวิกฤตต่าง ๆ

(3) การส่งเสริมระบบสากลสําหรับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย โดยการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคีในระดับภูมิภาค (อาทิ OSCE, AU, ASEAN, ASEM, OAS, OIC) และระดับทวิภาคีผ่านกรอบการหารือต่าง ๆ การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการให้สิทธิพิเศษทางการค้า เช่น Generalized System Preference (GSP) และ Everything But Arms (EBA) ความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งภาคเอกเชน และการส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

(4) การสร้างโอกาสและจัดการความท้าทายที่มาจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยการส่งเสริมการตระหนักถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านดิจิทัล รวมทั้งการสร้างศักยภาพในการเรียนรู้และติดตามผลกระทบที่เทคโนโลยีมีต่อสิทธิมนุษยชน

(5) การบรรลุเป้าหมายโดยการทํางานร่วมกันของกลไกต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป ทั้งใน 3 สถาบันหลัก ได้แก่ คณะมนตรียุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป และสภายุโรป คณะผู้แทนสหภาพยุโรป และสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกในประเทศต่าง ๆ และผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป (ที่เริ่มแต่งตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2555) โดยแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็นระหว่างกัน การประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามแผนฯ และการร่วมกันดําเนินนโยบายการทูตสาธารณะ

          ทั้งนี้ ในการบรรลุเป้าหมายสหภาพยุโรปมีเครื่องมือต่าง ๆ ได้แก่ กรอบการหารือด้านการเมือง สิทธิมนุษยชน และด้านนโยบายในสาขาต่าง ๆ กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สิทธิพิเศษทางการค้า เช่น GSP และ EBA การมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น การออกข้อมติ การสนับสนุนข้อมติ การออกแถลงการณ์ เพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง การหารือกับภาคประชาสังคม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและภาคเอกชน ตลอดจนความร่วมมือในกรอบพหุภาคีและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของ UN

          อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปให้ความสําคัญกับการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมทั้งภายในสภาพยุโรปและกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประกอบกับการมี Strategic Agenda ค.ศ. 2019-2024 ซึ่งรับรองโดยคณะมนตรียุโรป และ Political Guidelines ค.ศ. 2019-2020 ของคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ระบุให้สหภาพยุโรปเป็นผู้นําของโลกในด้านการส่งเสริมประเด็นเหล่านี้ ทําให้สหภาพยุโรปมุ่งหวังที่จะสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในด้านเหล่านี้ให้แก่ประชาชนทั่วโลก

*************************************